หน้าเว็บ

9/22/2558

นักบวชสตรี ข้อความหน้าว่าง ครุธรรม ๘ ประการ

ครุธรรม ๘ ประการ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่าดูก่อนอานนท์ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมียอมรับครุธรรม ๘ ประการข้อนั้นแหละจงเป็นอุปสัมปทาของพระนางคือ:-
๑. ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว ๑๐๐ ปีต้องกราบไหว้ลุกรับทำอัญชลีกรรมสามีจิกรรมแก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น ธรรมแม้นี้ภิกษุณีต้องสักการะเคารพนับถือบูชาไม่ละเมิดตลอดชีวิต.
๒. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมแม้นี้ภิกษุณีต้องสักการะเคารพนับถือบูชาไม่ละเมิดตลอดชีวิต.
๓. ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการคือ ถามวันอุโบสถ ๑ เข้าไปฟังคำสั่งสอน ๑ จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมแม้นี้ภิกษุณีต้องสักการะเคารพนับถือบูชาไม่ละเมิดตลอดชีวิต.
๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือโดยได้เห็นโดยได้ยินหรือโดยรังเกียจ ธรรมแม้นี้ภิกษุณีต้องสักการะเคารพนับถือบูชาไม่ละเมิดตลอดชีวิต.
๕. ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้วต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ธรรมแม้นี้ภิกษุณีต้องสักการะเคารพนับถือบูชาไม่ละเมิดตลอดชีวิต.
๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่ายเพื่อสิกขมานา ผู้มีสิกขาอันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการครบ ๒ ปีแล้ว ธรรมแม้นี้ภิกษุณีต้องสักการะเคารพนับถือบูชาไม่ละเมิดตลอดชีวิต.
๗. ภิกษุณีไม่พึงด่าบริภาษภิกษุโดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรมแม้นี้ภิกษุณีต้อง เคารพนับถือบูชาไม่ละเมิดตลอดชีวิต.
๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิดทางให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี ธรรมแม้นี้ภิกษุณีต้องสักการะเคารพนับถือบูชาไม่ละเมิดตลอดชีวิต.

9/15/2558

นักบวชสตรี ข้อความหน้าว่าง ๑.คำแปลพระคาถาพาพุงของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

         พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลพระคาถาพาหุง บทที่ ๑ เป็นภาษาไทยในรูปแบบฉันท์ ไว้ให้กองทัพไทยสวดก่อนร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในการนี้ ได้ทรงดัดแปลงท้ายพระคาถาจากที่ว่า

        “ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ”

เป็น   “ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะสิทธิ นิจจัง”

        ทั้งยังได้โปรดฯ ให้จารึกพระคาถาที่ทรงดัดแปลงนี้ลงหน้าและหลังธงชัย
 
เฉลิมพลของกองทหารอาสาในสงครามครั้งนี้ด้วย
 
 
ปางเมื่อพระองค์ปะระมะพุท-
ธะวิสุทธะศาสดา
ตรัสรู้อนุตตะระสะมา-
ธิ ณ โพธิบัลลังก์
ขุนมารสหัสสะพหุพา-
หุวิชาวิชิตขลัง
ขี่คีริเมขละประทัง
คชะเหี้ยมกระเหิมหาญ
แสร้งเสกสราวุธะประดิษฐ์
กละคิดจะรอนราน
รุมพลพหลพยุหะปาน
พระสมุททะนองมา
หวังเพื่อผจญวระมุนิน-
ทะสุชินะราชา
พระปราบพหลพยุหะมา-
ระเมลืองมลายสูญ
ด้วยเดชะองค์พระทศพล
สุวิมละไพบูลย์
ทานาทิธัมมะวิธิกูล
ชนะน้อมมโนตาม
ด้วยเดชะสัจจะวจนา
และนะมามิองค์สาม
ขอจงนิกรพละสยาม
ชยะสิทธิทุกวาร
ถึงแม้จะมีอริวิเศษ
พละเดชะเทียมมาร
ขอไทยผจญพิชิตะผลาญ
อริแม้นมุนินทรฯ
 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

