หน้าเว็บ

7/31/2558

ตอนที่ ๑๙ ตุ๊กแก และสิงสาราสัตว์ในบ้านซอย ๒

          ในตอนที่ผ่านๆมา แม่แก้วได้เล่าทิ้งท้ายไว้ถึงเรือนหอบ้านร้างซอย ๒ ที่มีตุ๊กแกอาศัยอยู่ร่วมสิบตัว ตุ๊กแกนี้มีนิสัยถ่ายเป็นที่เป็นทางมาก โดยจะถ่ายจากตามแนวคานบนเพดานไม้ที่มันเกาะ แม่แก้วต้องกวาดอุจจาระของมันทุกเช้าบนพื้นในครัวที่ตำแหน่งเดิมๆ บวกกับการมองเห็นตุ๊กแกทุกหนแห่งในบ้าน รวมทั้งในห้องนอน สร้างความหวาดผวาแก่แม่แก้วเป็นอย่างมาก
          สมัยเด็กๆ ปู่ย่าตายายขู่ไว้ว่า ถ้าถูกตุ๊กแกกัด มันจะกัดไม่ปล่อย จะโชคร้ายมาก ต้องกินขี้ ๑๐ ตุ่ม มันจึงจะปล่อย และถ้าเราดื้อ ตุ๊กแกจะมากินตับ หรืออีกเรื่อง คือ ตุ๊กแก ร้องว่า "ตับแก่ ๆ" เพื่อเรียกให้งูมากินตับแก่ของมัน ประกอบกับรูปร่างหน้าตาของตุ๊กแกน่ากลัวมาก มีหนังหนาๆ ตากกลม ปากกว้าง ตัวสีเขียวๆฟ้าๆมีจุดแดงๆส้มๆเต็มตัวไปหมด แม่แก้วจึงขอร้องให้พ่อบุญช่วยดำเนินการจับตุ๊กแกไปปล่อย (ทั้งๆที่ความจริงมันอยู่บ้านนี้มาก่อนเรา แต่เรามาทีหลังดังกว่า)
          เมื่อตกลงใจได้ว่าเรากับตุ๊กแกจะเข้าโครงการจากกันด้วยดีแล้ว (จริงๆ คือ เราตกลงใจกันเอง ตุ๊กแกไม่ได้ตกลงด้วย)  พ่อบุญจึงจัดหาอุปกรณ์จับตุ๊กแก โดยไม่เสียเลือดเสียเนื้อ จากการสอบถามผู้รู้ ซึ่งก็คือรุ่นพี่ทหารเรือในที่ทำงานนั่นแหละ  พี่เขาแนะนำกันต่างๆนานา  มีวิธีหนึ่งที่ดูน่าเชื่อถือที่สุด คือ ให้ซื้อยาฉุนมาปั้นเป็นก้อนติดปลายไม้ยาวๆไปแกว่งล่อให้ตุ๊กแกงับกลืนเข้าไป เสร็จแล้วมันจะเมายาฉุน ตกลงมาให้เราจับตัวไปปล่อยได้โดยละม่อม  เราสองคนจึงขี่มอเตอร์ไซด์ไปซื้อยาฉุนจากร้านลุงในบางเสร่ มาล่อให้ตุ๊กแกงับ  (ร้านลุงเป็นตึกไม้เก่าๆสองห้องบนถนนสายริมทะเลบางเสร่ ที่มีของขายทุกอย่างที่เราต้องการ) แต่ผลการดำเนินการครั้งแรก ครั้งสอง และครั้งต่อๆมาไม่ประสบผลสำเร็จ เจ้าตุ๊กแกไม่ยอมกินยาฉุน ไม่ว่าเราจะล่อให้ใกล้ปากยังไงก็ตาม
          เมื่อ Plan A ไม่สำเร็จ เราจึงคิด Plan B  คือ แผนของพ่อบุญ มีชื่อว่า "ปฏิบัติการพาตุ๊กแกคืนสู่ป่า" (จริงๆน่าจะเรียกวาแผนไล่ตุ๊กแกออกจากบ้านมากกว่า) ยุทโธปกรณ์ที่ใช้ใน Plan B ประกอบด้วย ไม้กวาดเพดานด้ามยาวที่ซื้อมาจากร้านลุงในบางเสร่ ผ้าขนหนูหนาๆที่ไม่ใช้เช็ดตัวแล้ว และถุงก๊อบแก๊บขนาดใหญ่พอใส่น้องตุ๊กฯและผูกปากถุงได้
          ขั้นตอนการปฏิบัติ เริ่มด้วยเงยหน้ามองหาตุ๊กแกเป้าหมายบนเพดานหรือผนังบ้าน เมื่อเจอเป้าหมายแล้ว พ่อบุญจะนำไม้กวาดเพดานด้านที่มีขนไม้กวาดเล็งให้ดีที่ตัวตุ๊กแก จากนั้นปัดลงมา ขั้นตอนนี้พ่อบุญทำอย่างว่องไวมาก กล่าวคือ ต้องปัดไล่ไปเรื่อยๆจนตุ๊กแกหล่นลงมาที่พื้น จากนั้นก็เอาไม้กวาดอันเดียวกันนี้แหละกดตัวตุ๊กแกไว้
             "ยัยโกะๆเอาถุงกับผ้ามาเร็วๆแล้วมาจับไม้กวาดกดไว้แน่นๆนะ"
          ยัยโกะ คือ ฉายานามที่พ่อบุญชอบใช้เรียกแม่แก้ว ยัยโกะที่ยืนเชียร์อยู่ก็จะรีบกระวีกระวาดไปรับช่วงถือไม้กวาดกดตัวตุ๊กแกไว้พร้อมกับส่งผ้าและถุงที่เตรียมไว้ให้พ่อบุญนำไปจับตัวตุ๊กแกที่กำลังดิ้นกระแด่วๆอยู่ ขั้นตอนนี้มีเทคนิคคือ คนกดต้องกดแรงๆ แต่ห้ามแรงจนตุ๊กแกบาดเจ็บ คนจับต้องใช้ผ้าทบให้หนาพอที่ตุ๊กแกจะงับเราไม่ได้ แต่ต้องไม่หนาไปไม่งั้นจะจับไม่ถนัด
          พ่อบุญจับตุ๊กแกตรงคอไม่ให้มันกระดุกกระดิกได้ นำมันใส่ถุงก๊อบแก๊บมัดปากถุง (พ่อบุญบอกว่า ตอนเด็กๆเล่นในทุ่งนาแถวบ้าน ชอบจับสัตว์ต่างๆเล่นบ่อยๆเลยไม่กลัวการจับตุ๊กแก) จากนั้นก็ขอกุญแจรถมอเตอร์ไซด์ขับปุเลงๆ มือนึงจับแฮนด์รถอีกมือถือถุงตุ๊กแกออกไปปล่อยไกลๆบ้านเรา สถานที่ปล่อยประจำคือปลายแหลม (เป็นคลังการเรือที่มีสะพานยื่นออกไปในทะเล ใช้สำหรับเรียนการเรือของนักเรียนจ่าทหารเรือ) เนื่องจากที่นี่มีเพื่อนตุ๊กแกเยอะ และมีแสงไฟล่อแมลง จึงไม่น่าจะอดตาย ประกอบกับถ้าปล่อยในป่า ก็อาจไปอยู่บ้านคนอื่นให้เขาว่าเอาได้
          ช่วงนั้น กิจวัตรประจำวันของบ้านเราในตอนเช้าก่อนไปทำงาน และตอนเย็นหลังเลิกงาน ได้แก่ การสอดส่ายสายตามองหาตุ๊กแกที่เกาะอยู่ตามผนังบ้าน และตามเพดาน เมื่อพบแล้วก็ชวนกันลงมือจับตุ๊กแก  เราทำงานกันเป็นทีม พ่อบุญชำนาญการจับขึ้นเรื่อยๆ จากที่กว่าจะจับได้ใช้เวลานาน หรือตุ๊กแกหนีรอดไปได้บ้าง เป็นจับได้เร็วขึ้น ส่วนยัยโกะก็ส่งอุปกรณ์กับทำหน้าที่กดตัวตุ๊กแกได้แน่นขึ้น ไม่เก้ๆกังๆ จนดิ้นหลุดเหมือนหนแรกๆ บางคราวพ่อบุญจับตุ๊กแกได้แล้ว ยังมีลูกเล่นถือตุ๊กแกมาแกล้ง "แฮ่" ใส่แม่แก้วได้อีก (นิสัยไม่ดีมาก) ในที่สุดตุ๊กแกแกก็ถูกพาออกจากบ้านจนเหลือตัวสุดท้าย
          เจ้าตัวสุดท้ายนี้ ตัวใหญ่มาก น่าจะเป็นพ่อตุ๊กแก หรือหัวหน้าตุ๊กแก เราจับได้ในเช้าก่อนไปแถวเวลา ๐๘๓๐ บังเอิญใกล้เวลาแถว เลยวางตุ๊กแกใส่ถุงใว้หน้าบ้านแล้วไปอาบน้ำอาบท่าแต่งตัวไปทำงาน กะว่าจะพาไปปล่อยตอนออกจากบ้านไปแถว แต่ลืมสนิท จนพักกลางวันกลับมาบ้านซอย ๒ (บ้านเรากับที่ทำงานอยู่ห่างกันแค่ ๕๐๐ เมตร เลยกลับบ้านทุกพักกลางวัน) ผลปรากฏว่าเจ้าตุ๊กแกโชคร้ายต้องตากแดดอยู่ในถุงครึ่งวัน กว่าพ่อบุญจะพาไปปล่อย พ่อบุญบอกว่า ตอนปล่อยมันออกจากถุง มันค่อยๆคลานออกจากถุงอย่างหมดเรี่ยวหมดแรง (น่าสงสารจัง ขออโหสินะ)
          หลังจากนั้นมา บ้านเราก็ปลอดตุ๊กแกโดยสิ้นเชิง แม่แก้วดีใจมากที่ได้นอนในห้องนอนที่ไม่มีตุ๊กแกอีกต่อไป  สำหรับสิงสาราสัตว์อื่นๆในบ้านซอย ๒ ได้แก่ นกที่มาทำรังออกไข่ที่ประตูทางออกหลังบ้าน  นกที่หลงเข้ามาบินในบ้านแล้วหาทางออกไม่ได้ บินหาแสง บินชนกระจกซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนต้องช่วยนำออกไป  งูเขียวตัวเล็กที่เลื้อยเข้ามาทางหน้าต่างช่องบันได ค้างคาวที่มานอนห้อยหัวในห้องน้ำชั้นล่างทุกวัน (เช้ามานอนเย็นออกไปหากิน)  แมลงสาบที่มีมากมาย จนต้องฉีดยาปิดประตูห้องน้ำทิ้งไว้ เก็บศพได้เป็นกระป๋อง หนูที่ใช้กรงดักไปปล่อยไกลๆ ผึ้งหรือต่อที่ทำรังตามผนังบ้าน จิ้งจกที่มาอยู่มากมายแทนตุ๊กแก มด แมลงหวี่ และแมลงเม่าที่มาเล่นไฟหลังฝนตก ฯลฯ สัตว์เหล่านี้ บางชนิดเป็นสัตว์พาหะ จึงต้องใช้วิธีจากกันด้วยสันติ ยกเว้นบางกรณีที่ไม่สามารถทำได้อาจจำใจต้องใช้มาตรการเด็ดขาดบ้าง
          หลังจากพ่อบุญกับแม่แก้วเข้าไปอยู่บ้านร้างซอย ๒ ได้สักพักสิงสาราสัตว์เหล่านี้ก็ทยอยอพยพออกไป ส่วนบ้านที่ตอนแรกดูร้างและทรุดโทรมจนไม่น่าจะอยู่ได้ เมื่อมีคนเข้าไปอยู่ก็กลับมามีชีวิตชีวาขึ้น คนที่มาเยี่ยมบ้านมักทักว่าบ้านเปลี่ยนไปมาก ไม่น่าเชื่อว่าบ้านร้างที่เต็มไปด้วยต้นไม้รกครึ้มและสิงสาราสัตว์ จะกลายมาเป็นบ้านที่สะอาดสะอ้านมีชีวิตชีวาได้อีกครั้ง ^___^

