หน้าเว็บ

8/31/2558

นักบวชสตรี ๓๑. บ้านท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี และบ้านพ่อของท่านองคุลีมาล


          กองทัพธรรมเดินทางจาริกไปถึงบ้านท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีในเวลาประมาณห้าโมงเย็น  บ้านท่านเศรษฐีนี้ เป็นอิฐแดงก่อขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับบ้านพ่อท่านองคุลีมาล กองทัพธรรมได้เดินชมบ้านท่าน พร้อมทั้งระลึกถึงพระคุณของท่าน ผู้เขียนและเพื่อนแม่ใหม่พากันถอดรองเท้าค่อยๆเดินขึ้นไปชมบ้านของท่าน บ้านนี้เป็นบ้านอุบาสกที่มีอุปการะคุณอย่างสูงต่อพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสกทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้เป็นทายกดังนั้นการมาเยี่ยมบ้านของท่านจึงต้องมีความสำรวมระวังและแสดงความเคารพต่อสถานที่
          ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีมีชื่อเดิมว่า "สุทัตตะ" เป็นชาวเมืองสาวัตถี แต่ความที่เป็นผู้ใจบุญ ชอบตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารคนยากคนจน อนาถาไร้ญาติขาดที่พึ่ง ชาวบ้านทั่วไปจึงขนานนามท่านว่า "อนาถปิณฑิกเศรษฐี"แปลว่า "เศรษฐีผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนไม่มีที่พึ่งพิง"
          คราวหนึ่งท่านสุทัตตะได้เดินทางไปธุรกิจที่เมืองราชคฤห์ พักอยู่ที่บ้านของท่านราชคหกะเศรษฐี ผู้เป็นพี่ภรรยาของตน แต่ท่านค่อนข้างประหลาดใจที่ท่านราชคหกะไม่ค่อยมีเวลาสนทนากับตนเลย มัวแต่สาระวนกับการจัดเตรียมเรื่องอาหารการขบฉันไว้ถวายพระพุทธเจ้าและหมู่พระภิกษุสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น จนเวลาเย็นค่ำแล้วจึงได้โอกาสสนทนาปราศรัยกัน ท่านสุทัตตะจึงได้ยินคำว่า"พุทโธ" ถึงกับทำให้เขาถามกลับไปถึงสามครั้ง แล้วก็ได้ยินคำยืนยันว่า"พุทโธ" ถึงสามครั้ง ตอนนั้นจิตของท่านอนาถปิณฑิกะ กระวนกระวายใคร่จะไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเสียแต่เย็นวันนั้นเลย แต่ก็ต้องรอให้ถึงเช้าก่อน จึงได้เข้าเฝ้าฟังธรรมกับพระพุทธองค์จนบรรลุโสดาปัตติผล หลังเสร็จ ภัตกิจเช้าวันนั้น
          จากนั้นท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีได้กราบทูลเชิญพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์เสด็จไปโปรดชาวเมืองสาวัตถี พระพุทธองค์ทรงรับนิมนต์
          ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี รู้สึกปลาบปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง รีบเดินทางกลับสู่กรุงสาวัตถีโดยด่วน ในระหว่างทางจากกรุงราชคฤห์ถึงกรุงสาวัตถี ระยะทาง ๕๔ โยชน์ ได้บริจาคทรัพย์จำนวนมากให้สร้างวิหารที่ประทับเป็นที่พักทุกๆ ระยะหนึ่งโยชน์ เมื่อถึงกรุงสาวัตถีแล้วได้ติดต่อขอซื้อที่ดินจากเจ้าชายเชตราชกุมาร โดยได้ตกลงราคาด้วยการนำเงินปูลาดให้เต็มพื้นที่  ตามที่ต้องการ ปรากฏว่าเศรษฐีใช้เงินถึง ๒๗ โกฏิ เป็นค่าที่ดิน และอีก ๒๗ โกฏิ เป็นค่าก่อสร้างพระคันธกุฏีที่ประทับของพระบรมศาสดาและเสนาสนะสงฆ์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๔ โกฏิ แต่ยังขาดพื้นที่สร้างซุ้มประตูพระอาราม ขณะนั้นเจ้าชายเชตราชกุมารได้แสดงความประสงค์ขอเป็นผู้จัดสร้างถวาย โดยขอให้จารึกพระนามของพระองค์ที่ซุ้มประตูพระอารามดังนั้นพระอารามนี้จึงได้ชื่อว่า เชตวนาราม
          เมื่อก่อสร้างพระอารามเสร็จแล้วได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าประทับจัดพิธีฉลองพระอารามอย่างมโหฬารนานถึง ๙ เดือน (บางแห่งว่า ๕ เดือน) ได้จัดถวายอาหารบิณฑบาตอันปราณีตแก่พระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์เมื่อพิธีฉลองพระอารามเสร็จสิ้นลงแล้วได้กราบอาราธนาพระภิกษุจำนวนประมาณ ๒๐๐ รูปไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตนทุกวันตลอดกาล
          ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี ทำบุญโดยทำนองนี้ ทั้งให้ทานแก่คนยากจน และการถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ จนกระทั่งทรัพย์สินเงินทองที่เก็บสะสมไว้ลดน้อยลงไปโดยลำดับทรัพย์ที่หาได้มาใหม่ก็ไม่เท่ากับจ่ายออกไป ภัตตาหารที่จัดถวายพระภิกษุสงฆ์ก็ลดลงทั้งคุณภาพและปริมาณ จนที่สุดข้าวที่หุงถวายพระก็จำเป็นต้องใช้ข้าวปลายเกวียน กับข้าวก็เหลือเพียงน้ำผักเสี้ยนดอง ตนเองก็พลอยอดอยากลำบากไปด้วย ถึงกระนั้นเศรษฐีก็ยังไม่ลดละการทำบุญถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ได้แต่กราบเรียนให้พระภิกษุสงฆ์ทราบว่า ตนเองไม่สามารถจะจัดถวายอาหารอันประณีตมีรสเลิศเหมือนเมื่อก่อนได้ เพราะขาดปัจจัยที่จะจัดหา พระภิกษุสงฆ์ที่เป็นปุถุชนก็พากันไปรับอาหารบิณฑบาตที่ตระกูลอื่นที่ถวายอาหารมีรสเลิศกว่า
          เทวดาตนหนึ่งผู้เป็นมิจฉาทิฎฐิ ซึ่งสิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี ไม่เลื่อมใสพุทธศาสนา   เบื่อระอาที่พระภิกษุสงฆ์เดินรอดซุ้มประตูเข้าออกทุกวัน  เพราะในขณะที่ภิกษุสงฆ์เดินรอดซุ้มประตูนั้น ตนไม่สามารถจะอยู่บนซุ้มประตูได้เมื่อเห็นเศรษฐีกลับกลายมีฐานะยากจนลงเพราะทำบุญแก่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จึงปรากฎกายต่อหน้าท่านเศรษฐีและบอกให้ท่านเศรษฐีเลิกทำบุญเพื่อที่จะมีทรัพย์สินเงินทองเพิ่มพูนขึ้นเหมือนเดิม ท่านเศรษฐีจึงไล่เทวดาให้ออกไปจากซุ้มประตูเรือน เทวดาจึงไม่สามารถจะอยู่ที่ซุ้มประตูเรือนของเศรษฐีได้อีกต่อไป กลายเป็นเทวดาไร้ที่สิงสถิตย์ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เข้าไปหาเทวดาผู้มีศักดิ์สูงกว่าตนให้ช่วยเหลือแต่ไม่มีเทวดาองค์ใดจะสามารถช่วยได้ เพียงแต่บอกอุบายให้ว่า
          ทรัพย์เก่าของเศรษฐีจำนวน ๘๐ โกฏิ ซึ่งใส่ภาชนะฝังไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำถูกน้ำเซาะตลิ่งพังจมหายไปในสายน้ำท่านจงไปนำทรัพย์เหล่านั้นกลับคืนมามอบให้ท่านเศรษฐี แล้วท่านเศรษฐีก็จะหายโกรธยกโทษให้และอนุญาตให้อยู่อาศัยที่ซุ้มประตูบ้านดังเดิมได้
          เทวดาทำตามนั้น ได้นำทรัพย์เหล่านั้นมามอบให้เศรษฐีด้วยอำนาจฤทธิ์เทวดา เมื่อเศรษฐียกโทษให้แล้วได้อยู่ ณ สถานที่เดิมของตนสืบไป
          เรื่องราวของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี ยังมีอีกมาก ท่านเป็นต้นแบบการทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย บุตรสาวคนโตของท่านที่ได้ช่วยงานในการดูแลถวายอาหารพระภิกษุสงฆ์ คือ มหาสุภัททา และ บุตรสาวคนรอง จุลสุภัททาได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน และบุตรสาวคนเล็ก สุมนาเทวี ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี โดยก่อนที่สุมนาเทวีจะตายได้เรียกบิดาเป็นน้องชาย ซึ่งเรื่องนี้พระพุทธองค์ตรัสว่า