9/09/2558

นักบวชสตรี ๓๙. บทส่งท้าย

        ตารางการปฏิบัติในช่วงสุดท้ายของกองทัพธรรม ได้แก่ ยังคงไปสวดมนต์ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซื้อของฝากทางบ้าน  ทำพิธีขอขมาซึ่งกันและกัน กราบขอขมาครูบาอาจารย์ กราบลาคุณแม่และทยอยเดินทางกลับเป็นคณะๆเช่นเดียวกับขามา โดยคณะผู้เขียนเดินทางถึงประเทศไทยในเช้าวันอังคารที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๔๗ โดยสวัสดิภาพ รวมระยะเวลาทั้งสิ้น ๒๐ วัน
ช่วงที่กองทัพธรรมไปสวดมนต์ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้ กองทัพธรรมได้มีโอกาสเข้าไปกราบพระพุทธเมตตา พระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานภายในมหาเจดีย์พุทธคยา มีอายุประมาณ ๑๔๐๐ ปี พระพุทธเมตตาเป็นพระพุทธรูปที่มีความงดงามมาก และเป็นพระพุทธรูปที่เป็นศูนย์รวมใจของชาวพุทธที่ต้องเข้าไปกราบสักการะ ที่นี่เองที่พระสงฆ์กองทัพธรรมบางท่านได้รับผ้าครององค์พระพุทธเมตตาที่เจ้าหน้าที่จะเปลี่ยนทุกวันและมอบให้กับผู้ที่เข้าไปกราบสักการะ
เย็นวันหนึ่งขณะที่ผู้เขียนและเพื่อนแม่ใหม่เดินเท้าออกมาจากมหาเจดีย์ฯ  ทิดใหม่รุ่นน้องทหารเรือได้เร่งฝีเท้าเดินตามผู้เขียนมาจนทันและสนทนากับผู้เขียนว่า
          "ครูครับ ผมได้ผ้าที่ห่มพระพุทธเมตตามา และอยากมอบให้ครูนำไปบูชาครับ"
          ผู้เขียนตอบไปว่า
          "ได้ๆ บางท่านได้มาแล้ว ไม่บูชาเอง เพราะอาจไม่สะดวก หรือไม่มีที่เหมาะสม แต่มอบให้ผู้ที่เหมาะสมไปบูชาต่อได้"
          ในใจตอนนั้นไม่ได้นึกอะไร นึกแต่ว่าบ้านเรามีห้องพระ นำไปบูชาไว้ในห้องพระบ้านเราได้  ผ้าผืนนี้จึงเป็นสิ่งที่มีค่าทางใจอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนประทับใจ  และรู้สึกขอบใจทิดใหม่ที่นำมามอบให้  สำหรับผ้าผืนนี้ ผู้เขียนมีหน้าที่เป็นเพียงผู้รักษาไว้ เพื่อนำไปส่งต่อ โดยผู้เขียนได้ตั้งจิตไว้เกี่ยวกับการนำผ้าผืนนี้ไปสู่สถานที่ที่เหมาะสมแล้ว แต่ยังไม่อาจเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบในตอนนี้
           การร่ำลาประเทศอินเดียครั้งสุดท้ายที่ประทับใจผู้เขียน คือ แม่ๆรวบรวมเงินกันให้รางวัลคนขับและเด็กประจำรถ เงินยอดนี้สำหรับหลายๆคนเป็นเงินก้อนสุดท้าย ที่เรามอบให้ด้วยความขอบคุณ ผู้เขียนและเพื่อนแม่ใหม่มอบให้พร้อมกับกล่าวขอบคุณเขาที่ได้ดูแลเราอย่างดีตลอดการเดินทาง สุดท้ายเขาได้กล่าวขอบคุณและกล่าวลาเราด้วยดวงตาที่เป็นมิตรและจริงใจ การแบ่งปัน มิตรภาพ และรอยยิ้มนี่เองที่ประทับในใจเรา
          เมื่อถึงเมืองไทย กองทัพธรรมต่างก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ทหารเรือส่วนหนึ่งได้เดินทางกลับโดยรถบัสปรับอากาศของกรมขนส่งทหารเรือ พี่ทหารเรือทิดใหม่ท่านหนึ่งได้หันมาบอกว่า
          “ใครพอมีตังค์เหลือบ้างครับ ตังค์ผมเหลือนิดเดียวไม่พอ ผมขอรวบรวมเงินเป็นค่าทางด่วนและรางวัลพลขับที่มารับเราแต่เช้ามืด”
          นี่คงเป็นทานครั้งสุดท้าย เงินในกระเป๋าทุกคนหมดบ้าง เหลือเล็กน้อยพอค่ารถกลับบ้านบ้าง เงินในกระเป๋าไม่มี เพราะเวลานี้มันได้แปลงเป็นอริยทรัพย์เข้าไปสะสมไว้ในใจเราเรียบร้อยแล้ว สำหรับผู้เขียนแล้วการบวชเป็นพรหมจาริณี คือ การเกิดใหม่ในเพศพรหมจรรย์  และการลาสิกขาก็เป็นการกลับมาเกิดใหม่เป็นมนุษย์อีกครั้ง กราบขอบพระคุณหลวงตา และคุณแม่อย่างหาที่สุดมิได้ที่ได้ให้โอกาสพวกเราได้เกิดใหม่พร้อมอริยทรัพย์ที่สะสมไว้ในใจ            
