หน้าเว็บ

6/30/2558

ตอนที่ ๑๓ ไปตลาดโต้รุ่งสัตหีบ

             ในตอนที่ผ่านมา แม่แก้วได้เล่าถึงบ้านบางเสร่ หมู่บ้านชาวประมงที่คึกคักไปแล้ว ทำให้นึกถึงตัวอำเภอสัตหีบ หรือที่พวกเรานิยมเรียกว่า "ตลาดสัตหีบ" ที่อยู่ห่างจากเกล็ดแก้วประมาณ ๑๕ กม. ใช้เวลาขับรถมอเตอร์ไซด์ประมาณสัก ๒๐ นาที ขณะที่บ้านบางเสร่อยู่ห่างเกล็ดแก้วประมาณ ๕ กม. สมัยนั้นพวกเราจะเข้าตลาดสัตหีบเมื่อมีธุระจำเป็น ประมาณเดือนละครั้งสองครั้งเท่านั้น
         ตัวอำเภอสัตหีบนี้เป็นศูนย์รวมของสถานที่ราชการและเอกชน ทั้งที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจสำนักงานที่ดิน  ไปรษณีย์  ธนาคาร  วัดหลวงพ่ออี๋ ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านขายรถมอเตอร์ไซด์ ร้านซ่อมรถมอเตอร์ไซด์ อู่ซ่อมรถเก๋ง ร้านขายยางรถยนต์ ร้านเครื่องเขียน ร้านตัดเครื่องแบบ ร้านขายชุดนักเรียน ร้านขายชุด ขายหมวก เครื่องหมายยศ แพรแถบ และรับปักชื่อบนเครื่องแบบชุดพราง ชุดหมี ที่เกี่ยวกับทหารเรือ ร้านอาหาร ตลาดเช้า และตลาดโต้รุ่ง ฯลฯ
         นี่ยังไม่นับหน่วยงานทหารเรือหน่วยใหญ่ๆ  ที่รวมตัวกันหลายหน่วยในพื้นที่รอบๆ ตลาดสัตหีบ ได้แก่  ฐานทัพเรือสัตหีบ ท่าเรือแหลมเทียน (ที่จอดเรือรบ) หนองตะเคียน (สวนสาธารณะที่มีหนองน้ำขนาดใหญ่ มีชื่อทางการ "สวนกรมหลวงชุมพร") แหลมปู่เจ้า(เขาเสด็จเตี่ย) โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ (สมัยนั้นยังไม่มีโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ)  กองเรือยุทธการ (ที่มีภัณฑุปกรณ์ขนาดใหญ่ขายของราคาถูกกว่าห้างทั่วไปให้พวกเราได้จับจ่ายซื้อของกินของใช้)  ถ้าเมืองหลวงของประเทศไทย คือ กรุงเทพฯ เมืองหลวงของทหารเรือไทย ก็คงหนีไม่พ้น "สัตหีบ" การออกจากเกล็ดแก้วเมืองหลังเขาไปสัตหีบจึงเหมือนกับบ้านนอกเข้ากรุงยังไงยังงั้น
         สำหรับแม่แก้วสัตหีบเป็นเมืองที่มีความทรงจำมากมาย และคงเล่าตอนเดียวไม่จบ จะขอนำไปเล่าเพิ่ม หรือเล่าแทรกในตอนอื่นๆต่อไป
         วิธีไปตลาดสัตหีบมีสองวิธี วิธีแรก คือ ขับรถมอเตอร์ไซด์ไปเอง กับอีกวิธี คือ นั่งรถสองแถวประจำทางจากแผงไป รถนี้ออกทุกครึ่งหรือหนึ่งชั่วโมงตามช่วงเวลาเร่งด่วนและไม่เร่งด่วน ตามประสารถประจำทางต่างจังหวัดที่มีปริมาณผู้ใช้น้อย บางทีก็หายไปไม่มาตามเวลาก็มี ปล่อยให้เราแต่งตัวรอเก้อกันไปเป็นชั่วโมง  
         รถนี้วิ่งออกจากเกล็ดแก้วแวะรับคนตามเส้นทางที่กำหนด วนรับคนตามบ้านพัก แล้วออกจากเกล็ดแก้ว  ไปแวะรับคนต่อที่ตามบ้านพักใน รร.พลทหาร การรับคนขึ้นรถนี้มีทั้งคนที่รออยู่หน้าบ้านพร้อมขึ้นรถ กับอีกพวกที่ยังอยู่ในบ้าน แต่คนขับรู้ว่าไปแน่ รายหลังนี้คนขับถึงกับจอดรอหน้าบ้าน แล้วร้องเรียกให้คนที่จะไปให้ออกจากบ้านปิดบ้านปิดช่องมาขึ้นรถ (พ่อบุญบอกว่า ยังดีกว่ารถประจำทางแถวบ้านพ่อบุญที่ต่างจังหวัด เพราะรถจะจอดรถรอ แล้วตะโกนถามกัน ว่าไปไหม ตั้งแต่เห็นคนเดินตัดทุ่งนามาในระยะไกลมาก)  ระยะทาง ๕ - ๖ กิโล แต่กว่าจะออกจากปากทางสุขุมวิทได้น่าจะราวครึ่งชั่วโมง  จากนั้นวิ่งไปสุดสายที่ตลาดสัตหีบ รวมเวลาเดินทางน่าจะ ๑ ชั่วโมงเต็มๆ เรียกว่าเป็นรถที่หวานเย็นมาก ( "รถหวานเย็น" เป็นคำสแลงที่พวกเราใช้เรียกรถที่ขับช้าๆ แวะรับคนไปเรื่อยๆไม่รีบร้อน)  ถนนในสัตหีบว่างมากแต่รถกลับขับช้าๆ ไม่รีบร้อน ไม่เหมือนรถเมล์ในกรุงเทพฯที่มีรถจำนวนมาก รถติดยังขับซิ่งได้  คิดดูแล้วทั้งรถสองแถว และเมืองหลังเขานี้เหมือนนาฬิกาที่เดินช้ากว่าโลกภายนอก แม่แก้วจึงรู้สึกว่าช่วงนี้เป็นรอยต่อของการเป็นคนกรุงเทพฯ กับคนสัตหีบ จนพ่อบุญบอกว่า แม่แก้วเป็นคนขัดแย้งในตัวเอง
         สำหรับแม่แก้วแล้ว วิธีแรกไปเองไม่ได้เพราะเป็นผู้หญิงขับรถมอเตอร์ไซด์ไม่คล่อง ปกติครูผู้หญิงจะไม่ขับรถออกไปไหนไกลๆ หรือออกจาก รร.ชุมพลฯโดยไม่จำเป็น   ที่ไปเองไกลสุดน่าจะเป็นบางเสร่ กับปากทางสุขุมวิท ส่วนพวกผู้ชายนี้จะไปกันไกลๆ ทั้งพัทยา (ชอบไปกันตอนดึกๆมาก) เตาถ่าน และสัตหีบ ฯลฯ
         หนนี้ก็อีกเช่นเคยที่พ่อบุญมาชวนแม่แก้วไปกินบะหมี่ลอยฟ้าที่ตลาดโต้รุ่งสัตหีบ ตอนนั้น แม่แก้วไปทำงานใหม่ๆไม่รู้ว่าสัตหีบอยู่ไกลตั้งสิบกว่ากิโล เลยหลงกลนั่งซ้อนท้ายไปด้วย การขี่รถมอเตอร์ไซด์บนถนนสุขุมวิทนี้นับว่าอันตราย แต่ในสมัยนั้นไปได้เพราะรถยนต์บนถนนมีน้อยกว่ารถมอเตอร์ไซด์มาก รถมอเตอร์ไซด์เหมือนเป็นขาที่พาเราไปไหนมาไหนได้อย่างรวดเร็ว
         อะไรๆในสัตหีบ ล้วนแต่เป็นกิจการของทหารเรือ หรือทำโดยทหารเรือ ไม่ตัวเองก็ครอบครัว ถ้าถามคนสัตหีบ หรือพ่อค้าแม่ค้า เกือบร้อยทั้งร้อยจะต้องมีความเกี่ยวพันไม่ทางใดทางหนึ่งกับทหารเรือ ไม่เป็นลูก ก็เป็นเมีย  เป็นพ่อแม่พี่น้อง  หรือพี่ป้าน้าอา ดังนั้นจึงไม่เปลกที่เราจะรู้จักคุ้นเคยกัน และเห็นคนแต่งเครื่องแบบทหารเรือ ทั้งชุดสีกากี ชุดกลาสี ชุดหมีน้ำเงินของช่าง หรือเจ้าหน้าที่บนเรือ เดิน และขับขี่รถกันขวักไขว่ในสัตหีบ การไปตลาดสัตหีบแต่ละครั้งอย่างน้อยต้องเจอคนรู้จักให้หยุดทักทายกันแน่นอน
         ตลาดสัตหีบก็เช่นกัน เป็นกิจการของฐานทัพเรือสัตหีบ ตลาดโต้รุ่งสัตหีบเป็นร้านอาหารทั้งแบบรถเข็นและตึกแถวที่มารวมตัวกันขายบนถนนเส้นหนึ่งใจกลางตลาดสัตหีบ จะเริ่มเปิดขายตอนเย็นถึงกลางคืน อาหารที่ขายก็เหมือนตลาดโต้รุ่งทั่วไปตั้งแต่ข้าวต้มกุ๊ย ข้าวต้มเครื่อง ผัดไทย หอยทอด ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง และร้านขนมหวาน ฯลฯ
         "บะหมี่ลอยฟ้า" ที่พ่อบุญโฆษณาว่าอร่อยที่สุดในสัตหีบ มีจุดขายตรงที่โยนเส้นบะหมี่ที่ลวกแล้วไปบนฟ้า แล้วให้อีกคนไปเอาชามรอรับ จากนั้นก็นำมาเติมเครื่องปรุงต่างๆให้เรากิน  ที่น่าขำ คือ เมื่อเรามองไปบนสายไฟฟ้าที่เป็นเส้นทางการโยน พบว่ามีเส้นบะหมี่ติดอยู่เป็นกระจุกเลย บะหมี่ลอยฟ้านี้ขายดี และอร่อยสมคำโฆษณาของพ่อบุญ (รอดตัวไป) จากนั้นเราก็ไปกินขนมน้ำแข็งไส จำพวกซาหริ่ม ทับทิมกรอบ รวมมิตร ขนมใส่น้ำกระทิสด กับน้ำเชื่อมหอมๆ ที่ไสน้ำแข็งด้วยม้าไม้แบบโบราณนี้หอมอร่อยมาก
         ของโปรดอื่นๆในตลาดโต้รุ่งสัตหีบ ยังมี โรตีอมตะรส ที่ต้องยืนรอคิวกันเลย เพราะทอดร้อนๆ กรอบๆ ชุ่มนมข้นหวานและน้ำตาล  พี่บางคนชอบทานน้ำเต้าหู้ เต้าฮวย ก็มีเจ้าเก่าที่ขายมานานแล้วเช่นกัน ไม่รวมถึงขนมถาด ขนมไทยๆ พวกขนมชั้น หม้อแกง ทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทอง ฯลฯ
         บะหมี่ลอยฟ้านี้ ตอนหลังขายดีจนไม่ต้องโยนลอยฟ้าก็ขายได้ แม่แก้วจำได้ว่าไปกินได้ไม่กี่ครั้งก็ไม่ลอยฟ้าแล้ว และภายหลังรูปแบบร้านก็เปลี่ยนไปจนไม่รู้ว่ายังเป็นร้านเดิมหรือเปล่า ส่วนโรตีอมตะรสรถเข็นนี้ยังขายอยู่ บางช่วงเปิดขายสองร้านทั้งหัวถนนท้ายถนนเลย    
         อยู่ในเกล็ดแก้ว อาหารการกินมีให้เลือกน้อยไม่มีอะไรแปลกใหม่ การไปตลาดโต้รุ่งแต่ละครั้งจึงเหมือนกับคนตะกละ เห็นอะไรก็อยากกินไปหมด เพราะมีของกินร้อนๆ อร่อยๆให้เลือกหลายร้าน กินของคาว ของหวานจนอิ่มแปล้ แล้วยังซื้อขนม และผลไม้ต่างๆติดมือกลับบ้านพักอีก
         ขากลับจากตลาดโต้รุ่ง แม่แก้วจึงอิ่มและมีความสุขมาก ต้องขอบคุณคนพาไปเที่ยวตลาดโต้รุ่งจริงๆ (เอาไป ๑๐ คะแนนเต็มเลย)  ^^