          "ดูก่อนมหาเศรษฐี บุตรของท่านมิได้เพ้อหลงสติอย่างที่ท่านเข้าใจ แต่ที่นางเรียกท่านว่าน้องชายนั้น ก็เพราะท่านเป็นน้องของนางจริงๆ นางเป็นใหญ่กว่าท่านโดยมรรคและผล เพราะท่านเป็นเพียงพระโสดาบัน แต่ธิดาของท่านเป็นพระสกทาคามี เป็นอริยบุคคลสูงกว่าท่าน และบัดนี้ นางได้ไปเกิดเสวยสุขอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว นี่แหละคฤหบดีธรรมดาบุคคลไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม ถ้าอยู่ด้วยความไม่ประมาท ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ก็ย่อมเสวยสุขเพลินทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
          เมื่ออ่านเรื่องราวถึงตรงนี้ นับเป็นการยืนยันได้ว่า อาวุโสทางโลกกับทางธรรมต่างกัน ทางธรรมเรานับกันที่ภูมิจิตภูมิธรรม ไม่ได้นับกันที่ยศถาบรรดาศักดิ์ ข้าวของเงินทอง หรืออายุ ดังนั้นจึงสมควรที่เราจะมีความอ่อนน้อมถ่อมตนสำรวมระวังเป็นนิจ เพราะคนเราดูกันแต่ภายนอกไม่ได้ หากไปเผลอล่วงเกินผู้ที่มีศีลสูงกว่า ภูมิธรรมสูงกว่านับว่าอันตรายมากที่เดียว บ่อยครั้งที่ผู้ไม่มีศีลล่วงเกินผู้มีศีล นับว่าเป็นการสร้างวิบากกรรมให้กับตนเอง ตัวผู้เขียนเองจะระมัดระวังในการใช้ไหว้วานผู้อื่น ให้มีการใช้ตามหน้าที่ของเขา ไม่ใช้เกินกว่าหน้าที่ หรือใช้ด้วยกิเลสที่อยากสบายของตน ด้วยว่าทุกความคิดการกระทำและคำพูดล้วนก่อให้เกิดกรรมได้ทั้งสิ้น
          สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจในการจาริกยังบ้านท่านเศรษฐีนี้ ได้แก่ ท่านเป็นอุบาสกที่มีศรัทธาที่มีจิตเป็นกุศลท่านมีความตั้งใจทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง จะเห็นได้จากการที่ท่านถวายทานจนเกือบหมดเนื้อหมดตัว แบบอย่างของท่านคือ การเป็นผู้ไม่ตระหนี่ในการให้ทาน สำหรับผู้เขียนแล้ว การให้ทานแต่ละครั้งถ้าเราตระหนี่ในจิตในใจของเราจะมีเครื่องกั้น แต่ถ้าเราให้ด้วยความเต็มใจ เมตตาอยากสงเคราะห์เขา อยากทำบุญ ทำนุบำรุงพระศาสนา ใจของเราจะผ่องใส จิตที่เป็นกุศลมันจะนุ่มนวลละเอียดเบิกบานซึ่งเหมาะ  แก่การภาวนา  ดังหลวงพ่อสอนว่า
          "จิตที่เป็นกุศลนี้เป็นจิตที่ควรแก่การงาน โยมต้องใช้กุศลเป็นเครื่องมือในการภาวนาก่อน ถ้าจิตไม่เป็นกุศล เช่นยังโกรธ ยังพยาบาท ยังอาฆาต ไม่รู้จักให้อภัย ไม่รู้จักปล่อยวางการภาวนาก็จะเข้าสู่ใจผู้รู้ไม่ได้"
          ผู้เขียนสังเกตดูอาการของจิตของใจตัวเองก็เห็นตามนั้น ถ้าจิตเรา เป็นกุศลแล้ว มันจะนุ่มนวลละเอียด สบายใจ การภาวนาด้วยอานาปานสติ ลมจะละเอียดจนเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งอาการทางกายและจิตได้ แต่ถ้าวันไหน จิตเราไม่เป็นกุศล เช่น โกรธ พยาบาท อาการทางกายจะอึดอัด ลมหายใจ  จะหยาบไม่สม่ำเสมอ การภาวนาจะเข้าสู่ภายในไม่ได้ ดังนั้นคงจะจริงที่หลวงพ่อบอกว่า
          "บางคนนะโยม เขามาภาวนาได้แป๊บเดียวก็ก้าวหน้า เพราะจิตใจของเขาดีงามอยู่แล้ว ใจของเขาเป็นพรหม มีพรหมวิหาร ๔ มี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไม่คิดร้ายกับใคร"
          นอกจากนี้ การรักษาศีล ๕ ซึ่งเป็นศีลพื้นฐานของมนุษย์  สำหรับผู้เขียนศีลนี้เป็นปกติที่ใจของเรารักษาอยู่แต่เดิม ใจของเรามีศีลอยู่แล้ว ศีล ๕ นี้คือ การไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น การมีศีล ๕ จึงเป็นสิ่งกั้นความชั่วร้าย เสมือนมีเกราะพระรัตนตรัยคุ้มครองเรา การไปไหนมาไหนทำอะไรจึงมีแต่การคิดดี พูดดี ทำดี ไม่เบียดเบียนใคร รู้กาล รู้สิ่งใดควรไม่ควร
          การที่เราตั้งใจสมาทานรักษาศีล ๕ คือการตั้งใจรักษาจึงมีอานิสงส์มาก ตรงนี้ขออธิบายเพิ่มเติมถึงความลึกซึ้งของศีลว่า เมื่อเราจะตั้งใจไม่ผิดศีล นั่นเป็นการตั้งใจไม่ทำผิดศีลด้วยความคิดก่อน แล้วปฏิบัติตนด้วยความระมัดระวังไม่ให้ล่วงศีล นั่นคือ เราต้องมีสติคุมกายใจ ขอย้อนกับไปว่าถ้าเราจะรักษาศีล ๕ ได้ เราต้องเป็นคนมีเมตตา ไม่คิดร้ายไม่คิดเบียดเบียนใคร   เป็นจุดเริ่มต้นก่อน นั่นคือเรามีจิตใจเป็นกุศล มีการทำบุญทำทานมาแล้ว จึงมีจิตใจดีงามที่จะมารักษาศีล เมื่อมีศีลจึงมีสติคุมเพื่อไม่ให้ผิดศีล เมื่อมีสติจึงมีสมาธิ และเมื่อมีสมาธิจึงมีปัญญาเห็นโลกตามความเป็นจริงตามมานั่นเอง
           นอกจากนี้แล้ว ศีลที่ตั้งใจรักษาด้วยความคิด มันต่างจากศีลที่รักษาด้วยใจ ใจที่มีศีล คือ ใจที่มีเมตตา เมื่อมีเมตตาใจจะมีศีลโดยอัตโนมัติ เพราะมันมีแต่ปรารถนาดีกับผู้อื่นและตนเอง ไม่เบียดเบียนไม่คิดร้าย ไม่ทำร้าย ไม่พยาบาท มีแต่การให้ มีแต่การให้อภัย มันจึงวนกลับมาที่การภาวนาของเราที่จะละวางตัวตนได้ง่าย ดังคำครูบาอาจารย์ที่สอนว่า
           "เมตตาชนะทุกสิ่ง"
         สำหรับผู้เขียนแล้ว จะชนะอะไรไม่สำคัญเท่าชนะใจตัวเอง ชนะกิเลสด้วยการไม่ยอมตามกิเลส และการมีเมตตานี้ทำให้เรารู้จักการช่วยเหลือผู้อื่น รู้จักการเสียสละ และการให้อภัย อันเป็นทางนำไปสู่การละวางตัวตนนั่นเองการปฏิบัตินี้รู้เองเห็นเองด้วยตนเอง เพราะเป็นการเรียนรู้และเข้าใจในจิตในใจของเราจนค่อยๆเกิดสติปัญญาขึ้นมาที่ละเล็กละน้อย อริยทรัพย์นี้จึงเป็นทรัพย์ที่ต้องทำเอง ปฏิบัติเอง เห็นเอง ไม่สามารถโอนให้กันได้ เพราะเป็นการรู้ในระดับใจ หรือ ใจผู้รู้นั่นเอง
           เมื่อเสร็จจากเยี่ยมบ้านท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี  คณะกองทัพธรรมก็เดินข้ามถนนไปยังบ้านบ้านพราหมณ์ปุโรหิตบิดาของท่านองคุลีมาล ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกัน บ้านพ่อท่านองคุลีมาลมีขนาดใหญ่โตไม่แพ้บ้านท่านเศรษฐี เรื่องของท่านองคุลีมาลนี้เป็นเรื่องที่ผู้เขียนจะเว้นไม่เล่าด้วยว่าทุกท่านคงทราบมาแล้วพอสมควร แต่จะขอกล่าวถึงสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสในวันที่องคุลีมาลวิ่งตามพระพุทธองค์ไม่ทันว่า
          "เราหยุดแล้ว องคุลีมาล ท่านเล่าจงหยุดเถิด"
          องคุลีมาลจึงตะโกนถามไปว่า
          "ดูก่อนสมณะ ท่านกำลังเดินไป ยังกล่าวว่า เราหยุดแล้ว และท่านยังไม่หยุด ท่านหยุดแล้วเป็นอย่างไร  ข้าพเจ้ายังไม่หยุดแล้วเป็นอย่างไร"
          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
          "ดูก่อนองคุลีมาล เราวางอาชญาในสรรพสัตว์ได้แล้ว  จึงชื่อว่าหยุดแล้ว  ส่วนท่านไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่ายังไม่หยุด ถึงแม้ว่าเธอหยุดแล้วด้วยอิริยาบทยืนในบัดนี้ก็ดี เธอก็จะต้องวิ่งไปในนรกดิรัจฉาน เปรต อสุรกายในภายหน้า"
          เป็นประโยคที่มีความหมายลึกซึ้งยิ่งนัก องคุลีมาลเมื่อได้ฟังจึงทูลขอบรรพชากับพระองค์และภายหลังได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์  เรื่องราวของท่านองคุลีมาลเป็นตัวอย่างอันดีในเรื่องของการคบคนพาลทำให้หลงผิดไป แต่ยังมีบุญวาสนาที่พระพุทธองค์ทรงเมตตาโปรดและได้บรรลุธรรมในที่สุด