          ประสบการณ์การจาริกแสวงบุญของกองทัพธรรมได้ดำเนินมาจนสิ้นสุดแล้ว ใจมันเชื่อมั่นแล้วว่าพระพุทธเจ้ามีจริงตามที่ปรากฏในการจาริกแสวงบุญ  ยังที่ต่างๆ  พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์จะเป็นเครื่องนำเราไปสู่ความพ้นทุกข์ ธรรมะของพุทธศาสนายังคงเป็นจริง ไม่ได้เสื่อม สิ่งภายนอกต่างหากที่เปลี่ยนแปลงไป พระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบยังมีอยู่  การยึดมั่นในพระพุทธศาสนา การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นหน้าที่ของเราชาวพุทธที่จะต้องช่วยกันรักษาและสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ไม่เสื่อมถอยไป และไม่ทำสิ่งที่เป็นการทอนอายุพระพุทธศาสนา
          ถ้าจะกล่าวถึงพระคุณครูบาอาจารย์แล้ว  หลวงตาเสมือนผู้ให้ความรู้เรื่องราวความเข้าใจในพุทธประวัติในแง่มุมที่ลึกซึ้ง  คุณแม่เสมือนผู้ให้ความตั้งมั่น อดทน อดกลั้น เด็ดเดี่ยว และความศรัทธาที่เต็มเปี่ยมในใจ ผู้เขียนขออัญเชิญคำสอนของคุณแม่ ที่แม่ใหม่รุ่นพี่บันทึกไว้อย่างน่าจดจำและปฏิบัติตาม ดังนี้
        ๑.     ให้คิดดี พูดดี ทำดี
๒.     ไม่ตำหนิผู้อื่นให้เกิดบาปเวรต่อกัน
๓.     การรู้จักกาละเทศะ
๔.     การซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงาน
๕.     ไม่ให้ว่า ไม่ให้ค่อนขอดกัน ขอให้เมตตากัน
๖.     ให้เอาบารมี ๑๐ ทัศ เป็นอุปกรณ์ในการสร้างบุญบารมี
๗.     อย่ามัวแต่หาสตางค์ ให้หาสติ
๘.     บุญยิ่งทำยิ่งได้ ยิ่งให้ยิ่งมี
          ขอให้สิ่งที่ผู้เขียนถ่ายทอดนี้ เป็นเหตุและปัจจัยให้มีผู้ตัดสินใจสละทางโลกออกบวชแสวงบุญในรุ่นต่อๆไป และเป็นกำลังใจให้โยมอุปัฏฐากและทีมงานที่ดูแลพวกเราด้วยความเสียสละทั้งทรัพย์ ทั้งแรงกายและเวลา อย่างเหนื่อยยาก สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สูญเปล่า แต่หาก คือ การสร้างเนื้อนาบุญ สร้างเมล็ดพันธุ์แห่งพระพุทธศาสนา ดังคำสอนของหลวงพ่อ ที่ว่า
          "ธรรมมะนั้นไม่ได้อยู่ห่างไกลจากใจเจ้าของแต่อย่างใดเลย หากแต่เรามัวแต่ส่งใจออกนอก ไปเที่ยวจนเพลิดเพลินหลงใหลไปกับสิ่งต่างๆภายนอก จนแก่ไปทุกวันๆแล้วยังไม่รู้จักหยุดไม่รู้จักพอ จนหาทางกลับบ้านสู่ใจของตนไม่ถูกแล้ว ทุกคนล้วนแต่มี "เมล็ดพุทธะ" อยู่ในบ้านใจของตน แต่กลับไปพอใจ สนุกสนานแต่ในบ้านข้างนอก หากพอเมื่อไร วางเมื่อไร เราจะพบว่าความสุขที่แท้อยู่ในบ้านใจของเรานั่นเอง"
          ที่สุดนี้ ผู้เขียนขอน้อมใจกราบบูชาคุณครูบาอาจารย์ ที่เมตตาแนะนำสั่งสอนก่อนไปจาริกฯ กราบหลวงตาที่เมตตาบวชให้ ให้ธรรม และเล่าเรื่องราวต่างๆให้ฟัง  กราบพระพี่เลี้ยง กราบคุณแม่ที่ให้โอกาสในการไปจาริกแสวงบุญ กราบแม่พี่เลี้ยง กราบโยมอุปัฏฐาก กราบเจ้าภาพที่บริจาคปัจจัยให้ผู้เขียนได้ไปในครั้งนี้ กราบครูบาอาจารย์ของผู้เขียน ที่ท่านสอนให้มีสติระลึกรู้กายใจ คุณแม่ที่มีเมตตาให้ธรรม ให้ศรัทธา ให้ความตั้งมั่น และให้โอกาสในการสร้างบุญบารมี รวมถึงกองทัพธรรม ทีมงานทุกท่านที่มีส่วนร่วมในบุญกุศลครั้งนี้    จึงขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านมา  ณ ที่นี้...สาธุ...สาธุ...สาธุ     อนุโมทามิ