6/28/2558

ตอนที่ ๑๒ ไปเที่ยวบางเสร่

               การใช้ชีวิตในเกล็ดแก้วนี้  แม้ว่าจะได้ทำงานริมทะเลที่มีธรรมชาติสวยงาม  แต่ชีวิตค่อนข้างราบเรียบ  พวกเราจึงมักหาโอกาสออกไปเปิดหูเปิดตานอกรั้ว รร. เสมอ  สำหรับแม่แก้วแล้ว การได้ออกนอกรั้ว รร.ชุมพลฯ แต่ละครั้ง จะมีพ่อบุญเป็นตัวตั้งตัวตีมาคอยชวนออกไปเที่ยวที่โน่นที่นี่เสมอ
         หนนี้ก็อีกเข่นเคย ในวันหยุดวันสำคัญทางพระพุทธศาสนากลางสัปดาห์  พ่อบุญมาชวนแม่แก้ว และเพื่อนๆไปเวียนเทียนที่วัดบางเสร่   (ชื่อเต็มๆว่า "วัดบางเสร่คงคาราม") พวกเราจึงดีใจที่จะได้ไปเวียนเทียน และได้ไปเที่ยวบางเสร่
         ในสมัยนั้นชุมชนที่เจริญมากๆที่อยู่ใกล้กับ รร.ชุมพลฯมากที่สุด เห็นจะได้แก่"บางเสร่"(จริงๆคือ "ตำบลบางเสร่"แต่เรานิยมเรียกว่า"บางเสร่") ในตอนหัวค่ำ พวกเราจึงมักออกจากหลังเขาไปหาแสงสีที่บางเสร่ ไปกินของกินอร่อยๆ จากร้านอาหารข้างทาง จำพวกก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้ม ขนมไทยๆ ไปซื้อของใช้บางอย่างที่ใน รร.ชุมพลฯ ไม่มีขาย ไปเที่ยวตลาดนัดบางเสร่  ไปกินอาหารทะเล (รร.พาไปเลี้ยง)  และไปเที่ยวงานวัด ฯลฯ
         ความทรงจำของแม่แก้วที่เกี่ยวกับวัดบางเสร่ เห็นจะเป็นเรื่องการไปเวียนเทียน และการไปเที่ยวงานวัดบางเสร่ ตอนไปเวียนเทียนนี้นัดหมายกันขับรถมอเตอร์ไซด์ไปกันเป็นกลุ่ม โดยขับออกจาก รร. ผ่านเนินมะค่า ลงเนินผ่านเจ้าพ่อเขาช้าง แล้วขึ้นเนินเข้าสู่เขต รร.พลทหาร เลี้ยวซ้ายไปทางเขตบ้านพักของ รร.พลทหาร (ทางขวาเป็น บก. และกองร้อยต่างๆ ของ รร.พลทหาร) ก่อนถึงหาด รร.พลทหาร จะเลี้ยวขวาออกประตูจุดรักษาการณ์บางเสร่  เป็นประตูเล็กๆที่ซ่อนอยู่ใน รร.พลทหาร ประตูนี้ทำให้เราออกไปบางเสร่ได้โดยไม่ต้องออกไปที่ปากทางถนนสุขุมวิทซึ่งไกลกว่า  พอออกจากประตูเล็กนี้ได้ ก็ขับลัดเลาะไปตามเส้นทางเล็กๆ ผ่านบางเสร่คอนโดมิเนียม ผ่านบ้านเรือน ร้านค้า และหมู่บ้านชาวประมง ที่มีการตากปลา ตากหมึก เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของบางเสร่ จึงได้แก่ กลิ่นคาวของอาหารทะเลตากแห้ง ที่มีเป็นระยะตลอดทางในหมู่บ้าน
         วัดบางเสร่ เป็นวัดใหญ่ที่อยู่ใจกลางหมู่บ้านบางเสร่ ตั้งอยู่ใกล้หาดบางเสร่ มีถนนเล็กคั่นระหว่างวัดกับทะเล  เมื่อไปถึงวัด จอดรถเสร็จ พวกเราก็รวมตัวกันเวียนเทียน เวียนเทียนเสร็จต่างก็แยกย้ายกันขึ้นรถใครรถมันขับกลับเกล็ดแก้ว ขากลับนี้ทางมืดมาก
         แม่แก้วซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์กลับกับพ่อบุญ พอออกมาจากวัดได้สักพัก รถก็ส่ายเสียหลัก พ่อบุญจึงจอดรถลงมาดูแล้วพบว่ายางหลังแบน (อีกแล้ว) เรื่องยางแบนกับพ่อบุญนี่ดูจะสมพงษ์กันจริงๆ  แม่แก้วว่าถ้าสร้างสมการทางคณิตศาสตร์ได้ จะมีสมการ ดังนี้

(แม่แก้ว + พ่อบุญ+ รถมอเตอร์ไซด์)    =    ยางแบน

                                                   =    (พ่อบุญเข็นรถไปปะยาง + แม่แก้วเดินไปเป็นเพื่อน)

          รถของเพื่อนๆได้ขับขึ้นหน้าหายไปหมดแล้ว สมัยนั้นไม่มีโทรศัพท์มือถือที่จะโทรตามใครมาช่วย ภาระหน้าที่ในการเข็นรถจึงตกอยู่กับพ่อบุญ (เขาคงเกิดมาเพื่อดูแลเราจริงๆ) คราวก่อนๆที่ยางแบนเป็นเวลากลางวัน แต่หนนี้เป็นเวลากลางคืนที่ร้านปะยางปิดหมดแล้ว พ่อบุญเลยต้องเข็นรถกลับ รร.ชุมพลฯ ก่อน
         หนนี้ระยะทางที่เข็นน่าจะประมาณ ๓ -๔ กม. การเข็นรถท่ามกลางแสงจันทร์ในวันพระใหญ่นี้พระจันทร์ดวงกลมโตสวยงามมาก แม่แก้วเดินไปคุยไปไม่เห็นเหนื่อยเลย ส่วนพ่อบุญก็เดินไปเข็นรถไปคุยไปเหนื่อยหรือเปล่าไม่รู้ (หนนี้เลยได้คุยกันนานเป็นชั่วโมง สมใจพ่อบุญเลย ๕๕) แต่ช่วงเข็นรถขึ้นเนินเขานี่เห็นว่าหอบเลย คืนนั้นกว่าจะถึงบ้านพักก็ใช้เวลาเป็นชั่วโมงเลยทีเดียว
         ความทรงจำอีกอย่างหนึ่ง คือ การไปเที่ยวงานวัดบางเสร่ ทุกปีจะมีงานวัด และผู้คนใน รร.ชุมพลฯ จะต้องออกไปเที่ยวงานวัดกันอย่างน้อย ๑ ครั้ง แม่แก้วอยู่กรุงเทพฯ ไม่ค่อยสนใจเดินงานวัด เพราะมีห้างฯให้เดินเที่ยว แต่มาอยู่เกล็ดแก้วนี้ ไม่มีทางเลือก แสงสีอย่างเดียวที่เราจะออกจากเมืองหลังเขาไปเที่ยวได้ไม่ไกลนัก ก็เห็นจะเป็นงานวัดบางเสร่  หนนี้ก็อีกเช่นกันที่เรานัดกันไปเที่ยวงานวัดเป็นกลุ่ม ไปไหว้พระ แล้วหาของกินเล่นในวัด เล่นการละเล่นต่างๆ พวกยิงปืน และที่ขาดไม่ได้คือ การนั่งชิงช้าสวรรค์  ช่วงนั้นหนุ่มสาวอย่างเราเริ่มจับคู่นับญาติกันแล้ว ใครคู่ใครก็นั่งชิงช้าคู่กันคุยกันไป แม่แก้วจำไม่ได้ว่านับญาติกับพ่อบุญหรือยัง แต่ก็ได้ขึ้นชิงช้าสวรรค์คู่กับพ่อบุญ ชิงช้าสวรรค์ในงานวัดนี้เก่ามาก การขึ้นชิงช้าสวรรค์จึงมีการแถมให้นั่งนานเสมอ เพราะเครื่องยนต์ที่หมุนชิงช้าขัดข้อง หนนี้ก็เช่นกัน พวกเราได้แถมให้นั่งนานขึ้นเพราะเครื่องขัดข้อง แต่ไม่มีใครบ่นเพราะได้อยู่ใกล้ญาติของตนนานขึ้น
         หมู่บ้านบางเสร่มีเสน่ห์มาก ในยามเช้าจะมีตลาดเช้า และตลาดเย็น ริมถนน มีอาหารการกินร้อนๆ จำพวกโจ๊ก หมูปิ้ง ข้าวแกง ผัก และปลาสดๆ อยู่สัตหีบนี้ เราได้กินอาหารทะเลสด เพราะชาวบ้านบางเสร่มีอาชีพทำประมง อาหารทะเล ปลาสดๆ หมึกสดๆ และกุ้งทะเลสดๆ (ไม่ใช่กุ้งเลี้ยงในนากุ้ง) มีให้ซื้อหามาทำอาหารการกิน  ส่วนช่วงหัวค่ำก็มีร้านอาหารเล็กๆเปิดขายหลายร้าน รวมถึงมีร้านอาหารทะเลราคาแพงที่เราไม่มีเงินมากพอไปกิน แต่มีโอกาสได้ไปกินเวลามีงานเลี้ยงของหน่วยในโอกาสต่างๆ
         เดือนที่ผ่านมา  แม่แก้วชวนพ่อบุญไปเที่ยวบางเสร่อีกครั้ง ไปตามหาป้าน้อยร้านส้มตำเจ้าอร่อยที่ขายอยู่ที่วัดบางเสร่ เมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้ว หลังจากไปตามหามาหลายครั้ง จนพบว่ายังขายอยู่จนทุกวันนี้ คนขายแก่ลง คนกินที่ยังตามมากินก็แก่ลงเช่นกัน ส้มตำร้านนี้ย้ายลงมาอยู่ที่ถนนชายทะเลบางเสร่ ยังคงรสชาติความอร่อยดั้งเดิม ส้มตำปูม้า ยำปูม้าดอง ปูม้าตัวเล็กๆนี้สดมาก และราคาไม่แพง ร้านดั้งเดิมอีกร้าน ได้แก่ ร้านข้าวเหนียวมะม่วงแม่พยอมก็เช่นกัน ยังคงขายอยู่ ข้าวเหนียวมูลใบเตยเม็ดสวยชุ่มกระทิสีเขียว กับมะม่วงน้ำดอกไม้สุกรสชาติอร่อย ที่ขายดีหมดแต่วันเช่นเดิม
         บางเสร่ในวันนี้ มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด คือ มีตึก มีร้านค้า หมู่บ้าน ที่พัก รีสอร์ท และ คอนโดมิเนียมเกิดขึ้นมากมาย  มีถนนชายทะเล มีร้านนวด มีบาร์เบียร์ มีฝรั่งเดินกันขวักไขว่ ว่ากันว่า ความเจริญจากพัทยาขยายตัวมาถึงบางเสร่  และเริ่มมาถึงสัตหีบ ฝรั่งที่มีเมียไทยมาซื้อบ้านอยู่ตามหมู่บ้านมากมาย เรื่องนี้เห็นได้ชัดตอนแม่แก้วไปหาซื้อบ้านสำหรับไว้อยู่ตอนเกษียณ บ้านและที่ดินในสัตหีบราคาสูงขึ้นมากและขึ้นราคาทุกปี นอกจากทหารเรือแล้วจะมีฝรั่งมาซื้อแซมอยู่ตามหมู่บ้าน บ้านที่แม่แก้วซื้อก็มีฝรั่งมาซื้ออยู่ฝั่งตรงข้าม สำหรับคนงานสร้างบ้าน ก็เป็นคนงานชาวพม่า ที่ขยัน และยิ้มแย้มแจ่มใส ที่ดินที่เคยเป็นป่าเปลี่ยว กลายเป็นหมู่บ้านผุดขึ้นมากมาย
         สำหรับแม่แก้วแล้ว ความทรงจำที่เกี่ยวกับบางเสร่ คือ ความคึกคักของหมู่บ้านชาวประมง ที่มีของกินอร่อยๆราคาไม่แพง การเวียนเทียน รถยางแบน การเข็นรถ เที่ยวงานวัด ส้มตำ และข้าวเหนียวมะม่วง แม้ว่าเวลาผ่านไปถึงเกือบสามสิบปี และบางเสร่วันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ผู้คนและร้านเก่าแก่ก็ยังคงซ่อนตัวอยู่ในบางเสร่ รอให้เรากลับไปเยี่ยมเยือนอีกครั้ง ^^