 












         



         

 

 
 
 

      

 

8/29/2558

นักบวชสตรี ๓๐. กลับสู่อินเดีย : มุ่งสู่สาวัตถี ฐานที่มั่นของพระพุทธศาสนา : เมืองที่มีพระโสดาบัน ๖๐ ล้านคน


          เช้าวันอังคารที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๗  การเดินทางจาริกแสวงบุญของกองทัพธรรมล่วงมาถึงวันที่ ๖ แล้ว ผู้เขียนบันทึกเรื่องราวย้อนหลังไปด้วยความประทับใจ แต่ละแห่งที่จาริกมาล้วนแต่เติมศรัทธาในพระรัตนตรัยเข้าไปในใจไปเรื่อยๆ พลังศรัทธาในใจนี้ หลวงพ่อซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ของผู้เขียนท่านเทศน์เสมอว่า
          "โยมต้องมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา การปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นนี้ต้องมีกำลังมากพอที่จะข้ามสังสารวัฏการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่ใจผู้รู้นี้ ต้องใช้ศรัทธาเป็นตัวนำจึงจะเข้าได้"
          กองทัพธรรมออกเดินทางจากประเทศเนปาลกลับสู่ประเทศอินเดีย ในขากลับนี้กองทัพธรรมแวะวัดไทย ๙๖๐ เพื่อฉันเพลเช่นเดียวกับขามา จากนั้นจึงเดินทางมุ่งสู่สาวัตถี หลวงตายังคงเล่าเรื่องราวของสาวัตถีให้แม่ๆฟังบนรถระหว่างการเดินทาง ซึ่งแม่ๆก็ฟังหลวงตาเล่าอย่างเพลิดเพลิน ด้วยว่าท่านเล่าอย่างละเอียดและสอดแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอย่างน่าสนใจยิ่ง
          เมืองสาวัตถีตั้งอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ในสมัยพุทธกาลสาวัตถีเป็นเมืองหนึ่งในจำนวน ๖ เมืองที่ยิ่งใหญ่และเจริญรุ่งเรืองที่สุดเป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งในจำนวน ๑๖ แคว้นในสมัยพุทธกาล และเป็นแคว้นที่ยิ่งใหญ่อีกแคว้นหนึ่งใน ๔ แคว้น แคว้นโกศลมีความยิ่งใหญ่ในด้านการปกครอง เป็นศูนย์กลางในการติดต่อกับแคว้นต่างๆทางตอนเหนือเช่น มคธ กาสี กุรุ วัชชี ต่อมาแคว้นโกศลได้ผนวกแคว้นกาสีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งรวมทั้งยังปกครองแคว้นสักกะซึ่งเป็นเมืองพุทธบิดาอีกด้วย
          พระพุทธองค์ได้เสด็จจาริกสู่เมืองสาวัตถี เพื่อโปรดมหาชนเป็นครั้งแรกเมื่อ "ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี" ทูลนิมนต์และได้จำพรรษาถึง ๒๕ พรรษา ทรงประทับอยู่จำพรรษาใน "วัดพระเชตะวันมหาวิหาร" ของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี ๑๙ พรรษาและ "วัดบุพพาราม" ของ "นางวิสาขา" ๖ พรรษา ทั้งนี้เป็นเพราะเศรษฐีและนางวิสาขาศรัทธาเลื่อมใสพระพุทธศาสนาและมีอุปการะคุณต่อพระภิกษุสงฆ์นานับประการ ด้วยเหตุนี้จึงเปรียบได้ว่าเป็นเมืองที่เป็นฐานที่มั่นของพระพุทธศาสนา
          สำหรับคำถามที่ว่า ทำไมพระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ณ สาวัตถี นานกว่าที่อื่น อาจเนื่องจากท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี และ นางวิสาขา มีอุปการะคุณ ต่อพระพุทธศาสนาอย่างมาก ดังเรื่องเล่าว่า ท่านอนาถบปิณฑิกเศรษฐี และ   นางวิสาขา ท่านทั้งสองจะไปวัดวันละสองครั้งเป็นประจำทุกวัน เวลาไป  ก็ไม่ได้ไปมือเปล่า ถ้าไปเวลาเช้าก่อนฉันเพลก็จะมีอาหารคาวหวานติดสำรับไปถวายพระสงฆ์ ถ้าไปช่วงบ่าย-เย็นก็จะมีน้ำปานะหรือเภสัชติดมือไปถวาย ไม่ขาดเลย
          นอกจากนี้ ผู้คนในสาวัตถี นัยว่ามีอยู่ ๗ โกฎิ หรือ ๗๐ ล้าน ในจำนวนนี้ ๖ โกฎิ บรรลุธรรมขั้นต่ำก็เป็นพระโสดาบัน อีก ๑ โกฎิ ก็ตั้งมั่นอยู่ในไตรสรณคมน์ และสภาพบ้านเมืองสงบสุข ร่มเย็น ไม่มีศึกสงครามการเบียดเบียนกันรุนแรงเลย
          ถึงตรงนี้ ผู้เขียนรู้สึกว่าชาวเมืองนี้ช่างมีจิตใจเป็นกุศล คงเป็นเมืองที่น่าอยู่มาก เรียกได้ว่า เป็นเมืองในฝันของผู้เขียนเลยก็ว่าได้  เพราะผู้คนมีจิตใจที่ไฝ่ธรรม และเป็นพระโสดาบันจำนวนมาก วันๆเขาคงจะคุยกัน และทำกันแต่เรื่องธรรม  เรื่องการปฏิบัติธรรม เรื่องที่เป็นกุศล  การทำมาหากินสุจริต เรื่องการผิดศีล การเบียดเบียน ให้ร้าย โป้ปดมดเท็จ ขโมยขโจร คงไม่มี ทำให้  นึกถึงต่างจังหวัดในบ้านเรา ที่ยังคงยึดมั่นในพระพุทธศาสนา เช้าตื่นขึ้นมาก็นึกแต่บุญกุศล ทำบุญใส่บาตร วันพระก็ไปวัด ทำบุญทำทานกันอย่างตั้งอกตั้งใจ ขณะที่ชีวิตในเมืองหลวงนี้ ความเร่งรีบ แข่งขันต่างๆ ผู้คนห่างพระศาสนา การรักษา ศีล ๕ ซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์กลับถูกละเลยอย่างน่าเสียดาย
          เห็นโลกในเวลานี้แล้ว อดนึกถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า
          "ใจมนุษย์เป็นอย่างไร โลกก็เป็นอย่างนั้น"
          สอดคล้องกับที่คุณแม่ให้ธรรมว่า
          "แผ่นดินต่ำ เพราะคนใจต่ำ"
          "เอาแต่ของหยาบ กิเลสหยาบๆ"
          ผู้เขียนระลึกตามก็เห็นจริงตามนั้น ของหยาบกับอกุศล ของละเอียดกับกุศลในจิตในใจ มันมีอาการต่างกันสิ่งที่ครูบาอาจารย์และคุณแม่ทำ คือ ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างใจของคนให้มีแต่คุณงามความดี ให้ธรรมเกิดขึ้นในใจกับคนของแผ่นดิน เหมือนค่อยๆเติมน้ำที่ใสสะอาดลงไปแทนน้ำขุ่นที่สกปรกในภาชนะ ค่อยๆทำให้น้ำในภาชนะนั้นใสสะอาดขึ้นบ้าง หากผู้คนมีศีลมีธรรมในใจ แผ่นดินก็จะร่มเย็นเป็นสุขเช่นเดียวกับเมืองสาวัตถีในครั้งพุทธกาล
          หลวงตาได้เล่าต่อไปว่า เพราะพระพุทธองค์จำพรรษาอยู่ที่สาวัตถียาวนานกว่าที่อื่นๆ พระสูตรต่างๆจึงตรัสแก่พระภิกษุขณะที่พำนักอยู่ที่นี่มากที่สุด โดยในพระสูตรของพระพุทธศาสนาเกือบร้อยละ ๘๐-๙๐ จะขึ้นต้นว่า
          "เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา สาวัตถิยัง วิหะระติ เชตะวะเน อะนาถะปิณฑิกัลสะ อาราเม."
แปลว่า  "ข้าพเจ้าพระอานนท์ได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี แขวงเมืองสาวัตถี" 
          เหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและพระศาสนาก็เกิดขึ้นในเมืองสาวัตถีนี้มากที่สุดเช่นกันเกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น กรณีพระเทวทัตคิดทำลายสงฆ์ให้แตกแยกกันและถูกแผ่นดินสูบ นางจิญจมาณวิกากล่าวหาพระพุทธเจ้าว่าทำนางให้ตั้งท้อง โจรองคุลีมาลฆ่าคนตัดนิ้วมาทำมาลัยแขวนคอ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดแล้วจึงได้บวชและบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์      

