หน้าเว็บ

7/02/2558

ตอนที่ ๑๔ ติดยศว่าที่เรือตรีหญิง

                        หลังจากการฝึกข้าราชการกลาโหมพลเรือน หรือ ฝึกทหารเสร็จ สักสองเดือน คำสั่งติดยศ "ว่าที่เรือตรีหญิง" ของแม่แก้วและเพื่อนๆในรุ่นมาถึง 
           ตอนนั้นเป็นช่วงที่แม่แก้วกับเพื่อนในรุ่นไปเรียนภาควิชาการเกี่ยวกับทหารเรือและการเขียนหนังสือราชการที่สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง   (หรือที่เรียกว่า "สรส.")  ตอนนั้น สรส. ยังตั้งอยู่ที่ตึกริมแม่น้ำเจ้าพระยาในพระราชวังเดิม  หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรสั้นๆ สำหรับสอนให้นายทหารที่จบจากมหาวิทยาลัยได้เรียนรู้การทำงานด้านเอกสารราชการ  ตอนนั้นแม่แก้วยังไม่มีวิสัยทัศน์พอที่จะรู้ว่า กองทัพเรือรับเรามาแล้ว ไม่ได้ทิ้งขว้างเราให้ทำงานแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หากแต่ได้มีการเตรียมเราให้พร้อมในการทำงานทั้งด้านความเป็นทหารด้วยการฝึกทหารตามที่เล่ามาในตอนที่๗ และเตรียมเราในด้านการทำงานด้านเอกสารโดยให้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรนี้   เมื่อมองย้อนกลับไปแล้ว แม่แก้วรู้สึกขอบคุณกองทัพเรือที่ให้โอกาสเราเข้ามาทำงานรับใช้ชาติ และยังจัดหลักสูตรที่มีประโยชน์ต่อชีวิตรับราชการในกองทัพเรือให้เราอีกด้วย
           แม่แก้วมาเข้ารับการอบรมและเรียนตามที่คุณครูท่านต่างๆมาสอน ในเรื่องที่เกี่ยวกับทหารเรือ หน่วยงานต่างๆ และฝึกการเขียนหนังสือราชการ พวกเราเรียนไปตามที่คุณครูสอน พอคุณครูให้หัดเขียนหนังสือราชการ เพื่อนที่ทำงานที่ กพ.ทร. จะเขียนได้เก่งมาก เพราะทำงานด้านนี้โดยตรง ส่วนแม่แก้วทำงานด้านสอน ไม่เคยได้เขียนหนังสือราชการ จึงต้องคอยถามเพื่อน เพื่อนคนไหนเขียนหนังสือราชการเก่ง  เพื่อนที่เขียนไม่เก่งหรือยังเขียนไม่เป็นก็จะไปมุงดูตัวอย่างจากเพื่อน กพ.ทร.  เพื่อน กพ.ทร.คนนี้  ทำงานเก่ง ขยันขันแข็ง ภายหลังเติบโตเป็นกำลังหลักหนึ่งของ กพ.ทร. เลยทีเดียว เพื่อนคนอื่นๆก็เช่นกัน ต่างเติบโตทำงานเจริญก้าวหน้าในสายวิทยาการของตน ทั้งการเงิน  ช่างยุทธโยธา นายทหารพระธรรมนูญ และสารบรรณ เป็นต้น