7/24/2558

ตอนที่ ๑๘ เรื่องงูๆ บ้านงู และ งูที่ BOQ

              ตอนที่ ๑๖  แม่แก้วได้ติดเรื่อง "บ้านงู" ไว้ ตอนนี้จึงจะขอเล่าเรื่องงูๆ ที่เราได้ประสบพบเจอกันในเกล็ดแก้ว 
          ดังที่เล่ามาในตอนก่อนหน้านี้ว่า เกล็ดแก้วเป็นเมืองหลังเขาที่กว้างใหญ่ ด้านหนึ่งติดทะเลอ่าวเกล็ดแก้วทั้งอ่าว ส่วนอีกด้านติดกับทิวเขาที่ทอดยาวตลอดอ่าว พื้นที่อันกว้างใหญ่ในเกล็ดแก้ว แบ่งเป็น ส่วนที่ทำงาน  (บก.) ที่เรียน ที่ฝึก ที่พักนักเรียนตามภาคต่างๆ (รวมถึงตึกรูปเพชรที่เป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียน ขอเก็บไว้เล่าในตอนต่อๆไป) โรงเลี้ยง คลังตำรา สนามเล่นกีฬาต่างๆ ทั้งฟุตบอล รักบี้ สระว่ายน้ำ กองบริการ แผนกแพทย์  แผง สโมสร อาคารพักโสด และบ้านพักต่างๆ ฯลฯ
          สิ่งปลูกสร้างที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะถูกวางจัดแบ่งอย่างเป็นระเบียบสวยงามอย่างชนิดที่ว่ามีการวางแผนระยะยาวตั้งแต่เริ่มสร้าง หากมองจากภาพถ่ายทางอากาศแล้วจะเห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อยของการแบ่งพื้นที่ต่างๆในโรงเรียน แม่แก้วไม่รู้ว่าใครออกแบบวางผังสถานที่ต่างๆในโรงเรียนที่มีอายุที่มีอายุร่วมร้อยปีนี้ ท่านเก่งมาก แม่แก้วรู้แต่ว่าเดิมทีเกล็ดแก้วแห่งนี้เป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือมาก่อน แล้วแลกที่ตั้งกับโรงเรียนชุมพลทหารเรือ ป้อมเสือซ่อนเล็บ ในปี พ.ศ.๒๔๙๕
          นอกจากสิ่งปลูกสร้างที่เราเข้าไปอยู่แล้ว พื้นที่ที่เหลือของเกล็ดแก้ว เป็นพื้นที่ป่าเขา โดยรอบจะเต็มไปด้วยป่าเขา ที่ยังคงมีความเป็นธรรมชาติ และมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย จนมีนายพรานทหารเรือสมัครเล่นเข้าไปล่าสัตว์ในป่าเขาและหาของป่ากันเป็นประจำ เรื่อง "ปืนผูก" ที่นายพรานมือสมัครเล่นผูกทิ้งไว้ล่าสัตว์ จึงเป็นข้อห้ามที่มีการประกาศเตือนอยู่บ่อยๆว่าห้ามใช้ เนื่องจากอาจเกิดอันตรายกับคนอื่นที่เข้าไปหาของป่าได้  สำหรับ "งู" ก็เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าที่อาศัยในเกล็ดแก้วมาก่อนเราเข้าไปอยู่  งูในเกล็ดแก้วมีทั้ง งูเห่า งูจงอาง งูกะปะ และงูเล็กๆพันธ์อื่นๆอีกมากมาย
          "บ้านงู" คือ บ้านชั้นยศนายนาวา เป็นบ้านร้าง ที่ตั้งอยู่บนถนนที่เชื่อมระหว่างซอย ๒ กับ ซอย ๓  มีคนเคยเห็นว่ามีงูจงอางตัวใหญ่เลื้อยเข้าไปในบ้านหลังนี้บ่อยๆและลือกันว่าแม่งูมีลูกงูอยู่ในบ้านด้วย (นี่เป็นเหตุให้พ่อบุญและแม่แก้วกลัวว่าบ้านร้างซอย ๒ ที่ใช้เป็นเรือนหอจะมีงูอาศัยอยู่)  พวกเราจึงตั้งชื่อบ้านหลังนี้ว่า "บ้านงู" แม่แก้วไม่เคยเห็นงูตัวนี้ แต่ก็เชื่อว่าคงมีจริง และเวลาขี่รถมอเตอร์ไซด์ หรือเดินผ่านบ้านหลังนี้เราจะระมัดระวังเป็นพิเศษ
          ช่วงก่อนแต่งงาน พ่อบุญขี่รถมอเตอร์ไซด์จาก BOQ มาหาแม่แก้ว ที่บ้านแฝดซอย ๓ ในช่วงหัวค่ำ โดยใช้เส้นทางซึ่งผ่านบ้านงู พอพ่อบุญขับมาใกล้บ้านงูในยามโพล้เพล้ เสียงเครื่องรถมอเตอร์ไซด์ดังเข้าใกล้บ้านงู  พ่อบุญได้เห็นวัตถุที่เหมือนท่อนไม้ใหญ่สูงราวสักเอว ชูตั้งสูงขึ้นมาที่ขอบถนนด้านบ้านงู แรกๆพ่อบุญนึกในใจว่า
          " แปลกจัง ทำไมมีท่อนไม้ตั้งสูงขวางทางอยู่บนถนน " (ปกติท่อนไม้ควรต้องวางนอนไปกับพื้นถนน)
          พอรถแล่นเข้าใกล้จนพอมองเห็น จึงพบว่าท่อนไม้ขนาดใหญ่นี้ คือ งูจงอางที่ชูคอขึ้นสูงอยู่ขอบถนน ที่เป็นเส้นทางมาบ้านซอย ๓
          เมื่อพิสูจน์ทราบด้วยสายตาจนแน่ชัดแล้ว พ่อบุญไม่รีรอ รีบทิ้งโค้งเลี้ยวรถกลับออกมาจากตรงนั้นอย่างรวดเร็วชนิดที่เรียกว่า "เผ่นน้ำบาน"  โชคดีที่เจ้างูตัวนี้ไม่ได้เลื้อยตามมา เขาว่างูจงอางเลื้อยได้เร็วมาก ถ้าวิ่งหนีงูจงอางจะหนีไม่ทัน
          ในเกล็ดแก้ว  มีการกล่าวขานเรื่องเจองูอยู่เรื่อยๆ เช่น ครูรุ่นพี่บ้านซอย ๓ เปิดประตูบ้านออกมาจ๊ะเอ๋กับงูตัวโตชูคอทักทายอยู่หน้าประตู  ต้องรีบปิดประตูแทบไม่ทัน  บ้านที่อยู่ชายเขาใกล้ป่ามักเจองูเข้าบ้าน  มีงูเห่าไปขดนอนอยู่ใต้ตู้เย็น มุดเข้าไปใต้เครื่องซักผ้าบ้าง งูจงอางเข้าไปอยู่ในครัวบ้าง สร้างความหวาดหวั่นแก่เจ้าของบ้าน การจับงูพิษตัวใหญ่ๆนี้ทำได้ยากมาก เพราะงูก็กลัวเรา เราก็กลัวงู บ่อยครั้งจึงจบลงด้วยการเสียชีวิตของงู ที่โชคดีหน่อยก็ตามกู้ภัยมาช่วยจับไปปล่อยรอดชีวิตไป ประสบการณ์เรื่องงูในเกล็ดแก้วจึงเป็นเรื่องที่เล่าขานกันอยู่เรื่อยๆ แม่แก้วว่าคงไม่มีใครที่ไม่เคยเจองูเลยในเกล็ดแก้ว
บ้านร้างเรือนหอของแม่แก้วเองก็เคยเจองูบ้าง เป็นงูตัวเล็กไม่มีพิษเข้ามาในบ้าน งูกะปะหลงมานอนอยู่ที่ลานปูนนอกบ้านบ้าง  แม่แก้วเคยเห็นงูเห่าสีดำตัวใหญ่ยาวสัก ๒ - ๓ เมตร เลื้อยออกจากพงหญ้าแถวต้นมะขามใหญ่ข้างบ้านข้ามถนนเข้าไปในป่าหลังบ้านตรงข้าม บ้านตรงข้ามแม่แก้วก็เคยมีงูไปนอนด้วยข้างๆมุ้งเด็กเล็ก  นอกจากนี้ แม่แก้วยังเจอลูกงูตัวเล็กๆ ชูคอแผ่แม่เบี้ยส่งเสียงฟ่อๆ ที่ชายทะเลหน้าบ้านรับรอง งูตัวเล็กนี้เลื้อยปราดปรียวมาก ตัวเล็กเลยยังไม่น่ากลัว ดูน่ารักเหมือนงูเด็กๆที่พยายามจะขู่ให้เรากลัว  แต่เรื่องเจองูที่ดังๆและจำได้แม่น เห็นจะเป็นเรื่อง “งูที่ BOQ
          ยุคนั้น บรรยากาศในที่พักนายทหารสัญญาบัตรโสดนี้ มีสีสันมาก ตกเย็นก็ตั้งวงเฮฮา ดึกๆบางคืนก็ชวนกันขี่รถมอเตอร์ไซด์ออกไปเที่ยวพัทยา ตามประสาหนุ่มโสด นายทหารฝึกที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือใหม่ๆนี้ มีความกล้าบ้าบิ่นตามประสาวัยรุ่นอยู่หลายเรื่อง ในวันนั้น มีงูจงอางหลงเข้าไปขดตัวในตู้เหล็กที่วางอยู่ที่ชั้นล่างอาคารพัก รุ่นพี่ที่มีปืนจึงนำปืนมาเล็งและยิงจนงูเคราะห์ร้ายตัวนี้ตาย งูที่ถูกยิงนี้บิดตัวสะบัดตัวด้วยความเจ็บปวดก่อนสิ้นใจ  เลือดงูจำนวนมากจึงนองไปทั่วบริเวณนั้น  ต้องล้างทำความสะอาดพื้น  เลือดงูไหลไปตามท่อระบายน้ำ กลิ่นคาวเลือดคละคลุ้ง เพราะงูตัวโต ตอนแรกๆก็ยังตื่นเต้นตกใจอยู่ จึงไม่มีใครนึกอะไร แต่สักพักมีคนนึกได้ว่า งูส่วนใหญ่จะมีคู่ และคู่ของมันจะอาฆาตมาตามแก้แค้น 
          บรรยากาศในคืนวันนั้น และอีกหลายวันต่อๆมา จึงเป็นบรรยากาศแห่งความหวาดผวา พอตกค่ำ หนุ่มโสดผู้กล้าชาว BOQ จะรีบเข้านอนกันแต่หัวค่ำ  พร้อมทั้งปิดประตูหน้าต่าง อุดรูรั่วและช่องโหว่ต่างๆอย่างมิดชิด ด้วยความกลัวว่างูจะกลับมาแก้แค้น เล่นเอา BOQ ที่เคยคึกคักเงียบเหงาไปหลายวันทีเดียว จนหลายวันต่อมาค่อยหายกลัวและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ  โชคดีที่ไม่มีงูตามมาแก้แค้นไม่งั้นคงมีเรื่องเล่าต่อได้อีก
          BOQ ตั้งอยู่ชายป่า นอกจากงูแล้ว บางทียังมีฝูงหมูป่าลงมาหาน้ำและอาหารกินในปีที่แห้งแล้งมากๆ เรื่องสัตว์ป่าต่างๆนี้ คนเก่าแก่ที่อยู่มาก่อนแม่แก้วบอกว่า สมัยก่อนมีเก้ง กวาง สัตว์ป่า ชุกชุม รวมถึงแมงดาที่มาเล่นไฟจนเก็บได้เป็นกะละมัง นักเรียนจ่าก็เช่นกัน ในวันหยุดมีการแอบออกไปผจญภัยในป่า หาอาหารป่า เผือกมันต้มกินกันในถังเปลโลหะที่ใช้ใส่น้ำถูพื้น (แสวงเครื่องกันเก่งตั้งแต่เป็นนักเรียน) นักเรียนที่มาจากภาคอีสานนี้มีความสามารถในการดำรงชีพในป่า หาสัตว์ และของป่ามาหุงหาอาหารกิน ตอนฝึกภาคทะเลที่มีการปล่อยเกาะให้ดำรงชีพเอง นักเรียนจากภาคอีสานนี้จะหาอาหารเก่งมากกว่าเพื่อน
          ท่านผู้อ่าน หรือนักเรียนจ่ารุ่นเก่าๆ ที่เคยพักอาศัยในเกล็ดแก้ว คงมีประสบการณ์เรื่อง งูๆ มากมายเช่นเดียวกับแม่แก้ว สำหรับ "บ้านงู" นี้ภายหลังมีนายทหารชั้นยศนายนาวา เข้าไปพักอาศัย และไม่ปรากฏว่ามีเรื่องงูที่บ้านหลังนี้ให้ได้ยินอีกเลย  ตอนที่เขียนบทความนี้ แม่แก้วรู้สึกสงสารงูที่เสียชีวิต และงูที่ BOQ เพราะงูเป็นสัตว์ที่เมื่อเจอมนุษย์ทีไร มันมักจะเคราะห์ร้าย ไม่บาดเจ็บก็ถึงแก่ชีวิต แม่ของพ่อบุญที่มาอยู่ด้วยตอนหลังเกษียณท่านสอนให้ท่องคาถาชินบัญชรไว้ป้องกันตน และหากเจอกับเขา ให้แผ่เมตตาให้เขา ให้ต่างคนต่างอยู่ ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ซึ่งแม่แก้วว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ^^          