 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 

9/08/2558

นักบวชสตรี : การสละที่นอนให้แม่พี่เลี้ยง การถวายห้องน้ำหญิงให้กับพระสงฆ์ใช้ปลดทุกข์ และการเพ่งโทษผู้อื่น


การสละที่นอนให้แม่พี่เลี้ยง
          มีอยู่คราวหนึ่งห้องพักในโรงแรมที่พักเต็ม การเข้าพักอาศัยเราจะพักกันห้องละประมาณ ๖ คน นอนบนที่นอน และ ฐานเตียงที่แข็งๆ (ทางโรงแรมใช้วิธี ยกที่นอนลงวางบนพื้นห้อง ส่วนฐานเตียงก็นำมาปูผ้าเป็นที่นอนอีกชิ้นหนึ่ง)  ผู้เขียนและเพื่อนแม่ใหม่ได้ห้องพักเรียบร้อย ตัวผู้เขียนเองได้ให้บริกรยกฟูกที่นอนมาเปลี่ยนกับฐานเตียงที่มีความแข็งเรียบร้อย กะว่าคืนนี้โชคดีแน่แล้วไม่ต้องนอนบนฐานเตียงแข็งๆให้ปวดหลัง ต่อมาภายหลังโยมอุปัฏฐาก มาแจ้งให้ทราบว่าแม่พี่เลี้ยงยังไม่มีห้องพักเนื่องจากห้องพักเต็มหมด  ผู้เขียนจึงชักชวนเพื่อนแม่ใหม่ที่พักในห้องเดียวกันส่วนหนึ่งย้ายออกไปนอนแทรกตามห้องต่างๆ เพื่อให้แม่พี่เลี้ยงเข้าพัก 
            การเสียสละครั้งนี้ ทำให้เพื่อนแม่ใหม่ต้องย้ายไปนอนแทรกในห้องต่างๆ มีที่นอนบ้างไม่มีที่นอนบ้าง แต่เราก็อิ่มใจที่ได้เสียสละที่พักอาศัยให้แม่พี่เลี้ยง ซึ่งนับว่าเป็นครูบาอาจารย์ที่ดูแลเรามาตลอดการจาริก
            ตรงนี้ ใจมันต่างจากเมื่อก่อนที่เคยไปวัดในช่วงเทศกาล คนมาปฏิบัติธรรมมาก ผู้เขียนเห็นจิตตัวเองมันดิ้นรน ด้วยมันรักตัวเอง ห่วงตัวเอง ว่าจะได้มีที่นอนไหม คอยพะวงว่าจะจับจองนอนตรงไหน พอมาคราวนี้ทราบได้เลยว่า เราปล่อยวางในเรื่องการยึดติดในความสะดวกสบาย ใจมันบอกว่า นอนไหนก็ได้ เดี๋ยวก็เช้าแล้ว ขอให้แม่พี่เลี้ยงผู้มีพระคุณ ได้มีที่นอนเถอะ
          การถวายห้องน้ำหญิงให้กับพระสงฆ์ใช้ปลดทุกข์
          ในการจาริกแสวงบุญของกองทัพธรรม ส่วนใหญ่พระสงฆ์สองร้อยกว่ารูป จะจำวัดที่วัดไทยในเมืองต่างๆ มากกว่าการพักในโรงแรม ด้วยจำนวนที่มาก และการเดินทางจาริกฯที่ต่างๆ ทำให้ท่านไม่สะดวกในการเข้าห้องน้ำ และห้องน้ำไม่เพียงพอ แม่ๆจึงถวายห้องน้ำหญิงและห้องน้ำในห้องพักให้ท่านเข้าใช้ปลดทุกข์ ซึ่งนับว่าเราได้ถวายให้ท่านได้รับความสะดวกสบาย การถวายนี้ตอนแรกๆใจมันยังหวงยังตระหนี่เป็นเครื่องกั้น เมื่อเราเห็นความตระหนี่การยึดนี้แล้ว แต่เราไม่ยอมตามมัน มันก็คลายความยึดมั่นถือมั่นปราศจากการยึดมั่นถือมันว่านี่คือห้องน้ำหญิง ห้องน้ำของเรา กลับมาถวายให้ท่านใช้ด้วยความอิ่มใจ
          การเพ่งโทษผู้อื่น