           หลักสูตรนี้จัดการอบรมหลังจากฝึกทหารเสร็จได้สักเดือนกว่า การได้มาเจอเพื่อนหูกะทะด้วยกันอีกครั้ง จึงเป็นการเพิ่มความสนิทสนมในรุ่นมากขึ้นอีก ผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรนี้ นอกจากเพื่อนหูกะทะหญิงชายแล้ว ยังมีเพื่อนว่าที่เรือตรีหนุ่มที่เรียน รด. มาแล้ว และได้ติดยศเมื่อเข้าทำงานเลย (ไม่ต้องฝึกทหารแบบพวกเรา) จึงเป็นหลักสูตรเรียนรวมนายทหารมหาวิทยาลัยวัยหนุ่มสาวที่กองทัพเรือรับเข้าทำงานในปีนั้นเลย  แม่แก้วจึงได้เพื่อนใหม่เพิ่มขึ้น และสนิทสนมกับเพื่อนมากขึ้น เพื่อนรุ่นเดียวกันนี้ ภายหลังยังเจอกันในการทำงาน และเข้ารับการอบรมในหลักสูตรอื่นๆของ สรส. ตามแนวทางการรับราชการอีก
           บรรยากาศในหลักสูตรนี้สดใสร่าเริงมาก เพราะเป็นหลักสูตรที่ผู้เข้ารับการอบรมอายุน้อยที่สุดในบรรดาหลักสูตรอื่นที่เปิดอบรมใน สรส. ขณะนั้น ตอนเรียนไม่เท่าไหร่ แต่ตอนพักระหว่างชั่วโมงและตอนทานอาหารกลางวันนี้ พวกเราจะคุยกันจ๊อกแจ๊กจอแจเสียงดังราวนกกระจอกแตกรัง  ไม่เกรงใจพี่ๆทหารเรือห้องข้างๆ ตอนนั้นครูปกครองถึงกับต้องมาเตือนพวกเราบ่อยๆ ให้ส่งเสียงเบาๆหน่อย เพราะรบกวนการเรียนของพี่ๆทหารเรือในหลักสูตรอื่นๆ (พี่ๆเขาคงตั้งใจเรียนกว่าเรามาก ^___^
           เรียนไปได้สักพัก คุณพ่อทหารเรือของเพื่อนในรุ่นก็ส่งข่าวมาว่าคำสั่งออกแล้ว ให้เตรียมตัวติดยศ   แม่แก้วและเพื่อนๆจึงได้เข้าพิธีประดับยศ "ว่าที่เรือตรีหญิง" เป็นครั้งแรก ยศว่าที่เรือตรีนี้เป็นชั้นยศแรกของนายทหารสัญญาบัตร ที่ต้องได้รับพระราชทานยศมา ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ ดังนั้นจึงถือว่ามีเกียรติมาก ต้องขอขอบคุณกองทัพเรืออีกครั้งที่ให้โอกาสรับลูกชาวบ้านอย่างแม่แก้วเข้าทำงานรับใช้กองทัพเรือ
           เสื้อผ้าเครื่องแบบของเรือตรีหญิงนี้ ประกอบด้วยเสื้อสีขาวคอบัวแหลม บนบ่ามีหูกะทะอันใหม่ที่เป็นพื้นกระดานบ่าสีดำ ขอบหูกะทะที่เป็นเส้นตรงริมบ่าจะมีผ้ากำมะหยี่หรือผ้าริบบิ้นสีตามพรรคเหล่า สีขาว สีฟ้า สีเขียว  สีแดงเลือดหมู และสีส้ม เป็นต้น  มีโบว์ดำห้อยจากปกเสื้อ ที่อกด้านขวาติดป้ายชื่อ-สกุล ที่ทำด้วยโลหะ อกด้านซ้ายติดแพรแถบ กระดุมที่ใช้เป็นกระดุมโลหะตรากองทัพเรือสีทอง เข็มขัดหนังสีดำหัวเข็มขัดสีทองตรากองทัพเรือ กระโปรงยาวคลุมเข่าสีน้ำเงินดำ สวมหมวกนายทหารหญิงที่มีหน้าหมวกเป็นสัญญลักษณ์กองทัพเรือ เครื่องแบบเรือตรีหญิงนี้ เมื่อสวมแล้วดูสง่างาม คนไม่สวยสวมแล้วก็ดูสวยขึ้นได้ เหมือนที่เขาว่า คนในเครื่องแบบดูหล่อดูเท่ นายทหารหญิงนี้ก็เช่นกัน