7/18/2558

ตอนที่ ๑๗ จัดงานแต่งงานและย้ายเข้าไปอยู่บ้านซอย ๒

            หลังจากที่พ่อบุญตระเตรียมบ้านร้างซอย ๒ ให้พร้อมสำหรับอยู่ โดยถูบ้านทุกวันจนเห็นลายไม้ และถางหญ้ากับต้นไม้ที่เลื้อยเข้ามาในบริเวณบ้านตามที่เล่ามาในตอนที่แล้ว ส่วนแม่แก้วได้ไปขอร้องให้กองบริการมาช่วยซ่อมแซมบ้านให้พออยู่ได้ เนื่องจากสภาพบ้านมีปลวกกินผนังไม้ผุทะลุอยู่หลายจุด ทางหัวหน้าแผนกโยธา ได้ใจดีส่งช่างมาซ่อมผนังทาสีจนพออยู่ได้ เอาเป็นว่าในที่สุดบ้านครอบครัวของเราก็พร้อมเข้าอยู่แล้ว
          งานแต่งงานของพ่อบุญและแม่แก้ว จัดขึ้นตามฤกษ์ที่หลวงตาที่วัดแถวบ้านให้มา ในวันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๑ ที่ ๔ ปีจะมีวันครบรอบแต่งงานได้ครั้งหนึ่ง  ณ ราชนาวีสโมสร การเตรียมงานนี้ เราไม่มีเงินมากมาย จึงจัดแบบประหยัด ค่าใช้จ่ายหลักๆ คือ แหวนแต่งงาน กับสินสอดเล็กน้อย ของชำร่วยไปเดินซื้อหาเอาแถวๆ พาหุรัดมาติดสติกเกอร์เอง  งานหมั้นตอนเช้าใช้ชุดเครื่องแบบขาวน้อย งานแต่งตอนหัวค่ำเจ้าบ่าวใช้ชุดขาวใหญ่ ส่วนเจ้าสาวใช้ชุดแต่งงานของพี่สาวที่เพิ่งแต่งไปก่อนหน้านั้นไม่นาน
          ช่วงเช้าหลังงานหมั้น ทางบ้านแม่แก้วจัดพิธีเลี้ยงพระให้ สำหรับงานแต่งทางราชนาวีสโมสรรับจองและมีมัดจำเล็กน้อย การจัดเลี้ยงแบบบุฟเฟ่ห์สมัยนั้นราคาไม่แพง หลังจากงานแต่งงานเสร็จในคืนนั้น พี่สาวคนโตของแม่แก้วช่วยที่ช่วยดูแลเรื่องรับซองได้เปิดซองเอาเงินช่วยงานออกมานับทันทีเพื่อจ่ายค่าอาหารในงาน โชคดีที่เงินช่วยงานในซองพอจ่าย ไม่งั้นคงขายหน้าแย่
          การย้ายเข้าไปอยู่ในเรือนหอบ้านซอย ๒  ของเรานั้นง่ายมาก กล่าวคือ เราใช้มอเตอร์ไซด์หอบเสื้อผ้าที่มีอยู่ในไม่เยอะเท่าไรจาก BOQ ที่พ่อบุญอยู่ กับบ้านแฝดซอย ๓ ที่แม่แก้วอยู่  วิ่งขนสักสองสามรอบก็เสร็จ  บรรยากาศเหมือนหอบเสื้อหอบผ้าหนีตามกันเลยที่เดียว 
          เรามีตู้เสื้อผ้าที่ซื้อใหม่ ๑ ใบ ราคาประมาณพันบาท มีที่นอน ๑ หลังซื้อจากร้านขายเฟอร์นิเจอร์ในตลาดสัตหีบเช่นเดียวกัน ที่นอนนี้ราคาไม่แพง ด้านหนึ่งเป็นฟองน้ำ อีกด้านเป็นใยมะพร้าว นอนได้ไม่ถึงปีก็บุ๋มเป็นหลุมตามรอยตัวเรานอน ทำให้นอนแล้วปวดหลังเอาการ  โต๊ะกินข้าว ใช้โต๊ะนักเรียนเก่าๆที่เขาไม่ใช้แล้วมาวางต่อกันสี่ตัวเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซื้อผ้าพลาสติกเมตรสิบกว่าบาทมาปูคลุมโต๊ะ เท่านี้ก็ได้โต๊ะกินข้าว เก้าอี้ก็เป็นเก้าอี้นักเรียนเก่าๆมาซ่อมใช้เช่นกัน  สำหรับโซฟารับแขกไม่มี อาศัยนอนดูทีวีบนพื้นไม้ มีหมอนหนุนหัวหน่อย เย็นสบายดี  ใครไปใครมาเยี่ยมเยียนก็รับแขกนั่งคุยกันบนพื้นบ้านนั่นแหละ
          ห้องครัวของเราก็มีของที่แพงหน่อย คือ เตาแก๊สกับถังแก๊ส (ตอนอยู่บ้านครูผู้หญิงใช้เตาขดลวดไฟฟ้า) ส่วนที่ล้างจานปรับปรุงจากโครงที่ล้างจานเดิมผุๆที่ติดมากับบ้าน ฝาตู้พังแล้ว นำมาซ่อมแกะฝาตู้ทิ้งไป แกะเปลือกไม้ที่ถลอกร่อนทิ้งไป กรุผิวด้วยผ้าพลาสติก  แล้วซื้อหลุมที่ล้างจานอลูมิเนียมราคาถูกมาวางใส่ลงไปที่โครงตู้  อ่างล้างจานนี้วางตรงหน้าต่างในบ้านส่วนที่จัดเป็นครัว (บ้านเรากว้างมาก) เวลาล้างจานจึงมีความสุขมาก เพราะได้มองวิวทุ่งหญ้าเขียวๆส่วนน้ำที่ล้างจานแล้วเราใช้สายยางขนาดใหญ่ยาวสักเมตรกว่าๆ ต่อเป็นท่อน้ำทิ้งลงตรงที่พื้นดินขอบบ้านเลย พอท่อตันเพราะเศษอาหารอุดตามรอยพับ แม่แก้วก็แค่เดินออกไปขยับตรงรอยพับให้เศษอาหารหลุดออกไป ไม่ต้องยุ่งยากเหมือนบ้านในเมืองที่ต้องระวังท่อตัน  ซึ่งตรงปลายท่อน้ำล้างจาน เราก็ปลูกต้นพริก พืชสวนครัวเล็กๆน้อยๆ ไว้เก็บกินได้อีกต่อ
          สำหรับเครื่องไฟฟ้าในบ้านที่จำเป็น ได้แก่ ตู้เย็น พัดลม เป็นสินเดิมของแม่แก้วที่ซื้อไว้ใช้ตอนอยู่บ้านแฝดซอย๓ สมบัติของพ่อบุญ ได้แก่ พัดลม กับวิทยุธานินทร์แบบเล่นเทป(รุ่นที่เป็นตลับเทปเส้นๆม้วนในตลับ) เทปที่ติดมาเป็นของวงดิอิมพอสสิเบิ้ล และภูสมิง เป็นต้น เครื่องไฟฟ้าเครื่องแรกที่เป็นสินสมรส ซื้อจากเงินที่เหลือจากการจัดงานแต่งงาน ได้แก่ ทีวีจอขนาด ๑๒ นิ้ว ยี่ห้อฟิลลิป ราคาหลายพันบาท ซึ่งพ่อบุญเห่อมาก คอยปรับภาพ หมุนเสาอากาศให้ชัดอยู่นาน เพราะคลื่นทีวีในเกล็ดแก้วไม่ค่อยชัด อย่างที่เคยบอกไว้แล้วว่า บ้านเราอยู่หลังเขา คลื่นมันคงข้ามเขามาลำบาก
          การดูทีวีในเกล็ดแก้ว ใช่ว่าจะดูได้ชัดทุกวัน ละครช่อง ๓ นี่ ถ้าดูติดแล้ว บางวันอาจดูไม่ได้เพราะคลื่นไม่ชัด ละครช่อง ๗ นี่ดีหน่อยชัดกว่าช่อง ๓ แต่เรามักชอบดูช่อง ๓ เลยต้องลุ้นเอาเป็นวันๆ ยิ่งถ้าตอนอวสานนี่อดดูอยู่บ่อยๆเพราะสัญญาณล่ม สมัยนั้นไม่มีอินเตอร์เน็ตให้โหลดมาดูย้อนหลังเหมือนสมัยนี้
          เรื่องคลื่นต่างๆที่เข้ามาหลังเขายากนี้ เห็นจะแก้ยาก ตอนช่วงที่มีมือถือใหม่ๆ (ช่วงนั้นแม่แก้วย้ายออกมาแล้ว) น้องๆบอกว่า ต้องแขวนมือถือไว้ในจุดที่รับสัญญาณได้ ตามหน้าต่างห้องทำงาน เวลาจะโทรออกหรือรับสายต้องไปโทรที่ตำแหน่งนั้น  เหมือนกับที่ตอนแม่แก้วไปราชการที่เกาะช้าง จังหวัดระนอง ตอนนั้นไปสำรวจผลกระทบสภาพแวดล้อม ของหน่วยทหารเรือที่นั่น จะมีต้นไม้อยู่ต้นหนึ่งที่ออกลูกเป็นมือถือ เพราะทหารทุกนายในหน่วยจะนำมือถือไปแขวนรับสัญญาณที่ต้นไม้ต้นนี้ และจัดทหารเข้ายามอยู่ใกล้ๆ เฝ้าโทรศัพท์ ถ้ามีสายเรียกเข้าจะวิ่งไปเรียนให้เจ้าของเครื่องมารับโทรศัพท์
          เครื่องซักผ้าในสมัยนั้นเป็นของฟุ่มเฟือย  เครื่องซักผ้าของบ้านเรา ได้แก่ กะละมังใบใหญ่ ๒ ใบ กับแปรงซักผ้า สถานที่ซักผ้า คือ ลานปูนหลังบ้าน ที่มองออกไป คือ วิวชายทะเล ลมทะเลพัดมา ขณะซักผ้าจึงรื่นรมย์ ใกล้ชิดธรรมชาติมาก วันดีคืนดีที่น้ำไม่ไหลมาเลย น้ำในถังเก็บจวนหมด ไม่พอใช้ซักผ้า ผ้าที่มีอยู่ก็ใช้จนไม่มีจะใส่แล้ว เราก็จะขนผ้ากองโตไปขอน้ำซักผ้ากับทหารที่เฝ้าบ้านรับรองริมทะเล เพราะบ้านรับรองมีถังน้ำขนาดใหญ่ และส่วนใหญ่มีแขกมาพักเฉพาะวันหยุด
          บ้านรับรองซอย ๑ ริมทะเลนี้ มีวงจรชีวิตที่ซ้ำๆ กล่าวคือ จะมีชีวิตชีวาในตอนสายๆวันเสาร์ที่แขกเดินทางมาถึงและเข้าพัก คืนวันเสาร์จะมีเสียงร้องเพลงและคุยกันดังลั่นมาถึงบ้านซอย ๒ พอสักสายๆวันอาทิตย์แขกก็เดินทางกลับ บ้านรับรองกลับมาเงียบเหงาไปอีก ๕ วัน จนเข้าวงรอบแขกมาพักใหม่ หากเป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน หรือวันหยุดยาว แขกจะมาเที่ยวบ่อยขึ้น
          ส่วนเรื่องขาดแคลนน้ำในเกล็ดแก้วนี้  เป็นเพราะ น้ำไม่ไหล หรือไหลมาแป๊บเดียว หรือไหลอ่อนมากๆ ดังที่บอกแล้วว่า เกล็ดแก้วอยู่หลังเขา และห่างจากฐานทัพเรือสัตหีบมาก เรื่องน้ำจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้อย่างประหยัดและหาทางรองน้ำมาเก็บไว้ใช้ให้ได้มากที่สุด (คนสัตหีบ เวลาเห็นคนกรุงเทพฯใช้น้ำอย่างไม่ประหยัด เปิดทิ้งเปิดขว้าง จึงได้แต่ทำตาปริบๆด้วยความเสียดายน้ำที่หายาก)  
          พ่อบุญได้ลงทุนซื้อโอ่งลายมังกรมา ๑ ใบ แล้วขุดดินฝังโอ่งให้น้ำที่ไหลมาอ่อนๆไหลลงโอ่งฝังดิน (บ้านอื่นอาจไม่มีแรงดันไหลขึ้นถึงแล้ว แต่เรายังได้น้ำเพราะรองจากระดับพื้นดิน)  จากนั้นใช้ปั๊มไดร์โว่จุ่มในโอ่ง สูบน้ำเข้าไปเก็บในถังเก็บอีกต่อ นับว่ากลยุทธ์นี้ใช้ได้ดีทีเดียว เพราะทำให้เราได้น้ำมากขึ้น
          ชีวิตเริ่มต้นครอบครัวของแม่แก้วในเกล็ดแก้วเมืองหลังเขาริมทะเลแสนสวยนี้ เป็นช่วงชีวิตที่ไม่ค่อยมีเงินทองและทรัพย์สมบัติ ข้าวของเครื่องใช้อะไรๆไม่ได้มีครบถ้วน และสะดวกสบายนัก แต่เป็นชีวิตที่ได้อยู่กับธรรมชาติ  รุ่นพี่ทหารเรือท่านหนึ่งบอกกับแม่แก้ว ตอนที่แม่แก้วขอย้ายเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯว่า
          "จะย้ายไปกรุงเทพเหรอ คิดดูให้ดีนะ ถ้าอยู่สัตหีบแล้วย้ายไปทำงานที่กรุงเทพฯ จะต้องคิดถึงสัตหีบมาก"