          การถือตน หรือมานะนี้ น่ากลัวมาก ด้วยว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติมาได้สักระยะหนึ่ง มักเผลอส่งจิตออกนอกไปเพ่งโทษ ไปวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น  อย่างสำรวมก็ปรุงเป็นความรู้สึกนึกคิด  ถ้าเผลอหรือสติไม่พอก็อาจพูดออกมาเป็นคำพูด สิ่งนี้นับว่าอันตรายมาก ดังได้กล่าวแล้วว่า สภาวธรรมหรือภูมิธรรมของแต่ละคนนี้จะดูกันที่ภายนอกไม่ได้ และการส่งจิตออกนอกไปยุ่งกับเรื่องภายนอกต่างๆเหล่านี้ ล้วนแต่ทำให้เราเนิ่นช้า
          กิเลส แปลว่า เครื่องทำใจให้เศร้าหมอง การที่เรามีสติมาระลึกรู้กาย จะทำให้เราเห็นกายขยับเคลื่อนไหว เห็นเป็นความรู้ตัว เมื่อรู้กายนี้ได้ มันก็จะเห็นสิ่งต่างๆที่เกิดกับกาย เห็นบ่อยๆ ลืมก็เอาใหม่ กันทั้งวัน เมื่อเห็นกาย เราก็จะเห็นลมหายใจโดยอัตโนมัติ ลมหายใจเข้าออก นี้มีอาการต่างๆ เวลาโกรธ ลมก็จะแน่น หนัก หยาบ เวลามีกุศลในจิต มีปีติ มีความสุข ลมเขาจะละเอียดควรแก่การงานเข้าสู่ภายในได้  เมื่อน้อมเข้ามาระลึกรู้ลมหายใจได้แล้ว ลมหายใจเขาจะค่อยๆเคลียร์ ค่อยๆชำระกิเลสไปเรื่อยๆ จนภายในผ่องใสไม่มีเครื่องกั้น
          จิต กับ ใจนี้เป็นตัวเดียวกัน แต่ต่างกันที่ จิต ยังมีการปรุงแต่ง ใจปราศจากการปรุงแต่ง มันจะพลิกกลับไปมา อยู่ที่ว่าเราจะเอากับการปรุงแต่ง จนเกิดเวทนาหรือไม่ ถ้าเราอยู่ที่ฟากของใจ อยู่ที่ความรู้ตัวทั้งภายนอกและภายใน มันจะเชื่อมเข้าหากันจนเป็นสติระลึกรู้กายและใจในคราวเดียวกัน ตรงนี้มันต้องใช้กำลังที่จะให้อยู่กับใจ ไม่ไปอยู่กับจิต หรืออยู่กับสิ่งที่เคลื่อน กำลังที่ว่านี้ คือ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ รวมถึงเครื่องมืออื่นๆได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ พรหมวิหาร ๔ ฯลฯ รวมถึงการสร้างบารมี เพราะทาน หรือการทำบุญอย่างเดียว ไม่มีกำลังพอที่เราจะตัด บารมี ๑๐ ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมีและ อุเบกขาบารมี
          การสร้างบารมีนี้จะช่วยให้พื้นที่ในใจของเราปราศจากเครื่องกั้น คือ กิเลส ใจของเราจึงเป็นปกติ ปราศจากสิ่งเศร้าหมองและเครื่องกั้น  มันจึงผ่องใสขึ้นตามลำดับ จะเห็นว่า การบวชในครั้งนี้ ภายนอกคือสมมุติ ได้แก่ บวชกาย ภายใน คือ บวชใจ  เป็นการบำเพ็ญบารมีของเราอย่างหนึ่ง ตามสติปัญญาและกำลังของแต่ละท่าน สำหรับผู้เขียนแล้วยังเห็นว่าเรายังไม่ปลอดภัย เรายังประมาทไม่ได้แม้แต่นิดเดียว ด้วยว่าของเราเองยังมีสิ่งที่ต้องชำระอีกมาก และกำลังของเราก็ยังไม่พอ ยังต้องเพียรต่อไปตามแนวทางที่พระพุทธองค์ได้วางไว้ ตามพระธรรมคำสั่งสอนของท่าน และตามที่ครูบาอาจารย์เมตตาแนะนำสั่งสอน ไม่ให้หลงทาง ไม่ให้อวิชชาครอบงำได้ ดังนั้นการยอมรับความจริง ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความกตัญญู จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ป้องกันเราจากความหลงนี้