           ตอนเป็นหูกะทะไม่มีหมวก แต่ติดยศเรือตรีหญิงแล้วมีหมวก ต้องสวมหมวกเวลาออกนอกอาคาร ตอนช่วงติดยศว่าที่เรือตรีหญิงใหม่ๆ ขนาดฝึกทหารหญิงมาแล้ว แม่แก้วยังทำตัวไม่ถูก (ต้องตั้งใจมาก) เพราะต้องแต่งเครื่องแบบเต็มยศ สวมหมวกทหารหญิงตั้งแต่ออกจากบ้าน เดินมาขึ้นรถเมล์ (ถ้ารถเมล์แน่นจะทุลักทุเลมาก) ความที่เครื่องแบบนายทหารเรือหญิงนี้แต่งแล้วจะดูแปลกตาไม่เหมือนชาวบ้านทั่วไป จึงเป็นเป้าสายตาชาวบ้านตั้งแต่เดินออกจากบ้านเลยทีเดียว พี่ท่านหนึ่งเล่าว่า มีครั้งหนึ่งคนที่รอรถเมล์ป้ายเดียวกันทนเก็บความสงสัยไม่ไหว ถึงกับมาสะกิดถามว่า เป็นแอร์โฮสเตสสายการบินไหน
           แต่งเครื่องแบบขึ้นรถเมล์มีข้อดี คือ กระเป๋ารถเมล์จะตีตั๋วลดครึ่งราคาให้ ลงจากรถเมล์แล้ว เดินเข้าวังเดิม(กองทัพเรือ) ผ่านยามรักษาการณ์ ทหารทำความเคารพ เราต้องตะเบ๊ะรับการเคารพ และต้องหูไวตาไว เดินคอตั้ง หน้าตรง ไม่ก้มหน้า (เดี๋ยวหมวกหล่น อายเขา) มาดนิ่งๆไม่เหลียวซ้ายแลขวาให้เสียกิริยา ด้วยท่าเดินแบบราชนาวีตามที่ได้รับการฝึกมา
           "หูไว" คือ หากได้ยินผู้ยศน้อยกว่าทักทาย "สวัสดีค่ะ(ครับ)" ต้องทักตอบ "สวัสดีค่ะ ส่วน "ตาไว" คือ เหลือบมองว่าเดินผ่านใคร ต้องตะเบ๊ะหรือทำความเคารพผู้มียศสูงกว่า พร้อมกับกล่าวทักทายว่า "สวัสดีค่ะ" และรับตะเบ๊ะและสวัสดีจากผู้ที่มียศต่ำกว่าพร้อมทั้งกล่าวสวัสดีตอบ เพื่อนแม่แก้วที่เป็นลูกหลานทหารเรือ บอกว่าท่าทางแม่แก้วดูเด๋อๆด๋าๆและตั้งใจมาก
           หลังติดยศ พ่อบุญได้ออกจากเกล็ดแก้วมาเยี่ยมแสดงความยินดี ปกติพ่อบุญไม่ชอบมากรุงเทพฯ แต่หนนี้ออกจากหลังเขามาได้ไงไม่รู้ วันนั้นฝนตกหนัก น้ำหลาก พายุลมแรง กิ่งไม้โค่นขวางทาง แต่พ่อบุญก็ฝ่าออกมา (เหมือนในนิยายเลย)  คงจะมาดูว่าแม่แก้วมีเพื่อนใหม่หรือไม่  ด้วยมีการข่าวไปถึงหูว่า แม่แก้วมีเพื่อนนายทหารใหม่ที่เรียนด้วยมาสนใจและเริ่มสนิทสนมกันมากขึ้น โชคดีที่หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรสั้นๆไม่ถึงเดือน แม่แก้วก็ต้องกลับไปทำงานสอนนักเรียนที่เกล็ดแก้วต่อ
           ช่วงมาเรียนที่กรุงเทพฯนี้ แม่แก้วเริ่มเห็นความแตกต่างของการใช้ชีวิตทำงานในกรุงเทพฯที่ลำบากกว่าสัตหีบมาก เป็นทหารเรืออยู่กรุงเทพฯขึ้นรถเมล์เบียดเสียด รถติด อากาศเต็มไปด้วยมลพิษ เป็นทหารเรืออยู่สัตหีบ ขี่รถมอเตอร์ไซด์ลมเย็นสบาย ทำงานริมทะเลหลังเขา อากาศดี วิวสวย รถไม่ติด ขี่รถมอเตอร์ไซด์ ๕ นาทีก็ถึงที่ทำงานแล้ว  สัตหีบ เมืองทหารเรือแห่งนี้ จึงมีแรงดึงดูดมากขึ้นทุกวัน ^^

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น