6/27/2558

ตอนที่ ๑๑ ปล่อยลงแผง

            สมัยยังเป็นโสด ชีวิตประจำวันตั้งแต่วันจันทร์ ถึงวันศุกร์ ของแม่แก้วในเกล็ดแก้วเมืองเล็กๆแสนสวยริมทะเล มีวงจรชีวิตประจำวันที่สบายๆ ไม่รีบร้อนเหมือนในเมืองหลวง กล่าวคือ ตื่นเช้าประมาณ ๐๗๓๐ อาบน้ำแต่งตัวไปทำงานที่ บก. ที่ทำงานอยู่ห่างบ้านพักซอย ๓ ประมาณ ๕๐๐ เมตร  ใช้เวลาขับรถมอเตอร์ไซด์ไม่เกิน ๕ นาที ไปถึงที่ทำงานสัก ๐๘๐๕  กินข้าวแกงที่ร้านของครอบครัวนายทหารทำมาขายในห้องอาหาร บก. (สมัยนั้นข้าวแกงจานละ ๕-๖ บาท และของโปรด คือ ไข่พะโล้หวานๆ) กินข้าวเสร็จก็มาแถวเวลา ๐๘๓๐ แถวเสร็จก็เตรียมตัวขับรถมอเตอรไซด์ขึ้นเขาไปสอนนักเรียน
           ระหว่างวัน ถ้าไม่มีชั่วโมงสอนก็นั่งทำงานเตรียมสอน ตรวจการบ้าน ออกข้อสอบ อ่านหนังสือหาเกร็ดความรู้ ข่าวสารสำคัญที่เกี่ยวกับเนื้อหาการสอน หรือข่าวสารบ้านเมืองที่สำคัญไว้เล่าแทรกหรือเป็นประเด็นคุยกับนักเรียน เพื่อไม่ให้การสอนมีแต่เรื่องวิชาการล้วนๆ กลางวันก็พักกินข้าว และทำงานต่อในช่วงบ่าย จนเลิกงานในตอนเย็น ขับรถมอเตอร์ไซด์ไปแผง ซื้อหาของกิน กลับบ้านพัก ทำงานบ้านซักผ้า รีดผ้า ถูบ้าน และขัดห้องน้ำ ตามวงรอบ ทานอาหารเย็น อาบน้ำพักผ่อน ดูทีวี และเข้านอน
           ในเกล็ดแก้วเมืองเล็กๆแห่งนี้ มี "แผง" เป็น ศูนย์รวมร้านค้าและร้านอาหาร  ทุกคนใน รร.ชุมพลฯ ตั้งแต่ข้าราชการ ทหาร ลูกจ้าง และครอบครัว รวมถึงนักเรียนจ่า จะมีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแผง ต้องแวะไปทำธุระที่แผงทุกวัน หรือเกือบทุกวัน
           แผง เป็นชื่อเรียกง่ายๆที่เราใช้เรียกสถานที่ที่ทาง รร. จัดไว้เป็นส่วนกลาง หากมาจากเนินมะค่า จะต้องเลี้ยวซ้ายแยกก่อนถึง บก. ขับมาเรื่อยๆ ผ่านศาลเจ้าพ่อขวานเพชร เจ้าพ่อแก้วฟ้า  และดริลฮอลล์  จะเจอแผงตั้งอยู่ทางซ้ายมือ  ก่อนถึงสี่แยกที่จะเลี้ยวขวาไปบ้านพักซอย ๓  แผงเหมือนเป็นจุดศูนย์กลางความเจริญที่สุดของเกล็ดแก้ว  อยู่ใกล้กับสโมสรประทวน  ตึกพักนายทหารประทวนโสด แผนกแพทย์ และตั้งอยู่ตรงกลางของหมู่บ้านพักซอยต่างๆภายในเกล็ดแก้ว 
           ในตอนเย็นหลังเลิกงาน แม่แก้วและเพื่อน รวมถึงใครอีกหลายๆคนหรือเกือบทุกคน จะต้องแวะไปแผงเพื่อซื้อหาข้าวของอาหารการกินก่อนกลับบ้านพัก  แผงประกอบด้วยลานจอดรถ และห้องแถวสองชั้นประมาณ ๖ - ๗ ห้อง จำนวนสองแถวเรียงหันหน้าเข้าหากัน โดยมีสนามหญ้ากั้นอยู่ตรงกลาง สุดห้องแถวจะเป็นแผงขายของกินจำพวกของปิ้ง ของทอด ผลไม้ และขนม ต่างๆ อยู่ระหว่างห้องแถวทั้งสองแถวที่หันหน้าชนกัน
           จอดรถเสร็จ เดินเลี้ยวซ้ายเข้าแผง ห้องแถวสองห้องแรก เรียกว่า "ภัณฑุปกรณ์" หรือ เรานิยมเรียกสั้นๆ ว่า "ภัณฑุฯ" ภัณฑุฯ คือ สถานที่ขายของกินของใช้ในชีวิตประจำวันของทหารเรือในราคาสวัสดิการ จำพวกข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำมันพืช น้ำปลา สบู่ ยาสีฟัน และแปรงสีฟัน ฯลฯ การซื้อของในภัณฑุฯนี้สามารถซื้อได้ทั้งเงินสด และซื้อแบบเชื่อ คือ ยังไม่จ่าย จดยอดไว้จ่ายตอนเงินเดือนออก ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่มีลูกมาก ชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงได้ภัณฑุฯ นี้เป็นที่พึ่งให้เชื่อข้าวไปหุงกินก่อนได้
           ถัดจากภัณฑุฯ จะเป็นร้านขายอาหารตามสั่ง ร้านขายของชำ ขายอาหารสดไปปรุงเอง ร้านขายขนม ของใช้ต่างๆ ฝั่งตรงข้ามเป็นร้านอาหารตามสั่ง ร้านส้มตำ ร้านตัดเสื้อ และร้านขายขนม ฯลฯ ตอนเย็นหลังเลิกงาน แม่แก้วชอบไปซื้อปีกไก่ย่าง กับข้าวเหนียวร้อนๆจากร้านแม่บ้านนายทหารเรือท่านหนึ่ง มากินรองท้องก่อนถึงมื้อเย็น และซื้อของใช้ที่ภัณฑุฯ กับข้าวกับปลากลับมาทำกินเองบ้าง บางครั้งถ้าไม่กินข้าวที่บ้าน ก็จะออกมากินอาหารตามสั่งที่แผง
           เจ้าของร้านในแผงล้วนเป็นข้าราชการ และลูกจ้างที่ทำงานใน รร.ชุมพลฯ มาเปิดร้านโดยช่วยกันกับแม่บ้านในการดูแลกิจการหารายได้พิเศษเลี้ยงดูครอบครัว  บรรยากาศในแผงจึงเป็นบรรยากาศแบบลูกทุ่งๆ ของเมืองเล็กๆในต่างจังหวัดที่รู้จักกันหมด ว่าใครเป็นใคร ใครเป็นผู้ย้ายมาใหม่ ทำงานที่กองไหน พอเดินเข้าแผงก็จะมีเสียงทักทายกันเกรียวกราว แม่บ้านทหารเรือของร้านอาหารตามสั่งจะจำได้ว่าใครชอบกินอะไร  ซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเกล็ดแก้ว ที่ต่างจากในเมืองหลวงอย่างมาก
           นักเรียนจ่าเองก็ชอบไปแผง  ใน รร. จะมีวันปล่อยลงแผงตอนช่วงเย็น นายทหารฝึกจะปล่อยนักเรียนไปผ่อนคลายซื้อหาของใช้ ของกินเล่น สักชั่วโมง ถ้าวันไหนนักเรียนได้ปล่อยลงแผง แผงจะคึกคักเป็นพิเศษ ในแผงทุกตารางนิ้วจะเต็มไปด้วยนักเรียนจำนวนเป็นร้อยนายที่เดินหาซื้อของกิน ขนม ดื่มน้ำอัดลม กินส้มตำ หาซื้อของกินของใช้ต่างๆ ไปตุนไว้แอบกินยามดึก เช่น มาม่า และปลากระป๋อง เป็นต้น
           บ้านไหนมีลูกสาวหน้าหน้าจิ้มลิ้ม (หรือไม่จิ้มลิ้มก็ได้) จะแต่งหน้าแต่งตัวสวยๆ มาช่วยกันขายของกินให้นักเรียน ช่วยดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน พูดคุยหยอกล้อกับนักเรียนตามประสาวัยรุ่น ถ้านักเรียนจำนวนนับร้อยได้ปล่อยแผง นักเรียนจะเป็นลูกค้ารายใหญ่และบุคคลสำคัญของแผงไปโดยอัตโนมัติ แม่ค้าจะสนใจยุ่งอยู่กับการขายให้นักเรียนเป็นหลัก  แม่แก้วเคยไปแผงตอนนักเรียนปล่อยลงแผง แม่ค้าจะไม่ว่างมาขายให้เรา เพราะต้องขายให้นักเรียนซึ่งมีจำนวนมาก และเวลาจำกัดก่อน แม่แก้วจึงเรียนรู้ว่า แม้แต่ครูก็ไม่ควรไปแย่งซื้อของในเวลาช่วงเวลาทองนั้น
           นักเรียนที่ลงแผง จะอาบน้ำปะแป้ง แต่งกายด้วยชุดตอนเย็น หน้าตาผ่องใส เดินมาเป็นคู่ๆ บ้าง สามสี่นายบ้าง การเดินของนักเรียนจะเดินเท้าพร้อม ด้วยท่าเดินแบบราชนาวี หน้าตรง อกผายไหล่ผึ่ง กำมือหลวมๆ ท่วงท่าสง่างาม พอเจอครู หรือผู้มียศสูงกว่า หรือรุ่นพี่ ก็จะหยุดชิดเท้าตะเบ๊ะทำความเคารพ พร้อมกับกล่าวคำว่า "สวัสดีครับ" ถ้าเจอถี่หน่อยก็หยุดเดินมาสวัสดีบ่อยๆตลอดทาง  แม่แก้วจึงมักหลีกเลี่ยงการผ่านเส้นทางที่จะเจอนักเรียนในตอนเย็น เพราะเกรงใจที่นักเรียนต้องหยุดเดินบ่อย
           ของกินที่แผงสำหรับนักเรียนทหาร เห็นจะไม่พ้นของกินที่ให้พลังงานสูง ราคาไม่แพง และได้ปริมาณมาก จำพวกกล้วยทอด เผือกทอด มันทอด บาเยียร์ (เป็นแป้งทอดใส่ข้าวโพดกินกับน้ำจิ้มคล้ายๆน้ำจิ้มทอดมันหวานๆ) ขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม ส้มตำ ไก่ย่าง ลาบ และน้ำตก เป็นต้น  ขอให้ผู้อ่านนึกถึงภาพนักเรียนจำนวนมากนับร้อยๆนาย รุมซื้ออาหารการกิน ของกินของใช้  นั่งกินพูดคุย หยอกล้อกัน บ้างก็ทำธุระเรื่องเสื้อผ้าจำพวกปรับทรงแก้ขนาดกับร้านตัดเสื้อในแผง แผงในตอนนักเรียนปล่อยลงแผงจึงมีสีสันและมีชีวิตชีวามาก  อาหารเหล่านี้จะขายหมดในแวลาอันรวดเร็ว
           ใน รร.ทหาร "ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน" บางวันแม่ค้าเตรียมอาหารไว้รอนักเรียนปล่อยแผง แต่นายทหารฝึกไม่ปล่อยนักเรียนลงแผง วันนั้นแม่ค้าจะขาดทุน และนายทหารฝึกก็จะถูกบ่นไปตามระเบียบ
           การพักผ่อนหย่อนใจอีกอย่างของนักเรียนทหารใน รร.หลังเขาแห่งนี้ คือ ในวันพุธบางสัปดาห์มีการจัดฉายภาพยนตร์ให้นักเรียนชมที่อาคารดริลฮอลล์ (ต่อไปขอใช้คำง่ายๆว่า "ฉายหนัง")  "ดริลฮอลล์" อยู่ก่อนถึงแผง ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามเยื้องๆ กับแผง  เป็นอาคารขนาดใหญ่ที่มีหลังคาสูงโล่งๆ ไม่มีผนัง พื้นเป็นพื้นปูนเปลือย  ใช้สำหรับเล่นกีฬาในร่ม และทำกิจกรรมต่างๆ วันที่ฉายหนังนี้ นักเรียนจะซื้อขนมมานั่งกินไปดูหนังไป ที่นั่งดูหนังก็เป็นม้านั่งยาวที่นั่งได้ตัวละ ๔ - ๕ นาย
           แม่แก้วและเพื่อนในรุ่น ชวนกันไปดูหนังที่ดริลฮอลล์  พวกเราตื่นเต้นที่จะได้ไปดูหนัง เตรียมแต่งตัวสวยๆหล่อๆ  หาซื้อขนมขบเคี้ยวไปด้วย คุณครูได้รับการจัดให้ไปนั่งดูหนังที่ชั้นบน ใกล้กับที่ฉายหนัง เป็นที่นั่งชั้นพิเศษ  ความคลาสสิคอยู่ที่ม้านั่งที่นั่งดูไม่ได้หุ้มฟองน้ำนุ่มๆเหมือนโรงหนังทั่วไป แต่เป็นเก้าอี้ไม้เนื้อดีแบบโบราณมีพนักพิง  ที่พิงให้เอนได้เหมือนเก้าอี้ในโรงหนัง  หนังที่มาฉายก็เป็นหนังเก่า มีเส้นเหมือนน้ำตกบนจอเป็นระยะ เพราะความเก่าของฟิล์ม ส่วนเสียงพากย์ดังก้องๆฟังไม่ค่อยชัดเท่าไร วันนั้นเราจึงดูหนังไม่ทันจบเรื่องก็ชวนกันกลับบ้านพัก 
           สำหรับแม่แก้วแล้ว การมีแผง และโรงหนัง (แบบย้อนยุค) ในเกล็ดแก้วแห่งนี้  คงเป็นข้อยืนยันได้อย่างดีว่า เกล็ดแก้วเป็นเมืองเล็กๆหลังเขาที่มีความสมบูรณ์ในตัวเองจริงๆ ^^

 