นักบวชสตรี ๒๙. เรื่องเล่าแทรก : วัดไทยลุมพินี : พระสงฆ์ทำปาฏิโมกข์ : แสงวงกลมบนท้องฟ้า : ภาพพิเศษต่างๆ

       ในการจาริกแสวงบุญนี้ มีปรากฏการณ์พิเศษหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับกองทัพธรรมระหว่างการจาริก เรื่องราวในตอนนี้อาจถูกบันทึกและเผยแพร่เฉพาะกลุ่ม เนื่องจากศรัทธาและความเชื่อที่ไม่เสมอกัน การเผยแพร่ออกไปนี้อาจก่อให้เกิดอกุศลจิตแก่ผู้อ่านบางท่านได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคงจะละเลยไม่ได้ที่จะเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้
    ในการจาริกแสวงบุญของกองทัพธรรมครั้งนี้ เพื่อนแม่ใหม่ท่านหนึ่ง (ท่านเดียวกับที่ให้การดูแลรักษาผู้เขียนและคณะกองทัพธรรมที่เจ็บป่วยระหว่างการจาริกฯ)  เป็นผู้มีความสามารถในเรื่องการถ่ายภาพ ท่านได้บันทึกภาพสังเวชนียสถาน และสถานที่ต่างๆ ตลอดการจาริก ภาพที่ท่านบันทึกได้นี้มีหลายภาพที่มีความพิเศษ ได้แก่ ปรากฏเป็นดวงสีขาวขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง บนภาพ ณ สังเวชนียสถาน และสถานที่สำคัญต่างๆ ตลอดการจาริก
     ตัวผู้เขียนเองเคยผ่านตาภาพทำนองนี้ในวัดบ้าง จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์บ้างมามาก  ดวงขาวๆเหล่านี้ ผู้มีภูมิธรรมท่านอธิบายว่าเป็นเทพเทวาที่ปกปักรักษาสถานที่ หรืออยู่ในวัด ความหนาแน่นของดวงเทวดาเหล่านี้ ณ สถานที่ตรัสรู้ มีความหนาแน่นมากที่สุดเท่าที่ผู้เขียนเคยเห็น เกือบทุกหนแห่งในสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา อาทิเช่น ณ เขาคิชกูฎ  และ ณ พระมหาเจดีย์ "พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา" วัดไทยกุสินารา ฯลฯ หรืออาจเรียกได้ว่ามีแทบ ทุกสถานที่สำคัญ ซึ่งมีมากบ้างน้อยบ้างตามแต่สถานที่
    เป็นเรื่องพิเศษที่ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะถ่ายภาพเหล่านี้ได้ ในเวลาเดียวกัน คนถ่ายคนละคน กล้องที่ถ่ายคนละตัว คนหนึ่งถ่ายภาพได้ดวงเหล่านี้ติดมา แต่คนอื่นๆถ่ายไม่ติด คงเป็นเรื่องของบุญกุศลหรือบารมีที่สะสมมา ดังคำกล่าวที่พวกเราๆที่ไปวัดมักจะกล่าวกันเสมอว่า "ต่างคนต่างมีคนละหน้าที่ที่มีความหลากหลายมารวมตัวกันทำหน้าที่ทางธรรม" หรือ "ธรรมมะจัดสรร" นั่นเอง
   วัดไทยลุมพินีนี้เองเป็นสถานที่หนึ่งที่ช่างภาพแม่ใหม่ได้ภาพที่พิเศษกว่าทุกแห่งจาริกมา วัดนี้ตั้งอยู่ในปริมณฑลสังเวชนียสถาน ที่ประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ สวนลุมพินีวัน ราชอาณาจักรเนปาล สร้างขึ้นด้วยศรัทธาของพุทธบริษัทชาวไทย ในนามของรัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน และผู้ศรัทธาร่วมทำบุญ ทำสัญญาเช่าที่ดิน จากรัฐบาลเนปาล จำนวน ๒ แปลง รวมพื้นที่ ๕ เอเคอร์ (๑๓ ไร่เศษ) เป็นระยะเวลา ๙๙ ปี เพื่อเป็นการบูชาคุณพระพุทธศาสนา และร่วมเฉลิมฉลอง ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี 
     จุดเด่นของวัดนี้คือ มีพระอุโบสถสีขาวที่มีแบบแปลนเป็นเลิศด้วยสถาปัตยกรรม โดยสถาปนิก ศิลปินแห่งชาติ รศ.ดร.ภิญโญ  สุวรรณคีรี  ประธานกรรมการผู้ออกแบบ  นอกจากนี้ยังมีกุฏิสงฆ์ทรงไทย อาคารหอสวดมนต์ ทรงไทยประยุกต์ ที่พักผู้แสวงบุญ โรงทาน และอาคารต่างๆอีกหลายหลัง รวมถึงห้องน้ำ ห้องสุขา สำหรับผู้แสวงบุญ  
     หลังจากจาริกยังกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว ช่วงหัวค่ำ คณะพระสงฆ์ทหาร - ตำรวจ และแม่ๆสวดมนต์ทำวัตรเย็น ที่ลานสนามหญ้าหน้าพระอุโบสถอันสวยงาม ณ วัดไทยลุมพินี และมีการ "สวดปาฏิโมกข์" ที่นี่เอง
      ผู้เขียนไม่ทราบว่า การสวดปาฏิโมกข์ คืออะไร สำคัญอย่างไร แต่ก่อนที่จะสวด พระอาจารย์ได้อธิบายว่า การสวดปาฏิโมกข์ เป็นการทบทวนศีล ๒๒๗ ข้อของพระภิกษุโดยจะมีการสวดทุก ๑๕ วันคือในวันขึ้น ๑๕ ค่ำและวันแรม ๑๕ ในเดือนเต็มหรือวันแรม ๑๔ ค่ำในเดือนขาด นอกจากนั้นยังทรงอนุญาตให้ทำอุโบสถเป็นพิเศษในคราวที่ภิกษุแตกความสามัคคีเมื่อภิกษุกลับมาสามัคคีกันอีกครั้งแม้จะยังไม่ถึงวันปาฏิโมกข์ก็ให้สวดปาฏิโมกข์ได้เรียกว่า "สามัคคีอุโบสถ" การฟังปาฏิโมกข์เป็นกิจของสงฆ์ที่สำคัญ และเป็นสังฆกรรมเฉพาะพระภิกษุเท่านั้น ทรงตรัสห้ามมิให้สวดปาฏิโมกข์โดยมีคฤหัสถ์ปนอยู่ในท่ามกลางหมู่ภิกษุสงฆ์
    การสวดปาฏิโมกข์ เป็นทั้งสังฆกรรมตามพระวินัย และเป็นกิจสงฆ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนาควรมีโอกาสได้ร่วมฟังใน วินัยระบุว่า วัดหนึ่งจะต้องมีภิกษุสวดปาฏิโมกข์ได้หนึ่งรูป หากไม่มีเจ้าอาวาสต้องขวนขวายให้มี หากไม่ขวนขวายเป็นอาบัติ  ถ้าขวนขวายแล้วยังไม่มี พอถึง วันปาฏิโมกข์ต้องไปร่วมฟังในวัดที่มีการสวดปาฏิโมกข์ ถ้าในย่านนั้นไม่มีวัดที่มีภิกษุสวดปาฏิโมกข์ หรือมีภิกษุไม่ครบ ๔ รูป ไม่ต้องสวดปาฏิโมกข์ แต่ให้อธิษฐานอุโบสถแทน  โดยตั้งใจว่า "วันนี้เป็นวันอุโบสถ"
    ในระหว่างที่มีการสวดปาฏิโมกข์  หากไม่มีเหตุจำเป็นจะหยุดสวดปาฏิโมกข์ในระหว่างไม่ได้ และห้ามภิกษุสวดปาฏิโมกข์ย่อ รูปใดสวด ต้องอาบัติ ทุกกฏ แต่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้หยุดสวด ก็ต่อเมื่อมีเหตุหรือมีอันตรายในเรื่องนั้นเหล่านี้ (บางข้อมูลบอกว่าให้สวดย่อไม่ใช่ให้เลิกสวด) คือ
          ๑. พระราชาเสด็จมา 
          ๒. โจรมาปล้น 
          ๓. ไฟไหม้
          ๔. น้ำหลากมา 
          ๕. คนมามาก 
          ๖. ผีเข้าภิกษุ 
          ๗. สัตว์ร้ายเช่น เสือ เป็นต้น  เข้ามาในอาราม
          ๘. งูร้ายเลื้อยเข้ามาในที่ชุมนุม 
          ๙. ภิกษุอาพาธด้วยโรคร้ายขึ้นในที่ชุมนุมสงฆ์  อันจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต 
          ๑๐. มีอันตรายแก่พรหมจรรย์ เช่น มีใครมาเพื่อจับภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง  
     พระสงฆ์กองทัพธรรมและพระที่มาร่วมรวมสองร้อยกว่ารูป จะได้สวดปาฏิโมกข์ในคืนนี้ จึงนับเป็นพิธีที่สำคัญ คืนนี้เป็นวันพระ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ การสวดปาฏิโมกข์ คือ การสาธยาย ศีล ๒๒๗ ข้อ เป็นภาษาบาลีล้วนๆ ตั้งแต่ข้อ ๑ ไปจนกระทั่งจบหมดทุกข้อ และต้องสวดไม่ให้ผิด  มีผู้คอยตรวจทานไม่ให้สวดผิด  หากสวดผิดก็ต้องทักท้วง แก้ไขให้ถูกต้อง จึงจะสวดต่อไปได้ กว่าจะสวดจนจบ ต้องใช้เวลาประมาณ  ๔๕ นาที  
    ขณะที่พระสงฆ์สวดปาฏิโมกข์นี้ แม่ๆใหม่ได้มีโอกาสนั่งอยู่ด้านหลังห่างออกมาจากอาณาเขตสงฆ์ที่ท่านกำหนดไว้  แม่ใหม่ช่างภาพของเราได้ถ่ายภาพพิเศษเป็นวงแสงขนาดใหญ่หลายวงได้หลายภาพ บนท้องฟ้าขณะพระสงฆ์สวดปาฏิโมกข์ ภาพเหล่านี้ ผู้มีภูมิธรรมสูงบอกว่าเป็นญาณของพระองค์ท่านเสด็จลงมา และไม่ได้ลงมาเพียงพระองค์เดียว เนื่องด้วย ณ ชมพูทวีปแห่งนี้เป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ยังความปลาบปลื้มใจกับกองทัพธรรมอย่างยิ่ง  นี่เองคงจะเป็นการยืนยันว่าการสวดปาฏิโมกข์นี้เป็นบทสวดที่สำคัญในพระพุทธศาสนาจริงๆ
    คืนนั้นคณะพระสงฆ์กองทัพธรรมก็จำวัดที่วัดไทยลุมพินีแห่งนี้ ส่วนแม่ๆก็พักในโรงแรมใกล้เคียงเช่นเคย ไม่น่าเชื่อว่าทุกวันที่ผ่านไปในการบวชจาริกแสวงบุญจะมีอะไรให้เราเรียนรู้มากมายขนาดนี้ ขออนุโมทนาบุญกับผู้จัดทำโครงการนี้และผู้สนับสนุนทุกท่าน...สาธุ
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