          ตอนนั้นแม่แก้วไม่เชื่อ แต่ตอนนี้เชื่อแล้วอย่างสนิทใจ ^^       

7/11/2558

ตอนที่ ๑๖ เรือนหอ-บ้านร้างซอยสอง

             "หากค่ำคืนนี้ หัวใจไม่แหลก ยับเยินเสียก่อน จะไปอ้อนวอน ขอเธออย่าตัดรอน รอก่อน วันพรุ่งนี้...."     
          ตอนเย็นหลังเลิกงาน เสียงเพลงของพี่แจ้ (ดนุพล แก้วกาญจน์) และเสียงดีดกีตาร์ ที่ร้องและเล่นโดยพ่อบุญ ดังลั่นซอยมาจากบ้านแฝดหลังติดกับบ้านแม่แก้ว แม่แก้วว่ามันเป็นวิธีเรียกร้องความสนใจที่เชยและเฉิ่มมากสำหรับเด็กกรุงเทพฯอย่างแม่แก้ว (ช่างทำไปได้) แต่คนร้องก็ตั้งใจร้องมาก จนไม่กล้าที่จะว่าอะไร (เพราะผู้ชายงอนนี้ ง้อยากกว่าผู้หญิงงอนมากหลายเท่า) เอาเป็นว่าเขามาแนวเฉิ่มๆละกัน
            ช่วงนั้น หลังจากทำงานได้สักปีกว่า เพื่อนๆที่มาทำงานพร้อมๆกันในรุ่นรวมถึงนายทหารฝึกบางนาย ก็ทยอยกันจัดงานแต่งงานสร้างครอบครัว  แม่แก้วเองก็เช่นกัน ได้แต่งงานกับพ่อบุญในช่วงต้นปี พ.ศ.๒๕๓๑ ตอนนั้นแม่แก้วเป็นเรือตรีหญิง และพ่อบุญเป็นเรือโท  
            การแต่งงานตั้งแต่เข้าทำงานได้สักปีกว่าๆนี้  สำหรับเพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยมาด้วยกันจัดว่าเร็วมากจนเพื่อนๆตกใจ แต่สำหรับเพื่อนทหารเรือในรุ่นเดียวกันนี้ ถือว่าช่วงนั้นเป็นช่วงฮิตของการชวนกันแต่งงาน แม่แก้วจำได้ว่าพวกเราว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวคู่แต่งงานนัดไปจดทะเบียนสมรสกันที่ที่ว่าการอำเภอสัตหีบ พร้อมกัน ๓ คู่  โดยผลัดกันเป็นพยานให้กัน  บรรยากาศตอนจดทะเบียนชื่นมื่นมาก นายอำเภอพูดคุยอย่างเป็นกันเอง เมื่อจดทะเบียนแล้ว พวกเราจะนำทะเบียนสมรสมาเป็นหลักฐานในการยื่นขอบ้านหลวงประเภทบ้านครอบครัว เนื่องจากบ้านแฝดซอย ๓ เป็นบ้านพักสำหรับนายทหารหญิงโสด และ BOQ เป็นที่พักสำหรับนายทหารชายโสด เมื่อแต่งงานแล้วต้องย้ายออกไปอยู่บ้านครอบครัว
            ตอนนั้นไม่มีบ้านครอบครัวชั้นสัญญาบัตรว่างเลย ผู้บังคับการ รร.ชุมพลฯ ในช่วงนั้น ท่านใจดีมากและสนับสนุนให้เราแต่งงานสร้างครอบครัว ท่านบอกว่าแต่งไปก่อนแล้วค่อยๆช่วยกันสร้างเนื้อสร้างตัวดีกว่ามัวรอเก็บเงินเก็บทองให้มีบ้านมีรถพร้อมก่อนอาจนานมากจนไม่ได้แต่ง ท่านได้อนุญาตให้นายทหารเด็กๆอย่างเราใช้บ้านสำหรับชั้นยศนายนาวาที่ทิ้งร้างที่ไม่มีคนอยู่มาหลายปีเป็นบ้านสร้างครอบครัว  
            บ้านหลังแรกของครอบครัวเรานี้ตั้งอยู่ที่ซอยที่ ๒ จากทะเล หากเข้าซอยสองแล้วจะเป็นหลังแรกทางขวามือ หน้าบ้านติดถนนซอย ๒ ด้านหลังบ้านใกล้ทะเล หันหลังชนกับบ้านรับรองซอย ๑ ที่อยู่ติดทะเล  จากบ้านหลังนี้จึงมองเห็นชายทะเลชัดเจน บรรยากาศจึงเป็นธรรมชาติมากๆ เพราะได้นอนฟังเสียงคลื่นทุกวัน โดยเฉพาะช่วงมรสุมเข้า คลื่นลมแรงมากจนรีดเข้าทางช่องผนังไม้ ดังหวีดๆ  ทั้งวันทั้งคืน
            หน้าบ้านหลังนี้ มีต้นมะขามขนาดใหญ่มาก ๑ ต้น ต้นมะขามต้นนี้ เมื่อเข้าอยู่แล้ว แม่แก้วได้เก็บฝักสุกที่หล่นพื้นมาแกะเปลือกทำมะขามเปียกทานเองและแจกญาติๆได้มากมาย เก็บเท่าไรก็ไม่มีวันหมด บางทีแม่บ้านทหารเรือในละแวกก็มาขอเก็บไปทำมะขามเปียกขายหารายได้  รอบๆบ้านซอย ๒ เป็นทุ่งหญ้าที่กว้างใหญ่บ้านหลวงนี้จะตั้งห่างๆกันมาก เหมือนกับว่าบ้านเราอยู่กลางทุ่งยังไงยังงั้น  
            ตัวบ้านเป็นบ้านไม้สองชั้นขนาดใหญ่มาก  มีห้องโถง ห้องทานข้าว ห้องน้ำ มีห้องครัว ห้องนอน-ห้องน้ำปูนเปลือยสำหรับพลทหารอยู่ด้านหลังบ้าน ชั้นบนมีห้องนอนขนาดใหญ่มาก ๒ ห้อง ห้องน้ำ ๑ ห้อง กับระเบียงขนาดใหญ่   หน้าบ้านมีที่จอดรถยนต์ได้ ๒ คัน รอบตัวบ้านเป็นขอบปูนกว้างสัก ๑ เมตร บ้านสมัยก่อนนี้ สร้างอย่างแข็งแรง แม้จะมีอายุเก่าแก่มาก แต่โครงสร้างหลักของบ้านยังแข็งแรงดีอยู่   
            บรรยายกาศตอนได้รับมอบบ้านใหม่ๆ  (ได้รับบ้านใหม่ๆ แต่บ้านที่ได้เป็นบ้านร้างเก่ามาก) ก่อนเข้าอยู่  สภาพบ้านเต็มไปด้วยต้นไม้เลื้อยคลุมตัวบ้าน รกครึ้มดูน่ากลัว ไม่น่าจะอยู่ได้ ตอนเปิดบ้านเข้าไปดูครั้งแรก  เราสองคนต้องค่อยๆโผล่ศรีษะเข้าไปก่อน แล้วสอดส่ายสายตามองสำรวจโดยใช้ไฟฉายส่องดู ก่อนที่จะค่อยๆย่องเข้าไปในบ้าน ด้วยความกลัวว่าจะมีสัตว์จำพวกงูอาศัยอยู่ (สมัยนั้น มีบ้านร้างบางบ้านได้ชื่อว่า "บ้านงู" เพราะมีคนเห็นงูจงอางอาศัยอยู่ในบ้าน เรื่องงูๆนี้ขอเก็บไว้เล่าในตอนต่อๆไป) เมื่อเข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีสัตว์ร้าย มีแต่ตุ๊กแกตัวโตๆประมาณสิบตัวอยู่ทั้งชั้นบน ชั้นล่าง เต็มบ้านไปหมด 
            พ่อบุญซึ่งยังเป็นผู้หมวดหนุ่ม ได้ไปยืมมีดพร้าและขวานมาตัดต้นไม้ที่ขึ้นรกรอบบ้าน ดึงกิ่งไม้ไม้เลื้อยที่เกาะอยู่กับตัวบ้านออก ตอนนั้นทุกเย็นเราสองคนจะมีอุปกรณ์มาตรฐาน ได้แก่ ไม้กวาด ถังน้ำพลาสติก ๑ ใบ กับผ้าขี้ริ้วคนละ ๑ ผืน เข้าไปกวาดถูบ้านทุกวันในตอนเย็นหลังเลิกงาน ใช้เวลาเกือบเดือน พื้นบ้านที่เต็มไปด้วยฝุ่นหนาเตอะ ขี้จิ้งจก ขึ้ตุ๊กแก ขี้ค้างคาว และขึ้แมลงสาบ ฯลฯ จึงค่อยๆปรากฏลายไม้ให้เห็น  ตอนนั้นเราไม่มีตังค์ซื้อแลกเกอร์มาเคลือบผิวไม้ ก็ใช้วิธีถูไปเรื่อยๆ ทุกวันวันละเล็กวันละน้อย จนพื้นขึ้นเงาและสะอาดขึ้นในที่สุด 