ตอนที่ ๑๐ รถมอเตอร์ไซด์คันแรก

            เมื่อไปทำงานที่เกล็ดแก้วได้สักพัก  น้องใหม่อย่างเราเริ่มขยับขยายหาพาหนะส่วนตัวมาใช้เพื่อความสะดวกในการไปทำงาน และไปไหนมาไหน  แม่แก้วทำงานใหม่ๆยังไม่มีเงินเดือน และเงินเก็บพอที่จะซื้อรถมอเตอร์ไซด์  จึงได้ขอให้อาหยี่เจ๊ก หรือคุณอาช่วยซื้อรถมอเตอร์ไซด์มือสองให้
         แม่แก้วไม่เคยขี่รถมอเตอร์ไซด์มาก่อน  ขี่เป็นแต่รถจักรยาน  หัดขี่ใหม่ๆจึงทุลักทุเลมาก หากขี่ทางราบจากบ้านไปทำงานที่ บก. ก็พอเอาตัวรอดได้ไม่มีปัญหา  ตอนขับไปสอนครั้งแรก ต้องขับขึ้นเขา  แม่แก้วตั้งใจมาก ขับหน้าตั้งเหยียบคันเร่งอย่างเดียวไม่ให้รถไหลลงเขา  ถนนขึ้นเขาเป็นถนนลูกรังเล็กๆสีแดง ขาขึ้นไปสอนนี้ พอขับไปถึงหน้าห้องเรียนจอดรถได้เรียบร้อยแล้ว แม่แก้วจะถอนหายใจอย่างโล่งอกหนึ่งทีก่อนเข้าไปสอน  สอนเสร็จก็ออกมายืนมองดูรถมอเตอร์ไซด์สลับกับมองเนินเขาที่เราจะขับกลับ บก.   แม่แก้วไม่รู้ว่าจะขับลงเขาอย่างไร ก่อนมาถามวิธีขับจากพี่ๆมาแล้ว  แต่เอาเข้าจริงมองไปแล้วทางลงเขานี้น่าหวาดเสียวมาก ทางเป็นลูกรัง ไม่เรียบ มีหินตะปุ่มตะป่ำ เป็นร่องน้ำเซาะบางช่วง ยิ่งดูก็ยิ่งหนักใจ  ทำไงดีจะลงจากเขาได้หนอ
         นักเรียนจ่าที่เป็นลูกศิษย์มายืนล้อมวงเอาใจช่วยให้แม่แก้วขับรถลงเขาให้ได้  หนแรกนี้ ยังไม่ทันลงเขารถก็ล้มเสียก่อน  นักเรียนสุภาพบุรุษทหารเรือน้อยเลยต้องช่วยยกรถขึ้นแล้วขับพาครูมาส่งข้างล่าง (ก่อนจะขับรถให้ครูนี้ นักเรียนก็เหลียวซ้ายแลขวาจนแน่ใจว่าปลอดจากนายทหารฝึกมาเห็น เดี๋ยวถูกทำโทษว่าขับรถใน รร. พอส่งครูเสร็จนักเรียนก็รีบวิ่งกลับให้พ้นรถไวๆ)  อีกหนก็ขอให้นายทหารฝึกช่วยขับลงมาส่ง  พอหนต่อมา แม่แก้วคิดตรองดูแล้วว่า เราต้องไปสอนทุกวันจะมัวมากลัวแบบนี้เห็นทีจะไม่ไหว  เลยฮึดสู้เลยแข็งใจหลับหูหลับตากลั้นใจขับลงมาเอง ตอนนั้นท่องวิธีขับลงเขามาแล้วอย่างขึ้นใจ โดยใช้เกียร์ ๑ กับเหยียบเบรคเป็นระยะๆ เพื่อลดความเร็วตลอดทางลงเขา ในที่สุดแม่แก้วก็ขับลงเขาได้โดยสวัสดิภาพ
         เรื่องขับรถตกเขานี้ (จริงๆไม่ใช่เขาลูกใหญ่โตอะไร เป็นเนินเขาเล็กๆ แต่พวกเราก็เรียกว่าเขา) ครูผู้หญิงบางท่านเคยขับรถตกเขา ถลอกปอกเปิกกันมาแล้ว ดังที่ได้เล่าในตอนก่อนหน้านี้ ส่วนแม่แก้วนั้นเคยขับรถล้มสองครั้ง ครั้งแรกบนเขา และอีกครั้งตอนทิ้งโค้งเลี้ยวเข้าบ้านแฝดซอย ๓ หินเกล็ดที่โรยบนพื้นถนนแฉลบทำให้รถล้มตอนเข้าโค้ง  น่าแปลกที่ทุกครั้งที่รถล้ม คนที่เห็นเหตุการณ์ มักจะอมยิ้ม หรือไม่ก็หัวเราะขำๆ บางคนถึงกับหัวเราะเสียงดัง  ขณะที่แม่แก้วไม่ขำด้วยสักนิด และรู้สึกเสียฟอร์มมาก พ่อบุญบอกว่า ท่าทางการขี่มอเตอร์ไซด์ของแม่แก้วดูเก้งก้าง สะเงาะสะแงะ ไม่ค่อยมั่นคง เหมือนพร้อมที่จะเสียหลักล้มได้ตลอดเวลา (คงเป็นข้ออ้างให้แม่แก้วไปซ้อนรถพ่อบุญมากกว่า)
         รถมอเตอร์ไซด์ต้องใช้น้ำมัน น้ำมันที่เติมก็ซื้อเอาตามร้านค้าใน รร. ที่เขาซื้อน้ำมันจากปั๊มมาแบ่งขายใส่ในขวดแม่โขง ขวดละประมาณ ๑๐ บาท  เติมครั้งละขวดสองขวดก็วิ่งไปได้หลายวัน การมีรถมอเตอร์ไซด์ใช้นี้ทำให้เราสะดวกสบายขึ้นมาก เพราะเหมือนมีขาที่วิ่งไปไหนมาไหนได้รวดเร็วใน รร. ที่กว้างใหญ่แห่งนี้
         บางคราวรถยางแบน ต้องเข็นไปปะยางในบ้านพักข้าราชการที่รับซ่อมมอเตอร์ไซด์ น่าแปลกมากที่ทุกครั้งที่รถยางแบน  พ่อบุญมักจะอยู่ในเหตุการณ์และกุลีกุจอเข้ามาช่วยตรวจดูอาการของรถ และช่วยเข็นรถไปส่งร้านซ่อมเสมอ (ร้านอยู่ไกลเป็นกิโล)  ปะยางเสร็จ พ่อบุญมักถามว่า วันนี้ได้กี่คะแนน (จนแม่แก้วชักสงสัยแล้วว่ายางแบนเอง หรือมีคนทำให้แบน)
         หลังจากได้รถมาใช้ประมาณ ๑ เดือน แม่แก้วก็ขับได้คล่องขึ้น ขับขึ้นลงเขาไปสอนได้ชำนาญขึ้น และไม่ล้มอีกเลย ^^

6/26/2558

ตอนที่ ๙ แผนกแพทย์และการเจ็บป่วยของนักเรียน (เรื่องมันเศร้า)

          ดังที่เคยเล่าในตอนที่ผ่านมาว่า รร.ชุมพลฯ เหมือนเมืองเล็กๆที่มีทุกอย่างในตัวเอง แผนกแพทย์ ดูจะเทียบเคียงได้กับโรงพยาบาลขนาดเล็กในเมืองหลังเขาแห่งนี้เช่นกัน
         แผนกแพทย์ มีลักษณะเป็นอาคารแยกตัวออกมาจาก บก. ห่างสักประมาณเกือบกิโลเห็นจะได้ มีคุณหมอนายทหารที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยมาประจำอยู่ นอกจากนี้ยังมี หมอฟันที่จบปริญญามา และผู้ช่วยหมอฟัน  มีพยาบาล และผู้ช่วยพยาบาล ซึ่งเป็นข้าราชการเหล่าแพทย์ที่เป็นนายทหารสัญญาบัตร และประทวนประจำอยู่อีกหลายท่าน (ทหารเรือเรานิยมเรียกเหล่าแพทย์ว่าหมอหมด ไม่ว่าจะเป็นนายแพทย์ปริญญา หรือเหล่าแพทย์ที่เป็นพยาบาลทั้งชายและหญิง)  ในสายตาแม่แก้วแผนกแพทย์เหมือนอนามัยขนาดเล็กประจำตำบล แต่ต่างจากอนามัยตรงที่มีเตียงให้นักเรียนจ่าที่ป่วยนอนพักรักษาตัวได้
         อากาศชายทะเลใน รร.ชุมพลฯ บริสุทธิ์สะอาดปราศจากมลพิษ ในช่วงแรกๆที่แม่แก้วไปอยู่ใหม่ๆ จึงไม่เคยเป็นหวัด จะมีป่วยบ้างก็เจ็บคอ เพราะใช้เสียงสอนนักเรียนหลายชั่วโมงติดต่อกัน (สมัยนั้นไม่มีการใช้ไมโครโฟน)  เมื่อป่วยนิดหน่อยจึงรีบไปใช้บริการแผนกแพทย์ เพราะอยากรู้จักคุณหมอซึ่งเป็นหมอที่มาบรรจุใหม่ๆเช่นเดียวกับแม่แก้วและเพื่อนในรุ่น และไปดูบรรยากาศในแผนกแพทย์ว่าเป็นอย่างไร
         แผนกแพทย์ในตอนเช้าดูจะคึกคักเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงที่นักเรียนที่เจ็บไข้ได้ป่วยได้รับการจำหน่ายยอดหรืออนุญาตให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา และรับยากลับมาทาน จึงมีนักเรียนหลายนายนั่งรอเรียกตรวจที่ม้านั่งยาวตรงห้องโถงกลาง มีทั้งเจ็บป่วยเล็กน้อยๆ จนถึงเจ็บป่วยแบบแขนขาหักเข้าเฝือก ที่เดินแบบใช้ไม้เท้าค้ำใต้รักแร้ก็มี  มองไปด้านซ้ายมือเป็นห้องทำแผล มีนักเรียนกำลังนั่งให้คุณจ่าพยาบาลชายทำแผล
         แม่แก้วชอบแอบมองนักเรียนถูกทำแผล บรรยากาศ คือ นักเรียนที่บาดเจ็บมีบาดแผลจากอุบัติเหตุในการฝึกหรือเล่นกีฬา จะมานั่งให้หมอล้างแผลและพันผ้าพันแผลใหม่ แต่ที่น่าสยดสยองมากกว่า คือ นักเรียนที่ต้องถอดเล็บ เพราะบาดเจ็บเล็บขบเล็บถอดที่เท้า คุณหมอจะถอดเล็บเท้าสดๆ (มักเป็นหัวแม่เท้า) พอดึงเล็บออก เลือดสีแดงแปร๊ดก็ตามออกมา ไหลลงสู่กระโถนที่รองรับทั้งเลือดและผ้าซับแผล ถอดเล็บเสร็จหมอก็ทายา แล้วพันผ้าพันแผลให้นักเรียน นักเรียนก็เดินกระโผลกกระเผลกกลับไปเรียนต่อ (สงสารนักเรียน เพราะ เท้าเจ็บยังต้องเดินไกล)
         นักเรียนที่ป่วยนอนพักแผนกแพทย์ มีทั้งแบบที่เป็นโรคติดต่อ เช่น ตาแดง ไข้หวัดใหญ่ และที่ป่วยขาหักเข้าเฝือก เดินไปเรียนไม่ไหว เรื่องนักเรียนป่วยนี้ มีอยู่คราวหนึ่ง แม่แก้วแวะไปเยี่ยมนักเรียนที่แผนกแพทย์ในตอนเย็น แล้วเห็นนักเรียนนายหนึ่งกำลังอาเจียนอย่างรุนแรง ด้วยลักษณะอาการตัวดีดเกร็งขึ้นมาอาเจียน มีคุณหมอคอยดูอาการอยู่ใกล้ๆ ดูน่าเป็นห่วงมาก พอเช้าวันรุ่งขึ้นก็ได้ข่าวว่านักเรียนเสียชีวิตแล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา สาเหตุคือ เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
         ในสมัยนั้น นักเรียนจ่าส่วนหนึ่งมาจากครอบครัวชาวไร่ชาวนาที่ยากจน มาเป็นนักเรียนจ่าเอาเหงื่อแลกข้าวแลกเงินเดือน มีบ้านอยู่ทางภาคอีสาน หรือพื้นที่ห่างไกล จึงไม่ค่อยได้กลับบ้าน มักรับจ้างเพื่อนที่มีฐานะกว่าเข้าเวรในวันหยุด  นักเรียนที่เสียชีวิตนี้ ก็เช่นเดียวกัน เป็นเด็กยากจน ที่เรียนดี เงินเดือนที่ได้มาจากการเป็นนักเรียนจ่าแต่ละเดือนจะส่งให้ทางบ้าน เพื่อเลี้ยงดูส่งเสียยายและน้องที่ไม่มีรายได้อะไร  
         สาเหตุที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากช่วงปล่อยกลับบ้านไปเล่นกับลูกสุนัขและถูกกัดเป็นแผลถลอกเล็กน้อย ทำให้ได้รับเชื้อจนเกิดอาการป่วยและเสียชีวิต  ทาง รร. ได้ดูแลจัดการทำพิธีศพให้นักเรียนอย่างดี ที่วัดบางเสร่ มีการรับญาติมางานและดูแลญาติของนักเรียนอย่างดีตลอดช่วงจัดพิธีศพ ในวันเผาศพนักเรียน แม่แก้วจำได้แม่นเพราะบรรยากาศเศร้ามาก ญาติของนักเรียนร้องไห้สะอึกสะอื้นด้วยความเสียใจ  เพื่อนนักเรียนยืนแถวไว้อาลัย มีการเป่าแตรนอนให้กับนักเรียนก่อนที่จะทำการฌาปนกิจศพ  เสียงแตรนอนในวันนั้นโหยหวนกว่าทุกวัน เหมือนเป็นการอำลานักเรียนครั้งสุดท้าย เป็นการนอนหลับครั้งสุดท้ายไม่ต้องตื่นอีกแล้ว ขอให้นอนหลับอย่างสงบ และไปสู่สุคติเถิด
         เหตุการณ์สำคัญๆเรื่องการเจ็บป่วยของนักเรียนในช่วงที่แม่แก้วอยู่ รร.ชุมพลฯ ยังมีเรื่องของการติดเชื้อเอดส์ (หรือ HIV) สมัยนั้นเพิ่งจะมีโรคเอดส์อุบัติขึ้นใหม่ๆ เป็นที่หวาดกลัวและตื่นตัวกันมาก ในยุคนั้นการรู้จักป้องกันยังน้อย จึงมีผู้ติดเชื้อหลายราย ผู้ป่วยที่แม่แก้วรู้จักจะเห็นว่าค่อยๆป่วย จากที่เคยหล่อเหลา จะป่วยผอมหมองคล้ำไม่มีสง่าราศรีมาทำงาน จากนั้นก็มาทำงานไม่ไหว ต้องจากไปพักรักษาตัว และได้ข่าวว่าเสียชีวิตตามมาในที่สุด
         นักเรียนจ่าก็เช่นกัน ด้วยความที่อยู่ในวัยรุ่นหนุ่มคะนอง  ทาง รร. จึงได้ตรวจเลือดนักเรียนทุกนาย และผลตรวจเลือดพบว่ามีประมาณสองสามนายมีเชื้อนี้อยู่ในร่างกาย ทาง รร.จึงจำต้องปลดและส่งตัวกลับบ้าน เนื่องจากเป็นโรคติดต่อ ที่ไม่สามารถให้อยู่ต่อได้  แม่แก้วได้แต่ร่ำลานักเรียนที่ต้องเก็บข้าวเก็บของกลับบ้านหลังจากทราบผลตรวจ
         เรื่องราวในตอนนี้ จึงเป็นความทรงจำที่เศร้าๆ แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่ชีวิตของเราจะมีแต่เรื่องสุขสนุกสนานอย่างเดียว Diary @ เกล็ดแก้ว ในตอนนี้จึงเป็นเรื่องเศร้าที่จำเป็นต้องบันทึกไว้ L