นักบวชสตรี ๒๘. กรุงกบิลพัสดุ์ : พระราชวังสามฤดู : การออกบวชของเจ้าชายสิทธัตถะ

      เช้าวันจันทร์ที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๗  กองทัพธรรมยังอยู่ในประเทศเนปาล ช่วงเช้ากองทัพธรรมสวดมนต์ และเดินจงกรม ณ วัดไทยลุมพินี  คุณแม่ และทีมงานได้เตรียมของใส่บาตรพระสงฆ์กองทัพธรรมเป็นครั้งที่สอง...สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
      ช่วงบ่ายกองทัพธรรมได้เดินทางจาริกไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ เสียงเล่าของหลวงตาในรถบัสยังคงแว่วอยู่ในความทรงจำบวกกับข้อมูลที่สืบค้นมาเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ของบทความนี้
      กรุงกบิลพัสดุ์เป็นเมืองหลวงของแคว้นสักกะ เป็นเมืองของพระเจ้าสุทโธนะผู้เป็นพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าทรงเจริญเติบโตและประทับอยู่จนกระทั่งพระชนมายุ ๒๙ ปี ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล ติดชายแดนตอนเหนือประเทศอินเดียยังเหลือซากเมืองอยู่เป็นหลักฐาน ไม่ห่างจากลุมพินีวันสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าที่เราได้จาริกเมื่อวันวาน
      พระพุทธเจ้าทรงมีพระนามเดิมว่า "สิทธัตถะ" หมายถึง ผู้ที่สำเร็จความมุ่งหมายแล้ว หรือผู้ปรารถนาสิ่งใด ย่อมได้สิ่งนั้น ทรงเป็นพระราชโอรสของ "พระเจ้าสุทโธทนะ" กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ และ "พระนางสิริมหามายา" พระราชธิดาของกษัตริย์ราชสกุลโกลิยวงศ์แห่งกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ
      ในคืนที่พระพุทธเจ้าเสด็จปฏิสนธิในครรภ์พระนางสิริมหามายา พระนางทรงพระสุบินนิมิตว่า มีช้างเผือกมีงาสามคู่ได้เข้ามาสู่พระครรภ์ ณ ที่บรรทม ก่อนที่พระนางจะมีพระประสูติกาล ที่ใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน เมื่อวันศุกร์ ขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนวิสาขะ ปีจอ ๘๐ ปี ก่อนพุทธศักราช
      หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะประสูติกาลได้แล้ว ๗ วัน พระนางสิริมหามายา ก็เสด็จสวรรคาลัย  ตรงนี้หลวงตาอธิบายให้ฟังถึงคำถามที่ว่า ทำไมหลังจากพระนางสิริมหามายาประสูติพระโอรสแล้วจึงมีพระชนม์ชีพอยู่ต่อมาได้เพียง ๗ วัน  เป็นเพราะพระนางสิริมหามายาได้อธิษฐานไว้ว่า ขอเป็นมารดาพระพุทธเจ้า เมื่อประสูติพระบรมโพธิสัตว์เจ้าได้ ๗ วันก็เสด็จทิวงคต เพระสงวนพระครรภ์ไว้สำหรับประสูติพระพุทธเจ้าองค์เดียวไปบังเกิดเป็นเทพบุตรสถิตในดุสิตเทวโลก ดังพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
    "ดูกรอานนท์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้นดูกรอานนท์ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูกรอานนท์ มารดาของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอายุน้อยเหลือเกินเมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๗ วัน มารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมทำกาละเข้าถึงเทพนิกายชั้นดุสิต ฯ
      เจ้าชายสิทธัตถะจึงอยู่ในความดูแลของพระนางประชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นพระกนิษฐาของพระนางสิริมหามายา 
      เมื่อประสูติใหม่ๆ พราหมณ์ทั้ง ๘ ได้ทำนายว่า เจ้าชายสิทธัตถะมีลักษณะเป็นมหาบุรุษ คือ หากดำรงตนในฆราวาสจะได้เป็นจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก แต่โกณฑัญญะพราหมณ์ผู้อายุน้อยที่สุดในจำนวนนั้น ยืนยันหนักแน่นว่า พระราชกุมารสิทธัตถะจะเสด็จออกบวช และจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน 
      เจ้าชายสิทธัตถะทรงศึกษาเล่าเรียนจนจบศิลปศาสตร์ทั้ง ๑๘ ศาสตร์ ในสำนักครูวิศวามิตรและเนื่องจากพระบิดาไม่ประสงค์ให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นศาสดาเอกของโลก จึงพยายามทำให้เจ้าชายสิทธัตถะพบเห็นแต่ความสุข โดยการสร้างปราสาท ๓ ฤดู ให้อยู่ประทับ และจัดเตรียมความพร้อมสำหรับการราชาภิเษกให้เจ้าชายขึ้นครองราชย์
      เมื่อมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษา ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางพิมพาหรือยโสธรา พระธิดาของพระเจ้ากรุงเทวทหะซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายพระมารดา
      วันหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะทรงเบื่อความจำเจในปราสาท ๓ ฤดู จึงชวนนายฉันนะสารถีทรงรถม้าประพาสอุทยาน ครั้งนั้นได้ทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช โดยเทวทูต (ทูตสวรรค์) ที่แปลงกายมา พระองค์จึงทรงคิดได้ว่า นี่เป็นธรรมดาของโลก ชีวิตของทุกคนต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ จึงทรงเห็นว่าความสุขทางโลกเป็นเพียงภาพมายาเท่านั้น และวิถีทางที่จะพ้นจากความทุกข์ คือต้องครองเรือนเป็นสมณะดังนั้นพระองค์จึงใคร่จะเสด็จออกบรรพชา ในขณะที่มีพระชนม์ ๒๙ พรรษา