9/07/2558

นักบวชสตรี ๓๘. มหาทานของคุณแม่และกองทัพธรรม : บทเรียนจากการให้ทาน

         การบวชครั้งนี้ตลอดการจาริกแสวงบุญ คุณแม่ได้เป็นผู้นำบุญให้กองทัพธรรมและทีมงานร่วมทำบุญตามกำลังและโอกาส ทั้งการทำบุญกับพระสงฆ์ การทำบุญกับวัดไทย การบริจาคยารักษาโรค การบริจาคข้าวสาร อาหารให้กับพระสงฆ์ และชาวอินเดีย โดยไม่มีการเลือกชนชั้นวรรณะ คุณแม่สอนให้เรารู้จักการให้ทาน และทานที่ให้นี้เป็น ทานที่ไม่ตระหนี่ คือ ไม่เลือกเขาเลือกเราในการให้
        ผู้เขียนได้รับประสบการณ์ที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเองหลายคราว ดังเรื่องเล่าต่อไปนี้
          การให้ทานของผู้เขียนยังมีการแบ่งแยกว่า “นี่พระสงฆ์กองทัพธรรม
กับนี่ไม่ใช่พระของเรา
         ในคราวทำบุญตักบาตรครั้งแรกที่หน้ามหาเจดีย์พุทธคยาดังที่เล่าแล้วในตอนต้นเรื่อง ขณะที่แม่ๆใหม่กำลังชะเง้อรอพระสงฆ์กองทัพธรรมมาโปรดเพื่อใส่บาตร ได้มีพระสงฆ์รูปหนึ่งอุ้มบาตรเดินมาเดี่ยวๆ ผ่านหน้าแม่ๆที่รอใส่บาตรอยู่ มีบางท่านใส่บาตร บางท่านไม่ใส่ด้วยว่าจะรอใส่พระสงฆ์ของเรา เพื่อนแม่ใหม่ของผู้เขียนชวนว่า
          "แก้วใส่บาตรสิ ใส่บาตรกัน"
          แต่ผู้เขียนไม่ได้ใส่ ด้วยว่ามัวแต่พะวงว่าเราจะใส่พระของเรา กลัวอาหารจะไม่พอ หลังจากพระท่านรับบาตรผ่านไปแล้ว เพื่อนแม่ใหม่ท่านนี้ได้หันมาพูดคุยเกี่ยวกับการเลือกใส่บาตรครั้งนี้  ซึ่งทำให้ผู้เขียนเข้าใจได้เลยว่า เพื่อนแม่ใหม่ท่านนี้ไม่มีสิ่งกั้นในการทำทาน ทานของเพื่อนแม่ใหม่ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เลือกเขาเลือกเรา นับว่าเป็นทานที่บริสุทธิ์ ไม่มีเครื่องกั้น
          บทเรียนในเรื่องนี้ ทำให้ผู้เขียนมีมุมมองที่ต่างออกไปจากเดิมในการให้ทาน การให้นี้ สิ่งที่นำมาให้ทานต้องมีความบริสุทธิ์ มีความประณีต  นอกจากนี้ก่อน ระหว่าง หลังการให้ต้องมีจิตใจที่เป็นกุศล การทำบุญกับพระสงฆ์ที่ผ่านมาของผู้เขียน ยังมีสิ่งกั้น เช่น นี่วัดของเรา นี่หลวงพ่อของเรา วัดเราก็ทำเยอะหน่อย วัดอื่นก็ทำน้อยหน่อย นี่หัวโขนของเราทำน้อยกลัวเขาว่า ไม่ได้ทำตามเหตุและปัจจัย กล่าวคือ ยังมีการเลือก แต่หากเป็นผู้มีความถึงพร้อมด้วยเมตตาต่อสรรพสัตว์แล้ว เขาจะไม่เลือกเขาเลือกเรา มีเมตตาที่จะสงเคราะห์เท่าเทียมกันตามกำลังและโอกาส นับว่าเป็นบทเรียนที่ได้เรียนรู้ในสถานการณ์จริงเลยทีเดียว