ตอนที่ ๘ การสอบของนักเรียนจ่า

            หลังจากที่กลับจากฝึกทหารแล้ว แม่แก้วก็กลับมาทำงานสอนนักเรียนที่ รร.ชุมพลฯ ต่อ ช่วงต้นปี ราวเดือนมกราคม ถึงกุมภาพันธ์ เป็นช่วงการเตรียมการสอบปลายภาคให้กับนักเรียนจ่า ช่วงนี้ครูจะมีงานในการสอนทบทวนสรุปเนื้อหาที่เรียนมาให้กับนักเรียน  และออกข้อสอบส่งให้คณะกรรมการที่ทาง รร. แต่งตั้งให้จัดการสอบ
           การสอบความรู้นักเรียนเป็นงานสำคัญ เพราะผลการสอบความรู้มีผลต่อการจัดเรียงอาวุโสในรุ่น และอนาคตของนักเรียน  การดำเนินการจึงมีขั้นตอนเป็นระบบ  มีการรักษาความลับอย่างดี เริ่มตั้งแต่การออกข้อสอบต้องเขียนด้วยลายมือของครู ส่งให้เลขานุการสอบตามกำหนดเวลานัดหมาย จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการจัดทำข้อสอบที่ทำในห้องที่จัดไว้เฉพาะ มีการกำหนดผู้เข้าออก การพิมพ์ข้อสอบพิมพ์กระดาษไขสำหรับโรเนียวด้วยเครื่องพิมพ์ดีด (สมัยนั้นยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์)  เมื่อพิมพ์กระดาษไขตรวจสอบความถูกต้องแล้ว จึงจะส่งให้ทีมคลังตำรา ซึ่งนำเครื่องโรเนียวพร้อมกระดาษกองโตมาตั้งไว้รอพร้อมจัดทำข้อสอบในห้องพิมพ์ข้อสอบ  นำกระดาษไขมาโรเนียวข้อสอบเป็นร้อยๆชุด จัดชุดใส่ซองตามห้องสอบ จัดเก็บไว้รอเวลานำข้อสอบไปใช้สอบ
           ขั้นตอนเหล่านี้แม่แก้วค่อยๆเรียนรู้จากรุ่นพี่ที่ทำงานมาก่อน ความที่อยู่ รร.ชุมพลฯ หลายปี จึงจดจำขั้นตอนต่างๆได้และนำไปใช้ประโยชน์ในการรับราชการเมื่อเติบโตขึ้น ทั้งการเป็นเลขานุการการสอบเลื่อนฐานะ การออกแบบผังข้อสอบ  เทคนิคการออกข้อสอบ  ซึ่งแม่แก้วคิดว่าคนที่ออกแบบระบบนี้มีความรู้ และบริหารงานเรื่องนี้ได้อย่างเป็นระบบมาก   
           พอถึงวันสอบที่กำหนดไว้  ผู้ที่ได้รับหน้าที่คุมสอบก็จะไปรอที่ห้องสอบ ทีมเลขาฯจะจัดคนไปส่งข้อสอบที่ห้อง สมัยนั้นมีการใช้วิทยุสื่อสารระหว่างกัน เนื่องจากห้องสอบที่จัดจากห้องเรียนใน รร.ชุมพลฯ มีพื้นที่กว้างมาก  เมื่อข้อสอบส่งเสร็จ จะมีเสียงตามสายประกาศให้แจกข้อสอบ ลงมือทำข้อสอบ ขณะสอบหากนักเรียนมีข้อสงสัยในข้อสอบสามารถยกมือถามได้ ทางครูที่คุมสอบจะส่งข้อมูลมาที่ฝ่ายเลขาฯ ให้ตรวจสอบ สอบถามเจ้าของวิชา ว่าจะมีการแก้ไข หรือไม่แก้ไข  แจ้งกลับมาให้ครูคุมสอบชี้แจงนักเรียน  ก่อนหมดเวลาสอบ ๑๕ นาที มีการประกาศเตือน และเมื่อประกาศหมดเวลาสอบก็ให้วางปากกา  ส่งข้อสอบและใบตอบให้ครู ครูจะนับเรียงเลขที่ปิดซองเซ็นกำกับ และนำส่งฝ่ายเลขาฯรวบรวม เพื่อนำส่งให้ครูเจ้าของวิชาไปตรวจให้คะแนน
           สำหรับแม่แก้วแล้ว ตอนออกข้อสอบครั้งแรกนี้เหนื่อยมาก เพราะสอนปีแรกๆยังไม่มีข้อสอบเก่าๆไว้ดัดแปลง  ช่วงที่ออกข้อสอบนี้เป็นการทบทวนตัวเอง และนำความรู้ไปทบทวนนักเรียนคู่ขนานไปด้วย เรื่องการสรุปประเด็น เนื้อหาช่วงใกล้สอบให้กับนักเรียนนี้สำคัญ ถ้าครูสอนไม่ทัน เพราะนักเรียนมีกิจกรรมที่ทำให้ต้องงดสอน เช่น ไปแข่งกีฬา จะมีการนัดหมายระหว่างครูกับนักเรียนมาเรียนชดเชยตอนค่ำ  (ในช่วงนั้นเพื่อนครูผู้หญิงท่านหนึ่งถึงกับขับรถมอเตอร์ไซด์ตกเขาตอนขากลับได้รับบาดเจ็บถลอกปอกเปิก เพราะขับไม่คล่อง และทางมืดมาก)  รวมถึงการไปเยี่ยมนักเรียนที่ป่วยนอนพักที่แผนกแพทย์  ที่ไม่ได้มาเข้าชั้นเรียนกับเพื่อนๆ  ครูจะไปเยี่ยม ไปถามไถ่อาการ  ถามว่ามีหนังสือสำหรับอ่านเตรียมสอบไหม ไม่เข้าใจตรงไหน เพื่อให้มีความรู้มาสอบ จะได้ไม่สอบตกซ้ำชั้นอันเป็นการเสียทั้งงบประมาณหลวง และเวลาของนักเรียนเองที่เรียนจบช้าไปอีกปี
           วกกลับมาเรื่องตรวจข้อสอบ ข้อสอบส่วนใหญ่ที่ใช้จะเป็นแบบเลือกตอบ  ถูกผิด และเติมคำ  ครูจะนำข้อสอบมาเฉลยก่อน  ตอนเฉลยข้อสอบนี้ แม่แก้วที่เพิ่งเคยเป็นครูครั้งแรก ได้หัดใช้อุปกรณ์เฉลยข้อสอบที่ดูโบราณมากแต่ยังใช้งานได้ดี (แม่แก้วไม่รู้ว่ามีชื่อเรียกหรือไม่ พยายามหาชื่อในอินเตอร์เน็ต แต่หาไม่พบ)  ได้แก่ ที่ตอกเจาะรูกระดาษเฉลยข้อสอบ ประกอบด้วยแท่นไม้สี่เหลี่ยมขนาด กว้าง ยาว สูง สักครึ่งฟุต ๑ แท่น  ที่ตอกโลหะเจาะรู (เหมือนกับที่เจาะรูตาไก่)  และฆ้อนสำหรับตอก  เวลาเฉลย ครูจะกาข้อที่ถูกลงในใบตอบก่อน แล้วนำกระดาษใบตอบไปวางบนแท่นไม้ เอาที่ตอกโลหะเจาะรูวางบนกระดาษ แล้วใช้ฆ้อนตอกเฉลยให้เป็นรูตามข้อที่กา ตอนตอกดังป๊อกๆสนุกดี ต้องออกแรงตอกพอดีกระดาษจึงถูกเจาะเป็นรู  จากนั้นจึงนำไปทาบกับใบตอบของนักเรียน  แล้วลงมือตรวจนับข้อที่กาถูก  แม่แก้วและเพื่อนครูจะตั้งใจตรวจเพราะอยากรู้ว่านักเรียนที่เราสอนได้รับความรู้ไปมากน้อยเพียงใด ใครจะได้คะแนนสูงสุด  ส่วนใหญ่นักเรียนที่สนใจเรียนไม่หลับ หรือหัวหน้าห้องจะได้คะแนนสูง นักเรียนที่ได้คะแนนสูงสุดนี้ ตอนนั้นมีคำว่า “หนึ่งในร้อย” มาเกี่ยวข้อง
           หนึ่งในร้อย ในยุคนั้น คือ นักเรียนที่ได้คะแนนสูงสุดในพรรคเหล่าของตนเอง เช่นมี นักเรียน ๑๐๐ นาย คนที่ได้ที่ ๑ จะมีสิทธิ์ได้ไปเป็นนักเรียนนายเรือ ในบางปีนักเรียนบางพรรคเหล่ามีไม่ถึงร้อยคน ก็ใช้วิธียกประโยชน์ให้จำเลย เช่น มี ๒๐ นาย ได้ไปเป็นนักเรียนนายเรือ ๑ นายในพรรคเหล่านั้นๆ  ในสมัยนั้น นักเรียนที่ตั้งใจเรียนเพื่อสอบให้ได้ที่ ๑  เพื่อให้ได้ไปอยู่ รร.นายเรือ  จึงแข่งกันเรียน แข่งกันอ่านหนังสือ ไม่ยอมหลับยอมนอน (นอนคลุมโปงอ่านบ้าง แอบอ่านในตู้บ้าง)  เมื่อสอบได้ที่ ๑ แล้ว ได้ไปอยู่ รร.นายเรือ ยังต้องหาคนเซ็นค้ำประกันให้ 
           ตอนนั้นมีครูรุ่นพี่ท่านหนึ่ง ท่านจะเมตตาถามไถ่นักเรียน และช่วยเซ็นค้ำประกันให้นักเรียน (นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กต่างจังหวัด พ่อแม่มีอาชีพทำไร่ทำนา  ไม่มีญาติเป็นข้าราชการมาเซ็นค้ำประกันให้)  ครูที่เซ็นค้ำประกันให้นี้ถือว่าใจดีมีเมตตาและรักนักเรียนมาก  เพราะหากต่อไปมีเหตุให้นักเรียนเรียนไม่จบ ครูจะต้องเสียค่าปรับแทนเป็นเงินจำนวนหลักแสน  (แต่เท่าที่ทราบนักเรียนเหล่านี้ตั้งใจเรียนจนจบ ไม่ทำให้ครูผิดหวัง และครูไม่ต้องเสียค่าปรับ) นี่เป็นความรักความผูกพันของครูกับลูกศิษย์อีกเรื่องหนึ่งในรั้ว รร.ทหารแห่งนี้
           นักเรียนจ่าที่ได้ไปเรียนที่ รร.นายเรือนี้ เมื่อเรียนจบจะได้ติดยศเรือตรี มีอนาคตที่ไปได้ไกลขึ้น  ส่วนใหญ่ที่แม่แก้วรู้จักจะเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด อ่อนน้อมถ่อมตนไม่ถือเนื้อถือตัว และทำงานขยันขันแข็ง  นับว่ากองทัพเรือได้เห็นคุณค่า สนับสนุนบุคคลากรที่มีคุณภาพเหล่านี้ให้เติบโต  ซึ่งเป็นกำลังใจอย่างดีให้นักเรียนจ่าที่รักความก้าวหน้า มีความฝันที่จะเป็นนักเรียนนายเรือ
           การทำคะแนนในยุคนั้น ยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ ใช้คนกับเครื่องคิดเลขในการทำคะแนนล้วนๆ ทาง รร.ชุมพลฯ มอบให้ครูสายปริญญาในแผนกวิชาสามัญ เป็นผู้รวบรวมคะแนนจากครูวิชาต่างๆที่ตรวจใบตอบให้คะแนนแล้ว ส่งมาให้ตัดเกรด กรอกเกรด ลงในแบบฟอร์มใบกรอกคะแนนแบบ ยศ.๖  ซึ่งเป็นกระดาษแผ่นใหญ่ของกรมยุทธศึกษาทหารเรือ ครูจะจับคู่กันขานคะแนน  กดเครื่องคิดเลขตัดเกรด  กรอกเกรดด้วยลายมือในช่องวิชา ให้ตรงตามรายชื่อนักเรียน ขั้นตอนนี้มีการสลับกันทวนซ้ำตลอด เพื่อกันการผิดพลาด
           ช่วงจับคู่ขานเกรดนี้ ครูจะอ่านเลขได้แค่ ๕ ตัว คือ ๐ ๑ ๒ ๓ และ ๔  ส่วนใหญ่เป็นเลข ๒ กับ ๓  นานๆทีจะเป็นเลข ๔ กับ ๑  และนานๆกว่านี้ ถ้ามีเลข ๐ โผล่ขึ้นมาในการขานเกรด  ครูมักจะหยุดขาน มาดูว่าลูกศิษย์คนไหนหนอสอบตก  ถ้าเป็นคนเดิมๆสอบตกหลายๆวิชา ครูจะช่วยลุ้นตอนสรุปเกรดเฉลี่ยว่าจะได้ขึ้นขั้นใหม่หรือไม่   ในห้องทำคะแนนจึงมีแต่เสียงขานตัวเลขซ้ำไปซ้ำมากันทั้งวัน  ใครจับคู่กับใครก็ไปหามุมหาโต๊ะเหมาะๆในห้องทำงานที่ห่างกันพอไม่ให้เสียงขานตัวเลขตีกัน  ช่วงนี้มีการทำงานล่วงเวลา (โอที) ในตอนเย็นจนมืดค่ำ แล้วค่อยกลับบ้านพัก
           แม่แก้วจำได้ว่า ช่วงทำคะแนนล่วงเวลา ในตอนเย็น  แม่แก้วชอบมองไปที่หน้าต่างห้องทำงานบานที่หันออกไปสู่ทะเลด้านเกาะเกล็ดแก้ว  จะได้เห็นพระอาทิตย์ในฤดูหนาวสีแดงดวงกลมโต ค่อยๆตกลงที่ทะเล โดยมีเกาะเกล็ดแก้ว และท้องฟ้าสีแดงระเรื่อเป็นฉากหลัง  แสงสะท้อนของดวงอาทิตย์นี้  ระยิบระยับบนผืนน้ำทะเลเหมือนกับเกล็ดแก้วสวยงามมาก  เป็นอีกครั้งที่แม่แก้วรู้สึกสบายใจ และมีความสุขที่ได้มาทำงานใน รร.หลังเขาที่สวยงามแห่งนี้ 
           การคิดเกรดเฉลี่ยจะใช้ทศนิยมสองตำแหน่ง เมื่อตัดเกรด กรอกเกรดรายวิชา คิดเกรดเฉลี่ยเสร็จ ก็จะจัดลำดับอาวุโสให้นักเรียน ซึ่งหากนักเรียนสอบตกวิชาใด แม้จะเกรดได้สูง จะถูกนำไปต่อท้ายคนที่สอบผ่านทุกวิชา บางครั้งจึงน่าเสียดายมากหากสอบได้เกรดเฉลี่ยสามกว่า แต่ตกหนึ่งวิชา อาวุโสจะไปต่อท้ายคนที่สอบได้สองกว่า แต่ไม่ตกวิชาใดเลย นักเรียนที่สอบตกสอง สาม สี่...วิชาจะต่ออาวุโสท้ายลงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้จะมีนักเรียนที่เกรดไม่ถึงอยู่ท้ายๆ ที่จะต้องซ้ำชั้น  สำหรับการสอบแก้ตัวหรือสอบซ่อมในวิชาที่สอบได้เกรดศูนย์ จะมีการนัดสอบ สมัยนั้นวิชาที่นักเรียนมักสอบตก ได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ นักเรียนจะมาสอบแก้ตัว เมื่อสอบผ่านแล้ว จะได้รับเกรด ๑ เป็นตัวสีแดง  มีอยู่คราวหนึ่งนักเรียนที่สอบตกไม่ได้มาสอบเอง แต่วานให้เพื่อนสวมเสื้อที่มีชื่อของตัวเองมาสอบแทน  (เสื้อของนักเรียนทุกนายจะมีชื่อ และอักษรตัวแรกของนามสกุลเขียนไว้บนหน้าอก เช่น กล้าหาญ ก. )  และครูที่คุมสอบจับได้ว่าไม่ใช่นักเรียนที่สอบตก
            การทุจริตในการสอบจัดว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมากในโรงเรียนทหาร  แม่แก้วได้รู้จักคำว่า “สอบพยุงฐานะ” หมายถึง “สอบได้เป็นตก สอบตกเป็นออก”  ไม่รู้ว่าใครคิดกฏเหล็กนี้ แม่แก้วว่ามันเป็นกฏเหล็กที่นักเรียนทหารทุกคนกลัวมาก และไม่อยากให้ตัวเองพบเจอกับคำนี้   คำนี้อธิบายง่ายๆว่า ถ้าใครทุจริตการสอบแล้วถูกจับได้  จะถูกให้สอบวิชานั้นใหม่ ถ้าสอบได้ ก็จะปรับให้ สอบตก  แต่ถ้าสอบตก ก็จะให้ออกจากการเป็นนักเรียนทหาร  นี่ยังไม่รวมถึงกฎเหล็กอื่นๆ ได้แก่ การลักขโมย ซึ่งมีโทษสถานเดียว คือ ให้ออก  ด้วยเหตุที่ว่า นอกจากการให้ความรู้ในวิชาชีพทหารเรือ และความเป็นชาวเรือแล้ว นักเรียนทหารต้องให้ได้รับการปลูกฝังในด้านคุณธรรมจริยธรรม มีระเบียบวินัย มีความซื่อสัตย์สุจริต อดทน ไม่โกหก ไม่คดโกง และไม่ลักขโมย  พื้นฐานเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างเหล็กในตัวคนของทหารเรือ  ดังคำกล่าวที่ว่า “เหล็กในคน สำคัญกว่า เหล็กในเรือ”   
           ครูรุ่นพี่สอนว่า ให้เราตั้งใจสอนให้นักเรียนมีความรู้  และสอบผ่าน  ความตั้งใจของครูนี้ คงเหมือนกับทุกฝ่ายใน รร. ที่ต้องการให้นักเรียนเรียนจบไปอย่างมีความรู้ เป็นทหารเรือที่มีคุณภาพออกไปรับใช้ชาติ  ตามระยะเวลาของหลักสูตร ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการเลี้ยงดูอีกปี หากสอบไม่ผ่าน
           สำหรับนักเรียนนั้น  เมื่อสอบภาควิชาการเสร็จก็ไปฝึกภาคทะเลต่อ  และกลับมาปล่อยพักบ้านไม่กี่วัน  ก่อนที่จะมาเข้าพิธีประกาศผลสอบความรู้  ชั้น ๑ เพื่อเลื่อนชั้นเป็นชั้น ๒  และชั้น ๒ เพื่อติดยศจ่าตรี  แล้วแยกย้ายไปทำงานตามหน่วยต่างๆในกองทัพเรือ      