     วันหนึ่งขณะที่ประทับอยู่ในอุทยานพร้อมกับคิดในเรื่องหาทางพ้นทุกข์อยู่นั้น อำมาตย์สองคนได้เข้ามากราบทูลว่า
     “ฟ้าชายพระเจ้าข้า ขณะนี้ พระนางพิมพาได้คลอดพระราชโอรสมาแล้ว” ทำให้สิทธัตถะถึงกับอุทานออกมาว่า
      "บ่วงเกิดขึ้นแล้วหรือ ราหุลัง ซาตัง ราหุลเกิดแล้ว บ่วงเกิดกับเราแล้ว การมุ่งมาดปรารถนาว่าจะเป็นสมณะจะหมดโอกาสเสียแล้วหรือราหุล ราหุล เจ้าเกิดมาจะเป็นบ่วงพ่อเสียแล้วหรือความเป็นสมณะคงจะหมดโอกาสแล้วหรือ?"
     พระราชโอรส จึงมีพระนามว่า "ราหุล" ซึ่งหมายถึง "บ่วง" นั่นเอง
     ในที่สุดพระองค์ก็ทรงอุทานและนึกขึ้นว่าจะต้องเป็นสมณะให้จงได้ จะต้องหาทางพ้นจากบ่วงเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ให้จงได้
      ครานั้นพระองค์ได้เสด็จไปพร้อมกับนายฉันนะ สารถี ซึ่งเตรียมม้าพระที่นั่ง นามว่า "กัณฐกะ" มุ่งตรงไปยังแม่น้ำอโนมานทีก่อนจะประทับนั่งบนกองทราย ทรงตัดพระเมาลีด้วยพระขรรค์ และเปลี่ยนชุดผ้ากาสาวพัสตร์ (ผ้าย้อมด้วยรสฝาดแห่งต้นไม้) และให้นายฉันทะ นำเครื่องทรงกลับพระนคร ก่อนที่พระองค์จะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่) ไปโดยเพียงลำพัง เพื่อมุ่งพระพักตร์ไปยังแคว้นมคธ
      เจ้าม้ากัณฐกะรู้ว่าเจ้านายที่แสนดีของมันจะต้องจากมันไป มันก็ยืนซึมน้ำตาไหลอาลัยรักเจ้านายที่แสนดีของมัน ในที่สุดความเสียดายอาลัยรักในเจ้านายที่แสนดีของมันมันก็ถึงกับใจแตกตาย ณ ที่ตรงนั้นความประทับใจใน พุทธประวัติช่วงนี้ ได้แก่  ม้ากัณฐกะ ที่อาลัยรักพระองค์ท่านจนถึงกับใจแตกสลายในเวลาที่พระองค์ท่านจากไป ผู้เขียนนึกถึงที่หลวงตาเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ ม้ากัณฐกะ ซึ่งเป็นม้าที่เกิดในวัน เดือน ปี เดียวกับพระพุทธองค์  ซึ่งสิ่งที่เกิดวัน เดือน ปี เดียวกับพระพุทธองค์มี ๗ สิ่ง เรียกว่า "สหชาติ ๗"  มีดังนี้
      ๑.  พระนางพิมพา ต่อมาได้เป็นอัครมเหสีของเจ้าชายสิทธัตถะและให้กำเนิดพระราหุลกุมาร
      ๒. พระกุมารอานนท์ต่อมาตามเสด็จออกบรรพชาจนสำเร็จอรหันต์และเป็นพระมหาพุทธอุปัฏฐาก
      ๓.  กาฬุทายี บุตรของอำมาตย์ ต่อมาได้ตามเสด็จออกบรรพชาและสำเร็จอรหันต์
      ๔.  นายฉันนะกุมาร บุตรมหาดเล็ก ซึ่งเป็นผู้ตามเสด็จในวันที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชาและต่อมาตามเสด็จออกบวชจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์
      ๕.  ม้ากัณฐกอัศวาร เป็นม้าทรงที่เจ้าชายสิทธัตถะใช้เสด็จออกจากพระนครเพื่อบรรพชา
      ๖.  ต้นพระศรีมหาโพธิ์งอก ต่อมาเป็นมหาโพธิบัลลังก์ต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับในวันตรัสรู้
      ๗.  ขุมทรัพย์ทั้ง ๔ อันมีนาม สังขนิธี เอลนิธี อุบลนิธี  บุณฑริกนิธี ซึ่งหากพระองค์ดำรงเพศฆราวาสจะมีพระราชทรัพย์ในพระคลังมากมายมหาศาล
      ณ พระราชวังสามฤดู แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ กองทัพธรรมได้ปฏิบัติบูชาด้วยการสวดมนต์ นั่งกรรมฐานเช่นเคย  ความรู้สึก ณ สถานที่แห่งนี้สำหรับผู้เขียนแล้ว มีความเด่นชัดในเรื่องพระราชวังสามฤดูที่พระราชบิดาสร้างไว้ให้พระองค์ท่านด้วยต้องการให้เห็นแต่สิ่งสวยงาม ความสุขความรื่นเริงใจ ด้วยหวังให้พระองค์ท่านเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ สถานที่แห่งนี้มีคุณค่าทางใจอย่างยิ่ง เมื่อนึกถึงเหตุการณ์ในวันที่พระองค์ท่านตัดสินใจออกบวชแล้ว ช่างยิ่งใหญ่มาก การที่พระองค์ท่านทรงสละราชสมบัติ ครอบครัว พระชายา พระราชบุตรองค์น้อยที่แรกคลอด ทิ้งความสะดวกสบายทั้งปวงออกบวช ปลงพระเมาลี เปลี่ยนชุดเครื่องทรงกษัตริย์มาเป็นชุดนักบวชที่เรียบง่าย โดยที่ไม่รู้ว่าในแต่ละมื้อจะมีใครถวายอาหารให้ฉันหรือไม่  การออกบวชเพื่อค้นหาสัจธรรม แล้วนำมาเผยแพร่สั่งสอนหมู่สัตว์อย่างเรา นับเป็นการเสียสละอันยิ่งใหญ่ พระองค์ท่านทรงเมตตาไม่มีประมาณจริงๆ
      ความเด็ดขาดของพระองค์ท่านในวันนั้น  เป็นเรื่องที่นำมาเตือนตนได้เป็นอย่างดี สำหรับการเพ่งโทษตัวเองให้มากในเวลาที่เราไม่เด็ดขาดพะวงโน่นนี่  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสละเรือนเพียงแค่ไม่กี่วัน การปลงผมบวชเป็นพรหมจาริณี หรือการบริจาคทรัพย์ส่วนตัวเป็นทานต่างๆเหล่านี้  ไม่ควรตระหนี่  หรือลังเลสงสัย ห่วงโน่นห่วงนี่ การบวชแค่ไม่กี่วันนับว่าเป็นการสละที่เล็กน้อยมาก ถ้าสละแค่นี้ไม่ได้ ก็จะมาหวังอะไรกับการปฏิบัติเพื่อละวางตัวตน เพื่อให้พ้นทุกข์ มันจะเป็นการปฏิบัติเพียงเปลือกนอก เป็นเพียงเป็นแฟชั่นทำตามๆเขาไป ให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติ ผู้มีศีล คิดว่าตัวเองเป็นผู้ที่ดีกว่าผู้อื่น เหล่านี้ล้วนเป็นตัวตน เป็นมานะทั้งสิ้น