            นอกตัวบ้านมีแต่ต้นไม้ขึ้นพันรอบๆบ้าน พ่อบุญได้ไปถางไปตัดออกให้โล่ง  ส่วนที่ยากที่สุด คือ ต้นไม้ขนาดใหญ่มีรากไม้เนื้อแข็งงอกเกาะทั้งด้านในและนอกถังปูนเก็บน้ำอย่างแน่นหนาต้องออกแรงอย่างมากในการตัดและดึงออก จากนั้นล้างทำความสะอาดจนรองน้ำไว้ใช้ได้  ขั้นตอนพวกนี้พ่อบุญลงมือทำด้วยตัวเองเป็นหลัก ส่วนแม่แก้วตอนนั้นยังทำอะไรไม่ค่อยเป็น ได้แต่ช่วยกวาดถูบ้านบ้าง ส่งเครื่องมือให้บ้าง เล็กๆน้อยๆ กับคอยชวนเถลไถลไปกินข้าวบ้าง ไปเที่ยวบ้าง แบบคนที่ยังไม่รู้ว่าเราจะแต่งงานแล้วต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น
            บ้านหลวงในสัตหีบทุกหลังจะมีที่เก็บน้ำประปากับรองน้ำฝนไว้ใช้ เนื่องจากสัตหีบเป็นเมืองที่ฝนไม่ค่อยตก ใครไม่รู้บอกว่า เมืองเราเป็นเขตเงาฝน ฝนไม่ค่อยตก  น้ำประปาส่งมาจากฐานทัพเรือสัตหีบ ข้ามเขามาชุมพลจึงมายาก เขาจะส่งมาให้ประมาณสัปดาห์ละ ๑-๒ ครั้งๆละ ประมาณ ๒ - ๓ ชม. เรียกว่าถ้ามาตอนเวลางานเราต้องลางานขออนุญาตอยู่บ้านรองน้ำกันเลยทีเดียว ถ้าไหลมากกว่านี้ ถือว่าเป็นโชคเลย และน้ำที่ไหลมานี้ใช่ว่าจะใสสะอาด บางทีก็ขุ่น มีตะกอนแดง แต่เรามีถังพักให้มาตกตะกอนก่อนใช้ สมัยก่อนจะใช้สายยางต่อน้ำให้มาใส่ถังสำหรับตักอาบในห้องน้ำ บ้านไหนพอมีสตางค์หน่อยก็จะติดปั๊มน้ำไว้ปั๊มน้ำจากถังเก็บเข้ามาใช้ในตัวบ้าน      
            เมื่อทำความสะอาดบ้านร้างจากต้นไม้ที่ปกคลุมบ้านทั้งหลัง จนกลายเป็นบ้านที่ดูสะอาดขึ้นแล้ว เราก็พบกับปัญหาใหม่ คือ ตัวผนังบ้านที่ทำด้วยไม้เนื้ออ่อน มีปลวกกินไม้ผุจนผนังโหว่หลายจุดมาก เกินความสามารถของเราที่จะซ่อมเองได้  ตอนนั้นใกล้วันแต่งงานเข้าไปทุกที ยื่นเรื่องขอให้ซ่อมบ้านไปเป็นเดือนแล้ว ยังไม่มีช่างมาซ่อมเสียที แม่แก้วจึงเดินข้ามถนนไปขอร้องหัวหน้าแผนกโยธาที่อยู่บ้านเยื้องๆกันในซอย ๒ ให้ช่วยซ่อมแซมจนพออยู่ได้ไปก่อน ซึ่งท่านได้เมตตาส่งช่างมาทันทีในวันรุ่งขึ้น  ช่างมาเคาะตรวจไม้ผนังที่ผุ ตัดออกและตีไม้ใหม่เข้าแทน พร้อมทั้งทาสีเหลืองอ่อนตามสีเดิมของตัวบ้าน และซ่อมมุ้งลวดห้องนอนให้พออยู่ได้ ส่วนกระจกด้านบนผนังห้องนอนที่แตกบิ่นขนาดใหญ่ประมาณสักฝ่ามือกว่าๆ เขาไม่มีเปลี่ยนให้ แม่แก้วจึงใช้วิธีตัดกระดาษแข็งขนาดพอๆกันกับรอยแตก แล้วปีนขึ้นไปปะด้วยเทปกาวแทนกระจกส่วนที่แตกหายไป หลังจากที่ช่างซ่อมแซมบ้านเสร็จแล้ว บ้านร้างที่ทรุดโทรมเริ่มมีหน้าตาสะสวยพอจะดูเป็นเรือนหอขึ้นมาบ้างแล้ว
            ชีวิตของข้าราชการชั้นผู้น้อยที่มีเงินเดือนน้อยนี้ ไหนจะต้องเตรียมเงินจัดงานแต่งงาน การตกแต่งเรือนหอจึงประหยัดสุดๆ  แม่แก้วกับพ่อบุญจะหาซื้อของใช้ในบ้านราคาไม่แพง ผ้าม่านก็ใช้ผ้าที่เราเลือกลายดอกไม้สีฟ้าเล็กๆ เข้ากับบรรยากาศชายทะเล  ราคาเมตรละยี่สิบบาทมาเย็บแล้วใส่ลวดตอกตะปูขึงผ้าม่าน บ้านร้างที่ตกแต่งแล้วนี้ มีบรรยากาศโบราณย้อนยุค คล้ายๆกับบ้านหลวงของผู้พันประจักรในละครดังเรื่อง "วนิดา" หากแต่บ้านร้างนี้ไม่มีเฟอร์นิเจอร์สวยๆต้องหาเอาเองตามมีตามเกิด เช่น จากโต๊ะเก่าๆนำมาซ่อมแซมปูผ้าพลาสติกลายสวยๆราคาเมตรละสิบกว่าบาท ให้พอใช้งานได้
            เมื่อมองย้อนกลับไปในวันที่เรามีเงินน้อยนิด แต่เรากลับมีความสุขกับสิ่งของที่เราหามาเอง ซ่อมแซมเอง จัดบ้านเองทุกตารางนิ้ว บ้านร้างเก่าหลังนี้จึงกลายเป็นเรือนหอ บ้านหลังแรกของครอบครัวอบอวลไปด้วยความรัก ความผูกพัน การร่วมทุกข์ร่วมสุข ของวัยทำงานสร้างเนื้อสร้างตัว  เป็นบ้านที่แม่แก้วและพ่อบุญรักและผูกพันที่สุด น่าแปลกที่เมื่อเทียบกับวันนี้ แม่แก้วมีเงินซื้อหาเฟอร์นิเจอร์สวยๆราคาเป็นหมื่น นอนที่นอนหนานุ่ม ในห้องแอร์เย็นฉ่ำ  แต่กลับรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ปลื้มใจกับความสวยงามและความสะดวกสบายของมันเท่าไรนัก
            พ่อบ้านทหารเรือส่วนใหญ่จะเก่งเรื่องงานบ้าน งานสวน และงานช่างดัดแปลงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ พ่อบุญเป็นผู้ชายธรรมดาๆ ที่ไม่หล่อ ไม่รวย ไม่ทะเยอทะยาน จริงใจ ซื่อตรง และรักครอบครัว ซึ่งความธรรมดาๆเรียบง่ายนี้เอง กลับเป็นของขวัญพิเศษ ที่ทำให้ชีวิตของการมีครอบครัวของเรามีความสุขตามอัตภาพ แม้จะไม่ร่ำรวย แต่ก็พอมีกินมีใช้ตามประสาข้าราชการทหารชั้นผู้น้อยที่ไม่มีเงินเดือนมากมาย
            งานแต่งงานใกล้เข้ามาทุกที ไม่น่าเชื่อว่าเวลาเพียงปีกว่า นับจากวันแรกที่แม่แก้วก้าวเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในเกล็ดแก้ว  เมืองหลังเขาริมทะเลแสนสวยแห่งนี้มีมนต์เสน่ห์ลึกลับ ได้ร่ายเวทย์มนต์โดยใช้พ่อบุญเป็นเครื่องมือในการดึงดูดแม่แก้วเข้าไปอยู่ด้วยจนสำเร็จในที่สุด  ^^