ตอนที่ ๗ ไปฝึกทหารก่อนติดยศ

             หลังจากที่ได้สวมชุดหูกะทะมาสัก ๓ เดือนแล้ว แม่แก้วและเพื่อนๆที่มาทำงานรุ่นเดียวกันก็ถูกเรียกตัวไปฝึกทหารก่อนติดยศ  สมัยนั้นเราไปฝึกกันที่ รร.พลทหาร โดยฝึกรวมเพื่อนๆที่มาจาก ที่ต่างๆในกองทัพเรือ และจาก บก.สูงสุด (สมัยนี้ คือ บก.กองทัพไทย) มีทั้งผู้ที่จะติดยศสัญญาบัตรและประทวนทั้งชายและหญิงรวมกันร้อยกว่านาย               
             การเตรียมข้าวของในการไปฝึกสมัยนั้น ใช้เสื้อเชิ๊ตแขนยาวสีขาว กางเกงวอร์มสีดำ มีผ้าพันเอวสีดำ ส่วนรองเท้าใช้รองเท้าผ้าใบสีขาว สักสามชุด รวมถึงชั้นใน และถุงเท้า พอให้ซักเปลี่ยนแห้งทัน กับพวกของใช้ส่วนตัวพวกสบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ผ้าขนหนู และผ้านุ่งอาบน้ำ ฯลฯ  
             เพื่อนข้าราชการกลาโหมพลเรือนในรุ่นเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เพราะผู้ชายที่บรรจุรุ่นเดียวกันส่วนใหญ่เรียน รด. มาแล้ว จะติดยศได้เลย เพื่อนๆมาจากหลากหลายสาขาอาชีพมาก ตั้งแต่คุณหมอ หมอฟัน เภสัชกร สถาปนิก วิศวกร การเงิน ครู บรรณารักษ์ สารบรรณ ดุริยางค์ และช่างเขียน ฯลฯ พอฝึกเสร็จติดยศ แม่แก้วจึงมีเพื่อนที่มีบ่าเกือบครบทุกสีเป็นเพื่อน
             การฝึกทหารของข้าราชการกลาโหมพลเรือนนี้ เป็นหลักสูตรระยะสั้น หรืออาจจะเรียกได้ว่าหลักสูตรเร่งรัดก็ว่าได้ ที่สอนให้เราเรียนรู้ระเบียบวินัย การปฏิบัติตัว การวางตัวของทหาร(โดยเฉพาะทหารหญิง) ขนบธรรมเนียมประเพณีทหารเรือ ร้องเพลงของทหารเรือ การทำความเคารพ การแถว การฝึกอาวุธ ฝึกยิงปืน และการสวนสนาม เมื่อฝึกเสร็จแล้วเราจะมีลักษณะท่าทางที่เป็นทหาร สามารถสวมใส่เครื่องแบบทหารและปฏิบัติตน วางตัวได้สง่างามเหมาะสมกับเครื่องแบบทหารที่สวมใส่
             สำหรับแม่แก้วนั้ ถูกพี่ๆขู่ไว้ว่า ให้ออกกำลังกายเตรียมตัวฝึกทหาร ตั้งแต่วันแรกๆที่ไปทำงาน  เพราะตอนนั้นแม่แก้วตัวผอมสูง แขนขาเล็ก ดูเก้งก้าง เก้เก้กังๆ ไม่ค่อยจะมีเนื้อมีหนังเหมือนในปัจจุบัน  ไม่น่าจะมีแรงฝึกทหาร และดูไม่มีคุณลักษณะความเป็นทหารเอาเสียเลย แต่เอาเถอะ ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ถ้าไม่ผ่านการฝึกนี้เขาก็ไม่ให้ติดยศ ทุกคนในรุ่นจึงต้องมาเข้ารับการฝึก
             ชีวิตในตอนสอนนักเรียนแล้วได้กลับบ้านทุกวันศุกร์ กลับลำเค็ญมากขึ้นอีก เพราะช่วงฝึกหนึ่งเดือนครึ่งนี้เขาไม่ให้กลับบ้านในช่วงแรกๆ ได้ปล่อยกลับบ้านครั้งเดียวในช่วงท้ายของหลักสูตร แถมยังให้ตื่นตั้งแต่ตีห้ามาออกกำลังกาย ฝึกทหาร ทำโน่นนี่ทั้งวัน กว่าจะได้นอนอีกครั้งก็สามทุ่ม ทำให้ซาบซึ้งและเข้าใจชีวิตของนักเรียนทหารมาก
             บ้านใหม่ หรือที่พักของเราเป็นกองร้อยของพลทหารใน รร.พลทหาร นั่นเอง กองร้อยนี้ คือ อาคารที่พักขนาดใหญ่ ชั้นล่างเป็นห้องทำงานของ ผบ.ร้อย และข้าราชการในกองร้อย มีห้องพักผ่อน ที่มีม้านั่งยาวให้ดูทีวีจอตู้ มีน้ำหวานและขนมขาย ด้านหน้าอาคารมีเก้าอี้ม้ายาวๆไว้รวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ ฟังอบรม ชี้แจง และหัดร้องเพลงทหารเรือ ฯลฯ
             ด้านหลังกองร้อยเป็นห้องน้ำแบบโรงเรียนทหารทั่วไป คือ ห้องอาบน้ำรวม มีอ่างปูนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่มาก สูงเท่าเอวสำหรับขังน้ำไว้อาบ อ่างปูนนี้ตั้งอยู่เด่นเป็นสง่ากลางห้อง ไว้ให้พวกเราที่ใส่ผ้าถุงยืนล้อมวงกันเอาขันตักน้ำอาบ (อย่างรีบๆและทุลักทุเล เนื่องจากไม่คุ้นกับการอาบน้ำรวม) ในตอนเย็นหลังฝึกเสร็จแล้ว
             ด้านหลังจากห้องอาบน้ำ เป็นห้องส้วมแบบนั่งยองหลายห้องเรียงเป็นแถว ด้านนอกห้องน้ำมีลานตากผ้ากลางแจ้ง ที่สาวๆกว่าร้อยชีวิตต้องตากผ้าด้วยกัน ที่ตากจึงไม่ค่อยพอ หนำซ้ำบางครั้งฝนตก ผ้าเปียกเสียอีก เรียกว่าทุลักทุเลหน่อย แต่ก็สนุกไปอีกแบบ
             อาคารกองร้อยชั้นบนเป็นที่พักของเหล่านักเรียนทหารหญิง มีเตียงที่จัดเรียงเป็นแถวยาว ทุกเตียงมีที่นอน หมอน มุ้ง ผู้ปูเตียง ปลอกหมอนสีขาว มุ้งสีเขียวทหาร เราถูกจัดให้นอนคนละเตียง ใครนอนติดใคร ก็จะนอนคุยกันบ่อยๆ ปรึกษาปัญหาหัวใจบ้าง คุยเรื่องโน้นเรื่องนี้บ้าง จึงสนิทสนมกันเป็นพิเศษ
             เรื่องการนอนนี้ วันแรกๆแม่แก้วใส่ชุดนอน แต่พอตอนนกหวีดปลุก (เสียงปลุกของนกหวีดแหลมๆนี้ทำร้ายจิตใจมากในยามเช้ามืด) มัวมาเปลี่ยนชุดเป็นชุดฝึกไม่ทัน วันต่อๆมาเลยเปลี่ยนยุทธวิธีเป็นใส่ชุดฝึกนอนเลย นกหวีดปลุกก็สวมถุงเท้ารองเท้าวิ่งลงมารวมแถวได้ทัน เพื่อนบางคนก็ใช้วิธีแอบตื่นก่อนเวลามาทำธุระส่วนตัว (ช่างขยันจริงๆ) สำหรับแม่แก้วแล้ว ขอนอนจนนาทีสุดท้ายจนถึงเวลานกหวีดปลุกดีกว่า
              การตื่นแต่เช้ามืดนี้ ลำเค็ญมากสำหรับแม่แก้วและเพื่อนร่วมรุ่น ด้วยว่าหลังเสียงนกหวีดปลุก แตรปลุก ตั้งแต่ตี ๕ ต้องรีบวิ่งลงมาจากที่นอนชั้นสอง มาล้างหน้าแปรงฟันในห้องน้ำชั้นล่าง ที่อยู่ไกลกันมาก แล้ววิ่งลงมาแถวรวมหน้ากองร้อยในเวลา ๕ - ๑๐ นาที (อะไรมันจะรีบร้อนขนาดนั้น)  เรื่องการทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำยามเช้าไม่ต้องพูดถึง เพราะเวลาไม่พอ เล่นเอาแม่แก้วซึ่งปรับตัวไม่ทันท้องผูกไปประมาณ ๕ วัน
             สำหรับการดูแลระเบียบวินัย  ที่พัก และการเจ็บไข้ได้ป่วยของกองร้อยหญิงนี้ ทางกองอำนวยการฝึกได้จัดพี่ๆนายทหารหญิงที่เป็นคุณครูใน รร.ชุมพลฯ มาดูแลความเป็นอยู่ของพวกเราอย่างใกล้ชิด
             ความที่หลักสูตรนี้เป็นแหล่งรวมสาวๆที่เรียนจบมาใหม่ๆ จึงเป็นหลักสูตรที่มีสีสันมาก ในช่วงฝึกวิ่งตอนเช้ามืดหลังตื่นนอน วันแรกๆของการฝึก ตอนเริ่มวิ่งใหม่ๆ พวกเราจะตั้งใจวิ่งเป็นแถวและร้องเพลงกันเสียงดังเจื้อยแจ้วในช่วงแรกๆ สักพักพอไม่กี่ร้อยเมตรต่อมา แถวที่เคยวิ่งเป็นระเบียบ เท้าพร้อมสวยงาม ก็จะค่อยๆเลื้อยๆ ย้วยๆ พะเยิบพะยาบ คนในแถวก็ค่อยๆหลุดออกจากแถวทีละคนสองคน ขอให้ลองนึกภาพของเส้นของแถวที่ตอนแรกเป็นเส้นตรง สักสี่ห้าเส้น ใหม่ๆเส้นนี้มันตรงและเสมอกันมาก เพราะคนในแถววิ่งกันอย่างแข็งแรง เท้าพร้อม แต่สักพักพอหมดแรง ไอ้แถวเส้นๆนี้มันก็มีคนหลุดแถว วิ่งช้าลง ห้อยไปอยู่หลังแถว ส่วนคนในแถวที่ยังวิ่งอยู่ก็เริ่มแรงตก เท้าไม่พร้อม แถวมันจึงดูหลุดๆลุ่ยๆ สะเงาะสะแงะ (จะไปรอดไหมนี่)
             ส่วนครูฝึกชายของเราที่วิ่งนำแถว (ได้ข่าวว่าเขาคัดเลือกครูที่สอนเก่งๆมาสอนเราโดยเฉพาะ) คุณครูท่านเป็นคนแข็งแรงตัวสูงใหญ่ ท่านจึงวิ่งนำหน้าพวกเราอย่างดูโดดเด่นไปด้วยท่าวิ่งที่สวยงาม(ดูหล่อมากท่ามกลางสาวสวยอย่างเรา) ท่านนำร้องเพลงปลุกใจด้วยเสียงทุ้มหล่อดังๆอย่างตั้งอกตั้งใจ (พวกเราสาวๆร้องเพลงด้วยเสียงแหลมเจื้อยแจ้ว) หากว่าคุณครูของเราได้เหลียวหลังมามองพวกเราสักนิด ท่านคงได้เห็นภาพแถวข้างหลังของทหารหญิงที่น่าประทับใจนี้มาก