8/28/2558

นักบวชสตรี ๒๗. ลุมพินีวัน : สวนในดาวดึงส์ อุทยานแห่งความเบิกบานใจ


       หลังจากรับประทานอาหารและซื้อของฝากกันที่วัดไทย ๙๖๐ แล้ว คณะกองทัพธรรมได้เดินทางต่อไปยังประเทศเนปาล ช่วงที่ข้ามผ่านแดนรอการตรวจสอบตามขั้นตอนประมาณสองชั่วโมง จากนั้นขบวนรถบัสกองทัพธรรมก็ข้ามผ่านแดนสู่ประเทศเนปาล และไปถึงลุมพินีวัน ประเทศเนปาลในเวลาประมาณห้าโมงเย็นลุมพินีวันนี้มีเนื้อที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ และลุมพินีวันได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐
     เมื่อเดินทางไปถึงปากทางเข้าลุมพินี รถบัสได้จอดส่งคณะกองทัพธรรมให้เดินเท้าเข้าไปสู่สถานที่ประสูติ-สังเวชนียสถาน วิหารมายาเทวี ระยะทางประมาณ ๑ - ๒ กิโลเมตร ในลุมพินีวันนี้เป็นสวนร่มรื่นพื้นที่สวยงามกว้างใหญ่คล้ายกับพุทธมณฑลในบ้านเรา  เมื่อไปถึงได้เรียงแถวกันเข้าไปกราบอธิษฐานจิต และปิดทองบนแผ่นหินภายในวิหาร จากนั้นจึงออกมารวมตัวกันลานที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ภายนอกวิหาร เพื่อสวดมนต์และปฏิบัติบูชา
     ณ สถานที่ประสูติ บรรยากาศยามเย็นร่มรื่น แสงแดดเริ่มอ่อน ลมพัดเย็นสบาย ลมพัดแรงให้ความรู้สึกสดชื่นเบิกบาน  ไม่กราดเกรี้ยวรุนแรงเหมือนที่นาลันทา ผู้คนที่มาแสวงบุญล้วนยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นมิตร มีชาวอินเดีย หรือเนปาลผู้เขียนไม่แน่ใจเพราะดูไม่ออกเนื่องจากหน้าตาและการแต่งกายคล้ายคลึงกัน เขาเข้ามาทักทายพูดคุยแสดงตัวไหว้คุณแม่ ด้วยความเคารพศรัทธาและเป็นมิตร ความรู้สึกในการมาสถานที่ประสูติในเวลานี้จึงมีแต่  ความสดชื่นเบิกบานใจแก่คณะกองทัพธรรมยิ่งนัก 
     ความร่มรื่นของอุทยานลุมพินีที่ผู้เขียนรู้สึกนี้ คงไม่เกินจริง เนื่องจากมีข้อมูลที่สืบค้นมากล่าวถึงสถานที่แห่งนี้ว่า เป็นพระราชอุทยานลาดลุ่มร่มรื่นกึ่งกลางระหว่างทางสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของกษัตริย์และประชาชน สภาพ  ของลุมพินีวันในสมัยนั้นอาจจะพิจารณาได้จากคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินีอรรถกถาขุททกนิกาย อุปทาน ได้พรรณนาเป็นภาษาบาลีไว้ว่า
     "ทวินฺนํ ปน นครานํ อนฺตเร อุภยนครวาสีนมฺปิ ลุมพินีวนํ นาม มงฺคลสาลวนํ อตฺถิ, ตสฺมึ สมเย มูลโต ปฏฺฐาย ยาว อคฺคสาขา สพฺพํ เอกปาลิผุลฺลํ อโหสิ สาขนฺตเรหิ เจว ปุปฺผนฺตเรหิ จ ปญฺจวณฺณา ภมรคณา นานปฺปการา จ สกุณสงฺฆา มธุรสฺสเรน วิกูชนฺตา สกลํ ลุมฺพินีวนํ จิตฺตลตาวนสทิสํ ฯเปฯ"
     แปลว่า : "ในระหว่างเมืองทั้งสอง มีป่าสาละชื่อลุมพินีวันอันเป็นมงคล สมัยนั้น สาละทั้งหมดล้วนมีดอกออกสะพรั่งเป็นแนวเดียวกัน แต่รากจนสุดปลายกิ่ง ตามกิ่งก้านสาขาและดอกนั้นล้วนมีหมู่ภมรนานาชนิด และหมู่นกหลากหลายชนิดส่งเสียงกู่ร้องประสานสำเนียง ดังทั่วทั้งป่า ลุมพินีวันนั้นจึงประดุจเช่นเดียวกับสวนจิตรลดา (อันมีในดาวดึงสเทวโลก) ฉะนั้น ฯลฯ"
     ในวันนั้น เมื่อสองพันหกร้อยกว่าปีมาแล้ว   "พระนางสิริมหามายา" พุทธมารดาทรงพระครรภ์แก่แล้ว จะเสด็จไปคลอดที่เมืองบ้านเกิด คือ เมืองเทวทหะ เมื่อกระบวนเสด็จมาระหว่างทาง พระนางเกิดประชวรพระครรภ์ จึงมีพระประสูติกาล ณ ลุมพินีวัน สวนหลวงระหว่างพระนครทั้งสอง คือ กบิลพัสดุ์ และเทวทหะ ณ วันเพ็ญ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี
      การมีพระประสูติกาลของพระพุทธองค์ซึ่งเป็นพระศาสดาเอกของโลก มิได้เหมือนปุถุชนทั่วไป กล่าวคือ เมื่อมีพระประสูติกาลนั้น พระนางสิริมหามายามิได้นั่งเหมือนสตรีทั่วไป กลับประทับยืน พระหัตถ์ข้างหนึ่งเหนี่ยวกิ่งไม้สาละใต้ต้นสาละ โดยไม่มีการประชวรพระครรภ์ให้เกิดทุกขเวทนาใดๆ การคลอดเป็นไปอย่างง่ายดาย เหมือนการเทน้ำออกจากกระบอก เมื่อพระพุทธองค์ประสูติใหม่ๆนั้น พระกุมารน้อยมิได้แปดเปื้อนด้วยครรภ์มลทินใดๆ คลอดออกมาประทับยืน พร้อมทั้งย่างพระบาทไปทางทิศเหนือได้ ๗ ก้าวมีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับพระบาท  พร้อมทั้งเปล่งอาสภิวาจา (คำที่กล่าวด้วยความองอาจ) ว่า
      "อัคโคหะมัสมิ โลกัสสะ เชฏโฐหะมัสมิ โลกัสสะ เสฏโฐ หะมัสมิ โลกัสสะ อะยะมันติมา ชาติ นัตถิ ชาติ ปุนัพภะโวติ"