7/07/2558

ตอนที่ ๑๕ การฝึกภาคสาธารณะและวงจรชีวิตนักเรียนจ่า

            หลังจากแม่แก้วติดยศ เรียนด้านวิชาการที่ สรส. เสร็จแล้ว ได้กลับมาทำงานที่เกล็ดแก้วต่อ ช่วงนั้นเป็นเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงการประกาศผลสอบความรู้นักเรียนจ่า ชั้นสองที่สอบผ่านจะได้ติดยศจ่าตรีและแยกย้ายไปทำงานตามหน่วยต่างๆในกองทัพเรือ ส่วนชั้น ๑ ที่สอบผ่านก็จะได้เลื่อนขึ้นมาเป็นชั้น ๒  มีบางนายผิดหวังสอบไม่ผ่านต้องเรียนซ้ำชั้น เท่าที่จำได้มีปีละไม่กี่นาย และบางนายที่เป็นพวก "หนึ่งในร้อย" ก็ได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนนายเรือ เมื่อเรียนจบจะได้ติดยศเป็นว่าที่เรือตรีมีความก้าวหน้ากว่าเพื่อน แต่ไม่ว่าจะเส้นทางใด แม่แก้วเชื่อว่าพวกเขาก็ยังคงไม่ลืมถิ่นกำเนิดที่สร้างความเป็นทหารเรือ ณ เกล็ดแก้วแห่งนี้ 
           โรงเรียนจ่าทหารเรือชายทะเลแสนสวยหลังเขา มีทั้งความลำบาก ความเหนื่อยยาก แดดแผดเผาผิวไหม้เกรียม เหงื่อไคล และกลิ่นไอเหงื่อ มีคนกล่าวเปรียบเปรยว่า กว่าจะเรียนจบนักเรียนต้องเสียเหงื่อกันเป็น "ปี๊บ" แต่บางคนเถียงว่าไม่ใช่แค่ปี๊บ มากกว่านั้น เป็น "ตุ่ม" ต่างหาก  การฝึกฝนที่หนักนี้ได้หล่อหลอมพวกเขาให้เป็นชาวเรือที่แข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ  ในขณะเดียวกันท่ามกลางความเหนื่อยยากเหล่านี้ กลับเจือด้วยมิตรภาพ ความสามัคคี ความทรงจำ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความสุข ของการมี "เพื่อน พี่ และ น้อง"  
           และไม่ใช่เท่านั้น ยังรวมถึงความรักความเอื้ออาทรของข้าราชการ และลูกจ้างฝ่ายต่างๆ ที่มีส่วนในการดูแล เอาใจช่วยนักเรียนที่เสมือนลูกหลานทหารเรือ ทั้งด้านการฝึก การเรียน การสอน การกินอยู่หลับนอน การเจ็บไข้ได้ป่วย แม้แต่แม่บ้านทหารเรือยังได้ช่วยดูแลเรื่องการซักรีดผ้าให้นักเรียน แม่แก้วจำได้ว่าแม่บ้านที่รับซักผ้าให้นักเรียนจะรีดผ้าลงแป้งชุดกลับบ้านของนักเรียนอย่างตั้งใจ เหมือนจะต้องการเสกมนต์ให้นักเรียนผ่านการตรวจเครื่องแบบและได้กลับบ้าน  นักเรียนรุ่นเก่าเรียนจบไป ก็มีนักเรียนรุ่นใหม่รับเข้ามาแทน นี่คือวงจรชีวิตภายในเกล็ดแก้ว
           การรับนักเรียนจ่าใหม่นี้ ทางกรมยุทธศึกษาทหารเรือ  (ยศ.ทร.)   ซึ่งเป็นหน่วยแม่ของ รร.ชุมพลฯ เป็นหน่วยดำเนินการเรื่องการรับสมัคร การสอบคัดเลือกนักเรียนจ่า แล้วส่งมาให้ รร.ชุมพลฯ ดำเนินการผลิตนายทหารประทวนตามสาขาต่างๆ ที่กองทัพเรือต้องการ
           พวกครูฝึกได้พักไม่นาน นักเรียนจ่าใหม่ที่สอบผ่านการคัดเลือกมาได้ จะถูกส่งตัวมาเข้ารับการฝึก "ภาคสาธารณะ"  ซึ่งเป็นการฝึกเพื่อปรับพื้นฐานจากพลเรือนมาเป็นนักเรียนทหารที่มีระเบียบวินัย มีความแข็งแรง อดทน ช่วงการฝึกนี้ แม่แก้วจะได้ยินเสียงนักเรียนจำนวนประมาณหนึ่งพันนายเดินและวิ่งภายในพื้นที่อันกว้างใหญ่ของโรงเรียน เสียงเช็คเท้า "ซ้ายๆ ซ้ายขวาซ้าย นับเว้นจังหวะ หนึ่ง สอง สาม สี่ หนึ่งสองสามสี่ ซ้ายๆซ้ายขวาซ้าย" ดังตลอดวันในช่วงเปลี่ยนสถานที่เรียน
           นักเรียนมีกิจกรรมเรียนและฝึกความเป็นทหารและชาวเรือที่โน่นที่นี่ทั้งวันภายในโรงเรียนอันกว้างใหญ่ นักเรียนจ่าใหม่จำนวนนับพันนายนี้ทำให้โรงเรียนคึกคักมาก เสียงร้องเพลงทหารเรือ เพลงชาวเรือ และเพลงเพราะๆกินใจมากมาย ดังก้องไปทั่วโรงเรียน  นักเรียนร้องเพลงในตอนเดินแถว และตอนวิ่งรอบโรงเรียน เสียงเพลงแว่วมาเข้าหูผู้ที่ทำงานและพักอาศัยภายใน รร.ชุมพลฯ เป็นระยะๆตลอดวัน  เพลงที่แม่แก้วชอบมากและจำได้แม่นจนถึงทุกวันนี้ คือ เพลง "สายโลหิต" ที่สื่อทั้งความเป็นทหาร และความรักของวัยหนุ่มสาว เนื้อเพลงว่า
           "ข้าคือชายชาญ ชาติทหาร  วิญญาณ แห่งนักรบไทย ศึกนี้ หรือศึกไหน หัวใจไม่เคยหวั่นเกรง และความรักข้า ก็คือ ดวงใจ เจ้าดวงนี้เอง ใครหาญมาข่มเหง ข้าเอง จะหยุดมัน
           ออกศึกข้านึกแต่รบ และรบ จบศึกข้านึกแต่รักเจ้าเท่านั้น หากรอดชีวิตกลับมาหากัน หวังให้เจ้านั้นดูแลหัวใจ
           ชีพพลีนี้เพื่อแผ่นดิน ชีวา ต้องมามลาย ยังขอป้องปกไว้ ด้วยสายโลหิตของเรา"
           อากาศในเดือนพฤษภาคมของทุกปีร้อนมาก ขนาดเราอยู่เฉยๆยังเหงื่อออก แต่นักเรียนจ่าใหม่ต้องวิ่ง ต้องฝึก และถูกทำโทษ เพื่อปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้เป็นทหารเรือ ช่วงนี้จึงมีนักเรียนบางนายที่ถอดใจลาออก นักเรียนที่อยู่ต่อถ้าไม่อยู่ด้วยความฝันของตนเองที่จะเป็นทหารเรือ ความฝันที่จะเป็นหนึ่งในร้อยได้ไปอยู่โรงเรียนนายเรือ  หรืออยู่ด้วยความหวังของพ่อแม่ สอบเข้ามาได้แล้วจะถอยจะลาออกกลับบ้านก็อายเพื่อนบ้าน บางนายมีฐานะยากจน การได้มาเป็นทหารนี้ คือ ความหวังของครอบครัว เมื่อเรียนจบได้ติดยศ ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทหาร แม้เงินเดือนน้อยนิด แต่ก็มีเบี้ยเลี้ยง มีสวัสดิการ มีสิทธิในการรักษาพยาบาลพ่อแม่ลูกเมียฟรี สิ่งเหล่านี้จึงเป็นแรงผลักดันให้นักเรียนอยู่ต่อ