9/06/2558

นักบวชสตรี ๓๗. การลาสิกขาของพระสงฆ์กองทัพธรรม

          เรื่องราวการจาริกแสวงบุญของกองทัพธรรมดูเหมือนจะใกล้สิ้นสุดลงในไม่ช้า เมื่อกลับจากบ้านนางสุชาดาแล้ว พระสงฆ์กองทัพธรรมก็รับวุฒิบัตร และลาสิกขา กลับมาเป็นฆราวาสตามเดิม คำกล่าวในการลาสิกขานี้ ผู้เขียนจำได้ตั้งแต่ตอนที่บุตรชายนักเรียนนายเรือบวช และกล่าวลาสิกขาด้วยถ้อยคำง่ายๆแต่มีความหมายลึกซึ้งยิ่งนัก
พุทธัง ปัจจักขามะ ธัมมัง ปัจจักขามะ สังฆัง ปัจจักขามะ
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอลาพระพุทธเจ้า
ขอลาพระธรรม ขอลาพระสงฆ์
วินะยัง ปัจจักขามะ
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอลาพระวินัย
สิกขังปัจจักขามะ
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอลาสิกขาบท
คิหิโต โน ธาเรนตุ
ขอท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงจำข้าพเจ้าไว้ว่า บัดนี้ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นคฤหัสถ์ สามัญชนแล้ว
(กล่าว ๓ จบ)
          ประโยคสุดท้ายนี้ผู้เขียนจำได้แม่น เพราะว่า ตอนที่ลูกชายลาสิกขาแล้ว หลวงพ่อกล่าวให้พรว่า
          "สึกแล้วเป็นเทพบุตรนะ"
          คำว่า “เทพบุตร” นี้ แปลว่า เทวดาผู้ชาย  ซึ่งเป็นคำให้พรที่ลึกซึ้งและประเสริฐมาก ด้วยว่ามนุษย์มีศีลห้า ส่วนเทวดา ท่านว่า มี "หิริโอตัปปะ"หมายถึง ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป  หิริโอตัปปะ ถือว่าเป็น "โลกบาลธรรม" ซึ่งหมายถึงธรรมที่รักษาคุ้มครองโลก ทำให้หมู่สัตว์ (รวมถึงมนุษย์) อยู่ร่วมต่อกันอย่างปกติสุขตามสมควร นอกจากจะเรียกว่าเป็นโลกบาลธรรมแล้ว ยังถือว่าเป็น "เทวธรรม" ซึ่งหมายถึงธรรมที่จะสร้างคนให้เป็นเทพบุตรเทพธิดาด้วยร่างกายที่เป็นมนุษย์นั่นเอง ดังนั้น การที่เรามีหิริโอตัปปะ จะเป็นคนที่ไม่ยอมทำบาป จึงเป็นคนที่มีสติเตือนตัวเองตลอดเวลาอีกด้วย
          อ่านถึงตรงนี้แล้วคงไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติม ด้วยว่า ก่อนบวชถ้าเรามีศีลห้าเราก็มีศีลที่เป็นหลักประกันความเป็นมนุษย์ เมื่อบวชเป็นภิกษุก็มีศีล ๒๒๗ ข้อ พอสึกออกมาเป็นฆราวาสแล้ว ท่านให้พรว่าเป็นเทพบุตร นั่นหมายถึงนอกจากจะมีศีลห้าแล้วยังมีหิริโอตัปปะซึ่งเป็นธรรมของเทวดาอีกด้วย จึงนับว่าเป็นศิริมงคลอย่างยิ่ง
          สำหรับแม่พรหมจาริณีก็ได้ลาศีล ๘ ที่โรงแรมที่พักในตอนเย็นวันเดียวกันนั้นเอง ผู้เขียนนึกในใจว่า ตอนบวชก็บวชเอามืดค่ำ ตอนสึกก็ตอนเย็นเหมือนกัน สึกกันด้วยพิธีง่ายๆ ที่หลวงตาเมตตามาสึกให้ที่ที่พัก แต่นั่นล้วนเป็นสมมุติทั้งสิ้น  ถึงเวลานี้เสียงสวดมนต์ที่เคยดังก้องมาตลอดการจาริก เริ่มจางหายไปตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้ได้  ตัวผู้เขียนเองรู้สึกอาลัยในเพศพรหมจาริณี ด้วยว่าเหมือนอีกโลกหนึ่งที่ติดดินมาก ปราศจากยศฐาบรรดาศักดิ์ ปราศจากลูกน้อง ปราศจากความวุ่นวายในหน้าที่การงาน การกินการนอนก็ตามแต่เขาจะจัดให้ ความเป็นอยู่ในเพศนี้จึงเป็นการอยู่ตามสมควร ไม่มีการสะสม จึงไม่มีภาระที่ต้องแบกเหมือนตอนที่เราอยู่ทางโลก ที่มีความรุงรังทั้งครอบครัว การงาน ทรัพย์สิน หนี้สิน บ้านช่อง รถรา ล้วนแต่ผ่อนส่ง หาเงินมาได้ก็เอามากินมาใช้ มาผ่อนส่งของมาใช้เพื่อความสะดวกสบาย ตามฐานะข้าราชการทหารที่เงินเดือนไม่มากมายพอที่จะหรูหราได้ การใช้ชีวิตในเพศพรหมจาริณีจึงเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ได้เข้าใจและได้เรียนรู้อะไรมากมายในทางธรรม
 