             อย่างไรก็ตาม พวกเราก็สามารถสำเร็จการวิ่งเช้าวันแรกๆนี้ไปได้ (อย่างไม่สวยงาม) ครูฝึกของเราท่านคงไม่รู้จะทำอย่างไรกับกองร้อยทหารหญิงนี้ จะทำโทษให้ยึดพื้น ให้กลิ้งตัวแบบนักเรียนจ่า หรือพลทหาร จะทำอะไรรุนแรงไปกว่านี้ พวกเราอาจพากันป่วยหมด หรือร้องไห้งอแงขึ้นมาคงจะยุ่ง เพราะไม่รู้จะปลอบโยนอย่างไรหมด (ปกติปลอบผู้หญิงคนเดียวก็แทบแย่ แต่นี่เกือบร้อยคนน่าจะแย่กว่ามาก) แถมจะพากันหมดเรี่ยวหมดแรงไม่มีใครมาฝึกต่อด้วย
             ครูฝึกจึงใช้ยุทธวิธีละมุนละม่อม ค่อยๆให้กำลังใจ ค่อยๆฝึกจนพวกเราแข็งแรง และมีระเบียบวินัยขึ้น การทำโทษก็ใช้วิธีกอดคอกันในแถว หรือทำโทษตัวเอง โดยลุกนั่งตามจำนวนครั้งที่ครูฝึกสั่ง หรือให้วิ่งรอบกองร้อยบ้างตามโอกาส   พวกเราสาวๆก็ตั้งใจฝึกกันอย่างดี เพราะการมาอยู่ร่วมกันนี้ ทำให้ได้เพื่อนร่วมรุ่นและร่วมทุกข์ร่วมสุขที่รักกัน ผูกพันกันไปนานตลอดชีวิตรับราชการ
             ที่เล่ามานี้ ขอท่านผู้อ่านอย่าได้ตกใจ ว่าทหารหญิงอ่อนแอ เพราะเป็นเพียงเหตุการณ์ในวันแรกๆ วันต่อๆมาพวกเราค่อยๆปรับตัว มีระเบียบวินัยขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งแข็งแรงขึ้น วิ่งได้ไกลขึ้น ช่วงหลังๆตอนใกล้ฝึกเสร็จ พวกเราวิ่งจาก รร.พลทหาร ไป หาด รร.ชุมพลฯ ซึ่งห่างออกไป ๓ - ๔ กม. (หากนับระยะทางจากกองร้อย) ไม่นับถึงการฝึกท่าบุคคลมือเปล่า ขวาหัน ซ้ายหัน กลับหลังหัน แลขวาทำ แลซ้ายทำ การเดินแถวให้เท้าพร้อม ที่แม่แก้วจำมาถึงทุกวันนี้ เพราะเราต้องพูดพร้อมกันในแถว กับเช็คเท้าที่ก้าวลงบนพื้นให้ตรงตามจังหวะที่ให้ ดังนี้
             " ซ้าย ซ้าย ซ้ายขวาซ้าย....ซ้าย ซ้าย ซ้ายขวาซ้าย....นับเว้นจังหวะ...นับ...หนึ่ง สอง สาม สี่ ...หนึ่งสองสามสี่...หนึ่งสองสามสี่...ซ้าย ซ้าย ซ้าย ขวา ซ้าย"
             ตอนเดินแถวไปไหนมาไหนใน รร.พลทหาร แล้วร้องเพลงสลับกับเปล่งเสียงดังๆเช็คเท้าให้พร้อมกันนี้ มีความสุขมาก คือ “เป็นความสุขแบบร้อนๆ มันๆ (ตัว)ดำๆ” (ตอนนี้พวกเราเริ่มบ้าพลังกันแล้ว)  เพราะเดินตากแดดไปแถว ไปเรียน ไปกินข้าว ไปที่ต่างๆในโรงเรียน ไกลเป็นกิโลๆ
             คำปฏิญาณตนก่อนกินข้าวนี้ แม่แก้วจำได้แม่น เราจะปฏิญาณกันด้วยเสียงอันดังว่า "เรากินเพื่ออยู่ ต่อสู้เพื่อการศึกษา" ก่อนกินข้าวกันอย่างเอร็ดอร่อย
             กิจวัตรประจำวันของกองร้อยทหารหญิงนี้คล้ายนักเรียนจ่า  แต่ที่นี่เป็นระบบของ รร.พลทหาร จึงตื่นตีห้า นอนสามทุ่ม ตื่นนอนก็รวมแถวออกกำลังกาย วิ่งบ้าง กายบริหารราชนาวีบ้าง กินข้าว ทำความสะอาดที่พัก เก็บที่นอนหมอนมุ้ง จัดเตียง ดึงผ้าปูเตียงให้ตึง ไปแถวรับธง ฝึก ผึก ผึก โน่นนี่ เรียนในห้องบ้าง พอเย็นก็พัก อาบน้ำกินข้าว ลงมารวมกันตอนค่ำ เพื่อเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับทหารเรือ ฝึกร้องเพลงทหารเรือ แล้วปล่อยทำธุระส่วนตัว ก่อนเข้านอนประมาณสามทุ่ม
             ตอนกลางคืนกองร้อยหญิงนี้มีเข้ายามด้วย เราเข้ายามจุดละสองคน เป็นเพื่อนกัน จุดที่เข้ายามก็ในบริเวณอาคารกองร้อย เพื่อความปลอดภัยของเรา เขาไม่ให้ไปเข้าเวรที่ไกลๆแบบนักเรียนทหารชาย
             สีสันอีกอย่างของกองร้อยทหารหญิงนี้คือ ในเวลาพักช่วงเลิกฝึกตอนเย็น และวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เป็นเวลาญาติเยี่ยมได้ ญาติของพวกเรานี้ จะมีพ่อแม่พี่น้องบ้าง แต่ที่มาเยี่ยมบ่อยกว่ากลับไม่ใช่พ่อแม่พี่น้อง แต่เป็นญาติที่เป็นผู้ชาย ญาติชายนี้ มีทั้งคู่ที่นับเป็นญาติกันแล้ว พวกนี้จะคุยกันกระหนุงกระหนิง ส่วนบางคู่ที่ยังไม่ได้รับเป็นญาติ แต่อยู่ในช่วงทำคะแนน หรือช่วงโปรโมชั่น ก็จะคุยกันแบบสงวนท่าที เหนียมอายหน่อยๆ หนุ่มๆที่มาเยี่ยมนี้ จะสรรหาของฝาก ขนมนมเนย ผลไม้ และยาต่างๆ เช่น ยานวดคลายกล้ามเนื้อมาฝาก และมาให้กำลังใจ ประมาณว่า เหนื่อยไหม ไหวไหมครับ เพื่อเร่งทำคะแนน บรรยากาศในช่วงญาติหรือหนุ่มๆมาเยี่ยมนี้จึงเป็นบรรยากาศสีชมพู ที่มีกลิ่นไอของความรัก คุยกันกระหนุงกระหนิงเป็นกลุ่มเล็กๆ หรือเป็นคู่ตามโต๊ะม้าหินหน้ากองร้อย แม่แก้วเองก็ไม่น้อยหน้า มีพ่อบุญมาเยี่ยมและเอาของมาฝากบ่อยๆกับเขาเหมือนกัน เหมือนพักรบมาพบรักยังไงยังงั้นเลยทีเดียว (ฮิ๊วววว...)
             อ้าว...ชักจะเคลิ้มไปกันใหญ่แล้ว กลับมาที่เรื่องฝึกทหารต่อดีกว่า การเรียนวิชาการทหารต่างๆนี้ คนที่คิดหลักสูตรช่างเก่งมาก เพราะหลักสูตรนี้ เราได้เรียนตั้งแต่หัดแถว ขวาหัน ซ้ายหัน เดินแถว หัดตะเบ๊ะ(ทำความเคารพ) ร้องเพลง ฝึกท่าอาวุธ ที่ครูให้ปืนมาประจำกาย แล้วสั่งให้เราแบกปืนไปไหนมาไหนด้วยทั้งวัน (ครูบอกว่า อาวุธประจำกายเป็นสิ่งที่เราต้องมีไว้ข้างกายตลอด เพื่อป้องกันตนได้ทันท่วงที หากมีข้าศึกจู่โจม)  ฝึกเดินทางไกลในป่า ลุยน้ำ ฝึกหมอบ ฝึกหลบลูกระเบิด ฝึกคลานศอกตัวแนบไปบนพื้นดิน (ที่พวกเราคลานไป แอบหัวเราะคิกคักไป เพราะรู้สึกเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง)  ฝึกหลบหนี ซ่อนตัวในป่า ตามหลังบ้านพักในเส้นทางกลับกองร้อย (เหมือนเล่นซ่อนแอบ แต่เหนื่อยกว่า) ฝึกยิงปืนยาว ฝึกยิงเป้าปืนพก  ฝึกดับเพลิง (ที่มีเพื่อนที่กล้าหาญในรุ่นอาสาอยู่หน้าถือหัวฉีดให้)  ไปดูงานบนเรือรบที่เรือออกแล่นไปในทะเลครึ่งวัน  ไปนั่งรถสะเทินน้ำสะเทินบกของนาวิกโยธินที่แล่นพาเราออกไปในทะเลตรงหาดเตยงาม  รวมถึงหัดสวนสนามทุกวัน ไว้สวนโชว์ในวันปิดการฝึก  ที่พวกเราได้สวนสนามโชว์อย่างสวยงามพร้อมเพรียง ตบเท้าได้อย่างเข้มแข็ง นับว่าเป็นการปิดหลักสูตรที่สมบูรณ์แบบมาก
             ต้องขอขอบพระคุณครูฝึกทุกท่าน ของ รร.พลทหาร และครูผู้หญิงของ รร.ชุมพลฯ ที่ดูแลเราอย่างดี ช่วยแนะนำสั่งสอนจนพวกเราให้เปลี่ยนจากพลเรือน มามีคุณลักษณะท่าทางที่เป็นทหารมากขึ้น  มีร่างกายแข็งแรง และอดทนขึ้น มีความรักความภูมิใจในการได้เป็นทหารเรือ ที่สำคัญแม้ว่ากองร้อยทหารหญิงนี้  จะไม่ได้ฝึกหนักเหมือนหลักสูตรหลักอื่นๆ ใน รร.ทหาร แต่อย่างน้อยก็ทำให้เรามีความเข้าใจในชีวิต และความลำบากของทหารอาชีพที่ลำบากกว่านี้มากมาย  สามารถนำไปทำงานรับใช้กองทัพเรือได้อย่างดี
             สำหรับการฝึกข้าราชการกลาโหมพลเรือนในรุ่นต่อๆมา มีการฝึกที่ รร.พลทหารหลังจากรุ่นแม่แก้วสักสองรุ่น  จากนั้นได้แยกการฝึกข้าราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตร ฝึกที่ รร.นายเรือ และ ชั้นประทวนฝึกที่ รร.ชุมพลฯ สำหรับแม่แก้วแล้วเวลาเดือนกว่าๆนี้ ให้อะไรกับแม่แก้วมากมาย ได้เพื่อน ได้เรียนรู้การวางตัว มีลักษณะท่าทางเป็นทหาร จึงเรียนจบหลักสูตรมาด้วยความสุข ตัวดำกลับมาทำงานสอนนักเรียนจ่าต่อ  เตรียมตัดชุดเครื่องแบบใหม่ และรอเวลาที่คำสั่งติดยศจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า^^