           ภาคสาธารณะนี้จึงเป็นการวัดใจขั้นแรก ว่า นักเรียนยอมรับสภาพชีวิตทหารเรือ ที่ต้องปฏิบัติงานตามคำสั่งได้ทุกเมื่อ ทุกเวลา โดยไม่มีเงื่อนไขได้หรือไม่  ช่วงนี้แม่แก้วและคุณครูยังไม่ได้สอนภาควิชาการ จึงได้แต่แอบเมียงมองการฝึกของนักเรียนจ่าใหม่อย่างเอาใจช่วย คอยฟังข่าวจากแผนกบัญชีพลว่ามีนักเรียนลาออกมากหรือไม่ ถ้านักเรียนลาออกจะมีการเรียกตัวสำรองมาแทน
           ภาคสาธารณะนี้ใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน นักเรียนจ่าใหม่จะได้รับการประดับเครื่องหมายชั้นปีที่ ๑ และปิดภาคด้วยการสวนสนามอย่างสวยงาม นายทหารฝึกและครูฝึกได้เป็นผู้นำและร่วมในการสวนสนามด้วย (ดูเท่มาก) แม่แก้วได้ร่วมชมการสวนสนามที่เข้มแข็งสวยงามพร้อมเพรียงนี้อย่างยินดีในความสำเร็จก้าวแรกของนักเรียน
           นักเรียนจ่าใหม่ที่ผ่านการฝึกภาคสาธารณะแล้วจะเป็น "น้อง" ชั้น ๑  ส่วนชั้น ๑ ในปีก่อนได้เลื่อนขึ้นมาเป็น "พี่"  ชั้น ๒  จากที่เคยเป็นน้องชั้น ๑ ที่มอมแมมหมดเรี่ยวหมดแรง กลับเติบโตเป็นพี่ชั้น ๒ ที่ดูสบายๆ เนื้อตัวสะอาดสะอ้านขึ้น  คอยดูแลน้อง สอนน้อง ฝึกให้น้องทำโน่นทำนี่ให้ สั่งทำโทษน้องบ้าง ซึ่งดูเผินๆเหมือนพี่เอาเปรียบน้อง แต่แท้จริงแล้ว แฝงด้วยการฝึกให้เชื่อฟังผู้อาวุโสกว่า หรือผู้บังคับบัญชา ซึ่งจำเป็นต้องทำตามอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการโต้เถียง ในสถานการณ์การรบที่คับขัน ต้องมีความเด็ดขาด การฟังคำสั่งและปฏิบัติตามเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ภารกิจลุล่วงและเอาชนะข้าศึกได้  ระบบอาวุโสจึงเป็นระบบสำคัญในโรงเรียนทหารทุกแห่ง
           เมื่อปิดภาคสาธารณะ นักเรียนจะได้รับการปล่อยกลับบ้าน ก่อนที่จะมาเข้าชั้นเรียนภาคต้น ภาคการเรียนวิชาการใน รร.ชุมพลฯ มี ๒ ภาค คือ ภาคต้น ภาคปลาย และมีการฝึกภาคทะเลบนเรือเพื่อเรียนรู้วิชาชีพทหารเรือ  นักเรียนจะเรียนเป็นระยะเวลา ๒ ปี แล้วได้ติดยศเป็นจ่าตรี ดังได้เล่ามาแล้วในตอนต้น
           นักเรียนจ่า เหมือนเป็นจุดศูนย์กลางของเรา รอบๆ จุดศูนย์กลางนี้  มีฝ่ายต่างๆ ร่วมกันดูแล ทำหน้าที่ของตน ในการเรียนการสอน การฝึก การกินการอยู่ การจัดเลี้ยง ที่กินที่นอน การเจ็บไข้ได้ป่วย รวมถึงพ่อบ้านทหารเรือ และแม่บ้านที่หารายได้พิเศษโดยการรับส่งนักเรียนกลับบ้าน ขายของกินของใช้ ขายน้ำ ขายขนม รับซักผ้า ให้กับนักเรียน และอื่นๆอีกมากมาย ฯลฯ
           ช่วงที่นักเรียนอยู่ในโรงเรียน  ในโรงเรียนจะคึกคักและมีชีวิตชีวาด้วยเสียงเดินแถว เสียงนับเวลาถูกทำโทษรวม เสียงวิ่งปล่อยม้าหน้า บก. ไปเสาธง  นักเรียนจ่ามีกิจกรรมต่างๆ ทั้งวันตั้งแต่ตื่นนอนตอนตีห้าครึ่งด้วยเสียงเสียงแตรปลุกดังทั่วโรงเรียนให้ตื่นยามเช้ามืด พร้อมเสียงประกาศเชิญชวนให้ตื่นนอนว่า  "ตื่น ตื่นหมดคน" (ถ้าไม่ตื่น...โดนรับประทานแน่)  จนถึงเวลาสวดมนต์ แยกย้ายไปเตรียมตัวเข้านอนอีกครั้งตอนสี่ทุม เสียงแตรนอนโหยหวนชวนนอนพร้อมประกาศเชิญชวนประมาณว่ามานอนกันเถอะ ว่า "นอน นอนหมดคน"           
           ส่วนเรีอตรีหนุ่ม หรือนายทหารฝึกที่เรียนจบจาก รร.นายเรือ แล้วถูกส่งมาอยู่ รร.ชุมพลฯ เพื่อถ่ายทอดความเป็นทหารและชาวเรือให้กับนักเรียนจ่ารุ่นละ ๑ ปี รุ่นแล้วรุ่นเล่า จากที่ปีแรกเป็นรุ่นพี่อายุมากกว่าแม่แก้ว   ปีต่อมาเป็นรุ่นอายุเดียวกันและรุ่นน้องๆต่อมาอีกหลายรุ่น การทำงานอยู่ใน รร.ชุมพลฯ หลายปี จึงทำให้แม่แก้วได้รู้จักทั้งลูกศิษย์นักเรียนจ่า นายทหารฝึก ครูวิชาต่างๆ และเพื่อนร่วมงานมากมายทุกสาขาอาชีพ ที่ต่อมา เมื่อย้ายออกมาจาก รร.ชุมพลฯแล้ว ยังได้พบเจอ ได้ร่วมงานกัน ทักทายกันตลอดชีวิตการรับราชการ 
           เกล็ดแก้วเมืองติดทะเลหลังเขาแสนสวย เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ในตัวเองยากที่จะมีที่แห่งใดเหมือนได้  เป็นวงจรที่ดูเผินๆเหมือนซ้ำรอยเดิมทุกปี  แต่ในวงจรชีวิตที่ดูเหมือนราบเรียบนี้ หากมีเรื่องที่พิเศษหรือเรื่องที่ไม่ปกติเกิดขึ้น ข่าวจะแพร่กระจายปากต่อปากและรู้กันไปทั่วอย่างรวดเร็ว ชนิดที่ว่าไม่ต้องมีไลน์ หรือมีเฟชบุ๊คเหมือนในสมัยนี้ ก็รู้กันได้ทั่วถึง ตามประสาสังคมเล็กๆหลังเขาที่ไม่ค่อยมีเรื่องตื่นเต้น จึงราวกับว่าไม่มีความลับใดๆเลยในเกล็ดแก้ว  ผู้บังคับบัญชาท่านหนึ่งถึงกับกล่าวเปรียบเปรยเรื่องนี้ว่า " หากทำเหรียญสลึงเหรียญหนึ่งตกลงบนพื้นในเกล็ดแก้ว เสียงของเหรียญเล็กๆที่กระทบพื้นนี้จะดังก้องไปถึงเนินมะค่า"  
           เกล็ดแก้วเป็นเมืองที่ดูเหมือนเวลาเดินช้ากว่าโลกภายนอก แต่กลับแฝงด้วยความเร่งรีบของนักเรียนจ่า เวลานักเรียนอยู่โรงเรียน โรงเรียนจะมีชีวิตชีวา แต่พอนักเรียนปล่อยกับบ้าน หรือไปฝึกภาคทะเลนานๆ  ภายในโรงเรียนอันกว้างใหญ่นี้จะเงียบเหงามากอย่างผิดหูผิดตา  ส่วนแม่แก้วเมื่อมาทำงานได้หลายเดือนแล้ว  มีความรู้สึกว่าทุกวันเวลาที่ผ่านไปในเกล็ดแก้ว นอกจากชีวิตการทำงานแล้ว ยังมีชีวิตส่วนตัว ที่มีพ่อบุญเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นทุกที เหมือนมีแรงดึงดูดในหุบเขาที่ค่อยๆดึงเอาแม่แก้วเข้าไปอยู่ด้วยอย่างช้าๆอย่าง โดยไม่ทันให้รู้ตัว ^^