คำแปลดังนี้
     "เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา การเกิดใหม่ของเราย่อมไม่มีอีก"
      หลวงตาอธิบายว่า การที่คนทั่วไปไม่เชื่อว่าจะจริงหรือที่พระพุทธองค์ในตอนนั้นซึ่งเด็กทารกเกิดใหม่จะเดินได้ ๗ ก้าวและพูดได้  รวมถึงการประสูติของพระองค์ท่านที่มีความพิเศษดังได้กล่าวมาแล้ว หลวงตาขอให้พวกเราลองคิดดูว่า สรรพสัตว์ต่างๆล้วนมีความแตกต่าง มีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตน อาทิเช่น ปลายังหายใจในน้ำได้ นกยังบินเหาะบนฟ้าได้   แล้วพระพุทธองค์ซึ่งมีหนึ่งเดียวในโลก พระองค์เดียวในโลก เป็นศาสดาเอกของโลก การเกิดของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ไม่ได้มีได้บ่อยๆ ดังเช่นในภัทรกัล์ป ของเรานี้ มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๕ พระองค์ (พระพุทธองค์ คือ องค์ที่ ๔) การประสูติของพระองค์ท่านจึงพิเศษไม่เหมือนปุถุชนทั่วไปอย่างแน่นอน ผู้เขียนฟังแล้วก็เห็นด้วย เพราะพระองค์ท่านทรงบำเพ็ญบารมีอย่างยิ่งมาหลายภพหลายชาติ กว่าที่จะมาเกิดในชาติสุดท้ายนี้ และเป็นศาสดาเอกของโลก ความพิเศษของพระองค์ท่านย่อมต้องไม่เหมือนปุถุชนทั่วไปแน่นอน
     หลังจากปฏิบัติบูชาเสร็จ กองทัพธรรมได้เดินชมสถานที่อันกว้างใหญ่และได้ไปกราบพระพุทธรูปพระพุทธเจ้าองค์น้อยที่มีขนาดใหญ่ประดิษฐานบนลานกลางแจ้ง จากนั้นก็ได้เดินเท้าต่อไปยังวัดไทยลุมพินี ที่อยู่ด้านนอก (โดยรอบลุมพินีนี้เป็นสถานที่ที่ได้รับการจัดแบ่งให้สร้างวัดพุทธของชาติต่างๆ อาทิ วัดพม่า วัดเขมร ฯลฯ)
     ธรรมที่ได้จากการจาริกสังเวชนียสถานประสูติแห่งนี้ ได้แก่ ความสดชื่นเบิกบานของการประสูติของพระพุทธองค์ ที่เสมือนโลกรอมานานในการมาอุบัติเพื่อโปรดสรรพสัตว์ของพระองค์ท่าน พระพุทธศาสนาในยุคเรานี้มีอายุ ๕,๐๐๐ ปี และผ่านมาได้ ๒,๖๐๐ กว่าปีแล้ว ความโชคดีของเราในชาตินี้ คือ ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา ผู้เขียนนึกถึงคำสอนของครูบาอาจารย์รูปหนึ่ง ท่านกล่าวไว้ว่า
     "พวกโยมมาปฏิบัติธรรมตอนนี้ยังทัน เพราะพุทธศาสนายังมีอายุอีกเกือบ ๒,๔๐๐ ปี"
     คำสอนนี้ตราตรึงในใจผู้เขียน ในยามที่รู้สึกเหนื่อยหรือท้อกับเรื่องโลกๆ ที่เรายังเอามาแบกมาหามไว้อยู่ไม่ยอมวาง จะปลุกปลอบใจตนเองด้วยคำสอนนี้ ด้วยว่าเป็นกำลังใจให้ปฏิบัติต่อไป ชาตินี้โชคดีนักที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา จงอย่าประมาท ให้เร่งความเพียรชอบ เพื่อให้เป็นไปซึ่งความพ้นไปจากกระแสโลกด้วยเถิด
     อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนให้สัญญากับตัวเอง ได้แก่ การทำหน้าที่ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และการสนับสนุนการบวช แต่ละครั้งที่บุตรชาย ลูกหลาน ลูกศิษย์ ลูกน้อง หรือใครก็ตามบวช ผู้เขียนจะสนับสนุนตามกำลังและโอกาสจะอนุโมทนาบุญด้วยความปลื้มปีติ ด้วยเห็นว่าการบวชเป็นพระภิกษุนั้น คือ การได้เป็นบุตรของพระศาสดา การที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นพระสุปฏิปันโณ หรือท่านได้บรรลุธรรม เป็นพระอริยเจ้า เป็นอรหันต์ เป็นการโชคดีของเราที่ในยุคนี้ยังมีครูบาอาจารย์มาชี้แนะสั่งสอนฆราวาสอย่างเราให้ปฏิบัติธรรมเพื่อการหลุดพ้น ท่านเหล่านี้จึงเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาให้ต่อเนื่องยืนยาวจนครบ ๕,๐๐๐ ปี หากชาตินี้ไม่ทัน ก็ยัง ได้ สะสมอริยทรัพย์ไว้ต่อในชาติหน้า ชาติหน้าจะได้ยังมีพระพุทธศาสนาที่พวกเราได้ทำนุบำรุงไว้คงอยู่ให้เราได้มาเกิดมาปฏิบัติต่อได้อีก แต่หากเราละเลยปล่อย ให้พระพุทธศาสนาเสื่อมถอยไปจนไม่มีศรัทธา ไม่มีพระสงฆ์  ไม่มีพระอริยเจ้า ไม่มีพระอรหันต์มาชี้แนะสั่งสอนคงจะยากที่ผู้มีสติปัญญาน้อยอย่างเราจะได้เห็นธรรมของพระพุทธองค์    
     เมื่อเสร็จจากการจาริกสังเวชนียสถานประสูติแล้ว คณะกองทัพธรรมก็เดินเท้าออกมาที่วัดไทยลุมพินี ที่นี่แม่ๆ พี่เลี้ยงและทีมงานได้เตรียมน้ำปานะไว้ให้พวกเราได้ดื่ม ...สาธุ  คืนนั้นคณะพระสงฆ์กองทัพธรรมก็จำวัดที่วัดไทยลุมพินีแห่งนี้ ส่วนแม่ๆ ก็พักในโรงแรมใกล้เคียงเช่นเคย