ตอนที่ ๖ ไปเที่ยวหาดน้อย (หาดทรายแก้ว)

           ตามที่เคยเล่าในตอนก่อนหน้านี้ว่า รร.ชุมพลฯ เป็นพื้นที่ปิด อยู่ลึกเข้าไปจากถนนสุขุมวิทหลายกิโล  ปากทางเข้าต้องผ่านโรงเรียนพลทหาร ผ่านเจ้าพ่อเขาช้าง ผ่านยามเนินมะค่า จึงจะเข้าสู่เขต รร.  ด้วยเหตุนี้เราจึงมักพูดกันเสมอว่า เราอยู่หลังเขา  เมื่อรถแล่นลงเนินมะค่าเข้าสู่เขต รร. เราจะมองเห็นวิวชายทะเล เห็นศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  กองบังคับการ หรือ บก.นี้ ตั้งอยู่ริมทะเล ที่ทำงานของแม่แก้ว คือ แผนกวิชาสามัญ กองการศึกษา ตั้งอยู่บนชั้น ๓ มองจากโต๊ะทำงานก็จะเห็นวิวทะเลทั้งวัน นับว่าเป็นที่ทำงานในฝันเลย  แม่แก้วคิดว่าเราโชคดีจังที่ได้มาเป็นทหารเรือ ได้นั่งทำงานริมทะเล ได้อยู่บ้านใกล้ทะเล  แถมไปทำงานไม่กี่วันก็มีทหารเรือมาจีบอีก
           ภายในพื้นที่ รร.ชุมพลฯ ด้านที่ติดทะเล เรียกว่า “หาดเกล็ดแก้ว” หากมองออกไปจากชายหาด ด้านขวาจะมีแนวหินกั้นระหว่างหาดศูนย์ฝึกทหารใหม่ ถัดจากหาดศูนย์ฝึกฯ จะเป็นหาดบางเสร่  หาดบ้านอำเภอ  หาดนาจอมเทียน และหาดพัทยาตามลำดับ ตัวอ่าวและหาดต่างๆนี้โค้งเข้าเป็นวง  ทำให้เรามองเห็นพัทยาได้จากหาดเกล็ดแก้ว หรือปลายแหลมได้อย่างชัดเจน  ในยามค่ำคืนหากเรามองออกไปที่ทะเลจะเห็นแสงไฟระยิบระยับแสงสีของเมืองพัทยาที่ไม่หลับไหล ขณะที่ รร.ชุมพลฯ กลับเป็นสถานที่ที่เงียบสงบมาก ในยามค่ำคืนถนนหนทางจะมืดมาก ต่างคนต่างอยู่ในบ้านพัก จะมีก็แต่นักเรียนจ่าที่เข้ายามตามจุดต่างๆเท่านั้นเป็นเพื่อน
           จากหาดเกล็ดแก้วนี้เช่นกัน  ถ้าเรามองไปทางด้านซ้ายก็จะเป็นเขตบ้านพักนายทหารผู้ใหญ่  บ้านรับรอง  BOQ  และสโมสรสัญญาบัตร (ปัจจุบันมีชื่อว่า “สโมสรเพชรเกล็ดแก้ว”) จากนั้นก็จะเป็นเนินเขาและแนวโขดหิน ต่อด้วยหาดส่วนตัวของบ้านรอง ผบ.รร.ชุมพลฯ (เป็นทหารเรือ ชั้นยศนาวาเอก ก็มีบ้านพักตั้งอยู่บนหาดส่วนตัว)  ส่วนผู้การ หรือ ผบ.รร.ชุมพลฯ ท่านมีบ้านพักบนเขา  ที่มีวิวทะเลเห็นอ่าวเกล็ดแก้วทั้งอ่าว และทะเลโดยรอบสวยงามมาก (ผู้การ เป็น นาวาเอกพิเศษ)  ถัดไปจากหาดบ้านรอง ผบ.ฯ จะมีแนวโขดหินกั้นอยู่   ก่อนที่จะถึง “หาดน้อย” หรือที่เรียกว่า “หาดทรายแก้ว” ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาตินิยมมาเที่ยวในปัจจุบัน
           หากตั้งต้นที่สโมสรเพชรเกล็ดแก้ว หาดทรายแก้วอยู่ห่างจากสโมสรประมาณ ๒.๕ กม. แม่แก้วขอเรียกชื่อหาดทรายแก้วว่า “หาดน้อย” เพื่อระลึกถึงชื่อเดิม  ในสมัยนั้นการจะไปหาดน้อยนับเป็นการผจญภัยพวกเราหนุ่มๆสาวๆนายทหารใหม่ทั้งนายทหารฝึก (นายทหารที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือปีแรก ส่วนหนึ่งจะมาทำงานเป็นนายทหารฝึก ในกองนักเรียน ดูแลนักเรียนจ่าทหารเรือ เป็นเวลา ๑ ปี ก่อนจะแยกย้ายไปทำงานตามหน่วยเรือ)  นายทหารฝึกนี้จะพักรวมกันอยู่ที่ BOQ (ตึกพักนายทหารโสด)  รวมถึงพ่อบุญและนายทหารโสดท่านอื่นๆที่มาจากสายปริญญา ที่พักรวมอยู่ด้วย ส่วนครูผู้หญิง ก็จะพักอยู่ที่บ้านแฝดซอย ๓ นับจากทะเล  การที่อายุใกล้เคียงกัน มาทำงานด้วยกันใหม่ๆ และได้พักอยู่ในพื้นที่เดียวกันนี้ ทำให้มีความสนิทสนมคุ้นเคยกัน หากมีวันหยุดกลางสัปดาห์ที่เราไม่ได้กลับบ้าน เรามักจะนัดหมายกันไปเที่ยวในบริเวณใกล้ๆ รร.ชุมพลฯ
           หนนี้ก็เช่นกัน พวกเรานัดหมายกันไปเที่ยวหาดน้อย ซึ่งเป็นหาดที่อยู่ติดกับหาดเกล็ดแก้วหากหันหน้าออกสู่ทะเล มองไปทางด้านขวา คือ หากเริ่มจากหาด รร.พลทหาร ซึ่งเป็นหน่วยแรกในพื้นที่สัตหีบ ไปทางด้านซ้ายจะเป็นเขตทหารเรือ หน่วยต่างๆ และหาดต่างๆ ไล่เรียงกันไปจนถึงกองการบินทหารเรือ (กบร.) ก่อนที่จะเข้าสู่ อ.บ้านฉาง จว.ระยอง  อ.สัตหีบ ของเราจึงนับเป็นอำเภอสุดท้ายของ จว.ชลบุรี ที่ติดกับ จว.ระยอง  และเป็นเมืองทหารเรือที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในตัวเอง ซึ่งจะค่อยๆเล่าในตอนต่อๆไป
           ทางไปหาดน้อยในสมัยนั้นมีสองเส้นทาง เส้นทางที่ ๑ เป็นทางเดินเล็กๆเข้าป่าทางด้านถนนสุดซอย ๔ (นับจากทะเล)  เดินผ่านป่าเขา ขึ้นเขา ลงเขาไปโผล่ที่หาดน้อย  เส้นทางที่ ๒ เป็นการไต่โขดหินเลาะไปตามริมทะเล โดยเริ่มต้นที่หน้าสโมสรสัญญาบัตร เดินตรงไปตามถนนขึ้นเนินเขาเล็กๆ ลงสู่หาดบ้านรอง ผบ.ฯ (จริงๆเขาห้ามผ่านบ้านนายทหารผู้ใหญ่ แต่พวกเราขอแอบผ่านกันเองในวันที่ท่านไม่อยู่บ้าน)  แล้วเดินเลาะไปตามชายหาดไต่โขดหินบางช่วงไปจนถึงหาดน้อย
           เส้นทางที่ ๑ นี้ง่ายตรงทางเดินแห้ง เป็นเส้นทางเดินเล็กๆ บางช่วงมีต้นไม้ปกคลุม ความยากอยู่ที่เดินขึ้นเขา และผ่านป่าที่มีต้นไม้รกบางช่วง ส่วนเส้นทางที่ ๒ นี้สั้นกว่า อันตรายกว่า เพราะต้องไต่โขดหินซึ่งมีความคม และเดินลุยน้ำทะเลบางช่วง
           พวกเราตกลงกันว่าขาไปพวกเราเดินเท้าไปตามเส้นทางที่ ๑ และขากลับจะไต่โขดหินเลาะชายหาดตามเส้นทางที่ ๒
           การเตรียมตัวไปหาดน้อย เราจะใส่เสื้อซึ่งเป็นชุดที่เล่นน้ำได้เลย (ชุดนี้ไม่ต้องเปลี่ยน เล่นน้ำเสร็จก็ปล่อยให้แห้งเองตามธรรมชาติ) มีเสื้อแขนยาวคลุมกันแสงแดดอีกชั้น  สวมรองเท้าผ้าใบป้องกันหนามและหินคม  และเตรียมอาหารและน้ำดื่มสำหรับรับประทานริมหาดน้อย  การเดินทางใช้เวลาเดินเท้า หรือไต่เกาะประมาณ เที่ยวละ ๑ ชม. รวมไป - กลับ ราว ๒ ชม.  
           แม่แก้วรู้สึกว่ากว่าจะเดินผ่านป่าเขาไปถึงหาดน้อยนี้ไกลและทางมีอุปสรรคมาก โดยเฉพาะช่วงที่เดินขึ้นเขา ลุยป่า อาศัยว่าไปกันหลายคน เดินไป พูดคุยหยอกล้อกันไป  ช่วยดึงกันไป คู่ไหนที่นับญาติกันแล้ว หรือเล็งๆกันไว้จะเดินคุยกันเป็นคู่  ที่ยังโสดหรือไม่มีคู่หมายคุยกับเพื่อนไป  ช่วงสุดท้ายก่อนจะถึงหาด เราต้องผ่านชะง่อนหินชันและพุ่มไม้ที่มีหนามหนา ให้ความรู้สึกทุลักทุเล ประมาณว่าเหมือนกับเราเดินมาเจอป่าหนามทึบ ผลุบหายเข้าไปในป่าหนาม แล้วดิ้นขลุกขลักๆจนหลุดจากเจ้าพุ่มไม้หนาม ออกมาเจอชะง่อนหินชัน แล้วพบกับแสงสว่างและทะเลเปิดอยู่ตรงหน้า ลมทะเลพัดเย็นสบายพัดมา (หาดน้อยช่างสวยงามอะไรเช่นนี้) 
           หาดน้อยที่ปรากฎต่อหน้าพวกเรานี้  เป็นหาดทรายขาวเม็ดละเอียดทอดยาว มีโขดหินเล็กๆบางช่วง ขนาดของหาดไม่ใหญ่และไม่เล็ก คะเนด้วยตา ความยาวไม่น่าเกิน ๑ กม. พอไปถึงพวกเรานั่งพักทานอาหาร และลงเล่นน้ำทะเลกันตามประสาหนุ่มสาว หาดทรายที่นี่สะอาด เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์  มีความเป็นส่วนตัว  เพราะไม่มีถนนเข้าไปถึง และอยู่ในเขตทหาร ไม่มีใครเข้ามาได้ง่ายๆ  จึงมีแต่พวกเราที่เล่นน้ำกันอยู่ไม่กี่คน นับว่าเป็นวีไอพีมาก  เมื่อเทียบกับสมัยนี้ที่คงไม่มีโอกาสได้เล่นน้ำบนหาดส่วนตัวแบบนี้อีกแล้ว
           พอเล่นน้ำ กินข้าวกินปลาเสร็จ  พวกเราเดินทางกลับโดยใช้เส้นทางไต่เลาะโขดหินริมทะเลกลับ เพื่อสำรวจเส้นทาง และได้ชมวิวครบทั้งสองเส้นทาง ขากลับนี้ยากกว่าขาไปเพราะต้องไต่หินชันในบางช่วง ซึ่งถือว่าเป็นการผจญภัยอย่างดี  สำหรับนายทหารใหม่เด็กๆอย่างพวกเรา และฝ่ายชายได้คอยช่วยเหลือในการไต่เกาะกลับ (เป็นการได้ทำคะแนนเพิ่มไปในตัว)
           ขณะเขียน Diary@เกล็ดแก้ว นี้ แม่แก้วชวนพ่อบุญกลับไปเยือนหาดน้อยอีกครั้ง เมื่อเดือน มิถุนายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา พบว่าหาดน้อยในปัจจุบัน มีชื่อเรียกว่า “หาดทรายแก้ว” หาดที่เคยสงบเงียบ เป็นธรรมชาติ ซ่อนตัวอยู่ในเมืองหลังเขาเมื่อเกือบ ๓๐ ปีที่ผ่านมา กลับกลายเป็นหาดที่มีถนนให้รถแล่นข้ามเขาไปยังหาด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติแวะมาพักผ่อน อาบแดด เล่นน้ำ มีการเก็บค่าเข้าไปเที่ยว บนหาดมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน มีทั้ง ศูนย์รับนักท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านนวด เรือคายัคให้เช่า ห้องอาบน้ำ และห้องน้ำ ฯลฯ
           แม่แก้วกับพ่อบุญชวนกันเดินดูจุดที่เราเคยเดินผ่านดงพุ่มไม้หนามออกมาสู่หาด และโขดหินชันทอดยาวที่เราไต่เกาะตอนขากลับแล้วคุยกันว่า ดูมันไกลและยากที่จะมา ไม่รู้วันนั้นพวกเรามาได้อย่างไร คงเป็นด้วยวัยหนุ่มสาวที่มีกำลังวังชา ความสดใส และความรักที่เกิดขึ้นในเมืองเล็กๆหลังเขา ที่ทำให้พวกเราได้ผจญภัยไปเที่ยวหาดน้อยในวันนั้น ^^