7/02/2558

ตอนที่ ๑๔ ติดยศว่าที่เรือตรีหญิง

                        หลังจากการฝึกข้าราชการกลาโหมพลเรือน หรือ ฝึกทหารเสร็จ สักสองเดือน คำสั่งติดยศ "ว่าที่เรือตรีหญิง" ของแม่แก้วและเพื่อนๆในรุ่นมาถึง 
           ตอนนั้นเป็นช่วงที่แม่แก้วกับเพื่อนในรุ่นไปเรียนภาควิชาการเกี่ยวกับทหารเรือและการเขียนหนังสือราชการที่สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง   (หรือที่เรียกว่า "สรส.")  ตอนนั้น สรส. ยังตั้งอยู่ที่ตึกริมแม่น้ำเจ้าพระยาในพระราชวังเดิม  หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรสั้นๆ สำหรับสอนให้นายทหารที่จบจากมหาวิทยาลัยได้เรียนรู้การทำงานด้านเอกสารราชการ  ตอนนั้นแม่แก้วยังไม่มีวิสัยทัศน์พอที่จะรู้ว่า กองทัพเรือรับเรามาแล้ว ไม่ได้ทิ้งขว้างเราให้ทำงานแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หากแต่ได้มีการเตรียมเราให้พร้อมในการทำงานทั้งด้านความเป็นทหารด้วยการฝึกทหารตามที่เล่ามาในตอนที่๗ และเตรียมเราในด้านการทำงานด้านเอกสารโดยให้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรนี้   เมื่อมองย้อนกลับไปแล้ว แม่แก้วรู้สึกขอบคุณกองทัพเรือที่ให้โอกาสเราเข้ามาทำงานรับใช้ชาติ และยังจัดหลักสูตรที่มีประโยชน์ต่อชีวิตรับราชการในกองทัพเรือให้เราอีกด้วย
           แม่แก้วมาเข้ารับการอบรมและเรียนตามที่คุณครูท่านต่างๆมาสอน ในเรื่องที่เกี่ยวกับทหารเรือ หน่วยงานต่างๆ และฝึกการเขียนหนังสือราชการ พวกเราเรียนไปตามที่คุณครูสอน พอคุณครูให้หัดเขียนหนังสือราชการ เพื่อนที่ทำงานที่ กพ.ทร. จะเขียนได้เก่งมาก เพราะทำงานด้านนี้โดยตรง ส่วนแม่แก้วทำงานด้านสอน ไม่เคยได้เขียนหนังสือราชการ จึงต้องคอยถามเพื่อน เพื่อนคนไหนเขียนหนังสือราชการเก่ง  เพื่อนที่เขียนไม่เก่งหรือยังเขียนไม่เป็นก็จะไปมุงดูตัวอย่างจากเพื่อน กพ.ทร.  เพื่อน กพ.ทร.คนนี้  ทำงานเก่ง ขยันขันแข็ง ภายหลังเติบโตเป็นกำลังหลักหนึ่งของ กพ.ทร. เลยทีเดียว เพื่อนคนอื่นๆก็เช่นกัน ต่างเติบโตทำงานเจริญก้าวหน้าในสายวิทยาการของตน ทั้งการเงิน  ช่างยุทธโยธา นายทหารพระธรรมนูญ และสารบรรณ เป็นต้น
           หลักสูตรนี้จัดการอบรมหลังจากฝึกทหารเสร็จได้สักเดือนกว่า การได้มาเจอเพื่อนหูกะทะด้วยกันอีกครั้ง จึงเป็นการเพิ่มความสนิทสนมในรุ่นมากขึ้นอีก ผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรนี้ นอกจากเพื่อนหูกะทะหญิงชายแล้ว ยังมีเพื่อนว่าที่เรือตรีหนุ่มที่เรียน รด. มาแล้ว และได้ติดยศเมื่อเข้าทำงานเลย (ไม่ต้องฝึกทหารแบบพวกเรา) จึงเป็นหลักสูตรเรียนรวมนายทหารมหาวิทยาลัยวัยหนุ่มสาวที่กองทัพเรือรับเข้าทำงานในปีนั้นเลย  แม่แก้วจึงได้เพื่อนใหม่เพิ่มขึ้น และสนิทสนมกับเพื่อนมากขึ้น เพื่อนรุ่นเดียวกันนี้ ภายหลังยังเจอกันในการทำงาน และเข้ารับการอบรมในหลักสูตรอื่นๆของ สรส. ตามแนวทางการรับราชการอีก
           บรรยากาศในหลักสูตรนี้สดใสร่าเริงมาก เพราะเป็นหลักสูตรที่ผู้เข้ารับการอบรมอายุน้อยที่สุดในบรรดาหลักสูตรอื่นที่เปิดอบรมใน สรส. ขณะนั้น ตอนเรียนไม่เท่าไหร่ แต่ตอนพักระหว่างชั่วโมงและตอนทานอาหารกลางวันนี้ พวกเราจะคุยกันจ๊อกแจ๊กจอแจเสียงดังราวนกกระจอกแตกรัง  ไม่เกรงใจพี่ๆทหารเรือห้องข้างๆ ตอนนั้นครูปกครองถึงกับต้องมาเตือนพวกเราบ่อยๆ ให้ส่งเสียงเบาๆหน่อย เพราะรบกวนการเรียนของพี่ๆทหารเรือในหลักสูตรอื่นๆ (พี่ๆเขาคงตั้งใจเรียนกว่าเรามาก ^___^
           เรียนไปได้สักพัก คุณพ่อทหารเรือของเพื่อนในรุ่นก็ส่งข่าวมาว่าคำสั่งออกแล้ว ให้เตรียมตัวติดยศ   แม่แก้วและเพื่อนๆจึงได้เข้าพิธีประดับยศ "ว่าที่เรือตรีหญิง" เป็นครั้งแรก ยศว่าที่เรือตรีนี้เป็นชั้นยศแรกของนายทหารสัญญาบัตร ที่ต้องได้รับพระราชทานยศมา ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ ดังนั้นจึงถือว่ามีเกียรติมาก ต้องขอขอบคุณกองทัพเรืออีกครั้งที่ให้โอกาสรับลูกชาวบ้านอย่างแม่แก้วเข้าทำงานรับใช้กองทัพเรือ
           เสื้อผ้าเครื่องแบบของเรือตรีหญิงนี้ ประกอบด้วยเสื้อสีขาวคอบัวแหลม บนบ่ามีหูกะทะอันใหม่ที่เป็นพื้นกระดานบ่าสีดำ ขอบหูกะทะที่เป็นเส้นตรงริมบ่าจะมีผ้ากำมะหยี่หรือผ้าริบบิ้นสีตามพรรคเหล่า สีขาว สีฟ้า สีเขียว  สีแดงเลือดหมู และสีส้ม เป็นต้น  มีโบว์ดำห้อยจากปกเสื้อ ที่อกด้านขวาติดป้ายชื่อ-สกุล ที่ทำด้วยโลหะ อกด้านซ้ายติดแพรแถบ กระดุมที่ใช้เป็นกระดุมโลหะตรากองทัพเรือสีทอง เข็มขัดหนังสีดำหัวเข็มขัดสีทองตรากองทัพเรือ กระโปรงยาวคลุมเข่าสีน้ำเงินดำ สวมหมวกนายทหารหญิงที่มีหน้าหมวกเป็นสัญญลักษณ์กองทัพเรือ เครื่องแบบเรือตรีหญิงนี้ เมื่อสวมแล้วดูสง่างาม คนไม่สวยสวมแล้วก็ดูสวยขึ้นได้ เหมือนที่เขาว่า คนในเครื่องแบบดูหล่อดูเท่ นายทหารหญิงนี้ก็เช่นกัน
           ตอนเป็นหูกะทะไม่มีหมวก แต่ติดยศเรือตรีหญิงแล้วมีหมวก ต้องสวมหมวกเวลาออกนอกอาคาร ตอนช่วงติดยศว่าที่เรือตรีหญิงใหม่ๆ ขนาดฝึกทหารหญิงมาแล้ว แม่แก้วยังทำตัวไม่ถูก (ต้องตั้งใจมาก) เพราะต้องแต่งเครื่องแบบเต็มยศ สวมหมวกทหารหญิงตั้งแต่ออกจากบ้าน เดินมาขึ้นรถเมล์ (ถ้ารถเมล์แน่นจะทุลักทุเลมาก) ความที่เครื่องแบบนายทหารเรือหญิงนี้แต่งแล้วจะดูแปลกตาไม่เหมือนชาวบ้านทั่วไป จึงเป็นเป้าสายตาชาวบ้านตั้งแต่เดินออกจากบ้านเลยทีเดียว พี่ท่านหนึ่งเล่าว่า มีครั้งหนึ่งคนที่รอรถเมล์ป้ายเดียวกันทนเก็บความสงสัยไม่ไหว ถึงกับมาสะกิดถามว่า เป็นแอร์โฮสเตสสายการบินไหน
           แต่งเครื่องแบบขึ้นรถเมล์มีข้อดี คือ กระเป๋ารถเมล์จะตีตั๋วลดครึ่งราคาให้ ลงจากรถเมล์แล้ว เดินเข้าวังเดิม(กองทัพเรือ) ผ่านยามรักษาการณ์ ทหารทำความเคารพ เราต้องตะเบ๊ะรับการเคารพ และต้องหูไวตาไว เดินคอตั้ง หน้าตรง ไม่ก้มหน้า (เดี๋ยวหมวกหล่น อายเขา) มาดนิ่งๆไม่เหลียวซ้ายแลขวาให้เสียกิริยา ด้วยท่าเดินแบบราชนาวีตามที่ได้รับการฝึกมา
           "หูไว" คือ หากได้ยินผู้ยศน้อยกว่าทักทาย "สวัสดีค่ะ(ครับ)" ต้องทักตอบ "สวัสดีค่ะ ส่วน "ตาไว" คือ เหลือบมองว่าเดินผ่านใคร ต้องตะเบ๊ะหรือทำความเคารพผู้มียศสูงกว่า พร้อมกับกล่าวทักทายว่า "สวัสดีค่ะ" และรับตะเบ๊ะและสวัสดีจากผู้ที่มียศต่ำกว่าพร้อมทั้งกล่าวสวัสดีตอบ เพื่อนแม่แก้วที่เป็นลูกหลานทหารเรือ บอกว่าท่าทางแม่แก้วดูเด๋อๆด๋าๆและตั้งใจมาก
           หลังติดยศ พ่อบุญได้ออกจากเกล็ดแก้วมาเยี่ยมแสดงความยินดี ปกติพ่อบุญไม่ชอบมากรุงเทพฯ แต่หนนี้ออกจากหลังเขามาได้ไงไม่รู้ วันนั้นฝนตกหนัก น้ำหลาก พายุลมแรง กิ่งไม้โค่นขวางทาง แต่พ่อบุญก็ฝ่าออกมา (เหมือนในนิยายเลย)  คงจะมาดูว่าแม่แก้วมีเพื่อนใหม่หรือไม่  ด้วยมีการข่าวไปถึงหูว่า แม่แก้วมีเพื่อนนายทหารใหม่ที่เรียนด้วยมาสนใจและเริ่มสนิทสนมกันมากขึ้น โชคดีที่หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรสั้นๆไม่ถึงเดือน แม่แก้วก็ต้องกลับไปทำงานสอนนักเรียนที่เกล็ดแก้วต่อ
           ช่วงมาเรียนที่กรุงเทพฯนี้ แม่แก้วเริ่มเห็นความแตกต่างของการใช้ชีวิตทำงานในกรุงเทพฯที่ลำบากกว่าสัตหีบมาก เป็นทหารเรืออยู่กรุงเทพฯขึ้นรถเมล์เบียดเสียด รถติด อากาศเต็มไปด้วยมลพิษ เป็นทหารเรืออยู่สัตหีบ ขี่รถมอเตอร์ไซด์ลมเย็นสบาย ทำงานริมทะเลหลังเขา อากาศดี วิวสวย รถไม่ติด ขี่รถมอเตอร์ไซด์ ๕ นาทีก็ถึงที่ทำงานแล้ว  สัตหีบ เมืองทหารเรือแห่งนี้ จึงมีแรงดึงดูดมากขึ้นทุกวัน ^^