 

9/05/2558

นักบวชสตรี ๓๖. บ้านนางสุชาดา : เอตทัคคะ ว่าเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้ถึงพระรัตนตรัยก่อนอุบาสิกาทั้งปวง : มหาทานของคุณแม่

            หลังการจาริกยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กองทัพธรรมได้เดินทางกลับมาสู่จุดตั้งต้น คือ พุทธคยา ตำบลตรัสรู้  เช้ามืดวันศุกร์ที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ กองทัพธรรมตื่นนอนแต่เช้าเพื่อเดินทาง เพื่อเดินทางไปยังบ้านนางสุชาดา ซึ่งเป็นผู้ถวายข้าวมธุปายาสพร้อมถาดทองคำแก่พระพุทธองค์ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงตรัสรู้ ในเช้าวันเพ็ญวิสาขะ หรือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ อันเป็นวันครบรอบพระชันษา ๓๕ พรรษาของพระพุทธองค์ ด้วยเข้าใจว่าพระองค์ท่านเป็นรุกขเทวดา ที่ต้นไทรที่ตนต้องการจะแก้บน ในครานั้นพระองค์ทรงรับถาดข้าวมธุปายาสแล้วทอดพระเนตรแลดูนาง นางสุชาดาจึงทูลถวายว่า
          ข้าแต่พระเป็นเจ้า ข้าพเจ้าขอถวายมธุปายาสกับทั้งภาชนะทองอันรองใส่ ขอพระองค์จงรับโดยควรแก่พระหฤทัยปรารถนา
          เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาเรียบร้อยแล้วจึงทรงอธิษฐานลอยถาดลงในแม่น้ำเนรัญชราว่า ถ้าจะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในราตรีนั้นแน่แล้ว ขอให้ถาดทองนี้จงลอยทวนน้ำขึ้นไป ถาดก็ลอยไปทางเหนือน้ำได้ ๘๐ ศอก แล้วก็จมลงสู่บาดาลเบื้องล่าง ถาดทองใบนั้นได้ไปกระทบกับถาดของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เกิดเสียงดังขึ้น ทำให้พญานาคราชลืมตาตื่นขึ้นมาดู พร้อมกับพึมพำว่า
          "พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้อีกองค์แล้วหรือนี่ !!! "
          ตอนเย็นพระองค์ทรงรับหญ้ากุสะ ที่นายโสตถิยะน้อมถวาย ๘ กำมือ แล้วพระองค์จึงเสด็จข้ามแม่น้ำเนรัญชรามาสู่ฝั่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงลาดหญ้ากุสะลงบนโคนแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ แล้วทำเป็นดุจรัตนบัลลังก์ จากนั้นก็เสด็จขึ้นประทับนั่งบนโพธิบัลลังก์นั้น ผิดพระพักตร์ไปสู่บูรพาทิศ พร้อมตั้งจิตอธิษฐานอย่างแน่วแน่ว่า
          "แม้เลือดและเนื้อของเราจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตามที ถ้ายังไม่บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เราจะไม่ลุกขึ้นจากบัลลังก์นี้ไป"
          ในที่สุดพระองค์ก็ตรัสรู้ก่อนอรุณรุ่งของคืนนั้น สำหรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา ถือเป็น  ภัตตาหารมื้อแรกหรือ การถวายอันสำคัญก่อนที่พระบรมโพธิสัตว์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
          ข้าวมธุปายาสนี้มีความพิเศษอย่างยิ่ง กล่าวคือ พระองค์ทรงปั้นเป็นปั้นๆ ได้ ๔๙ ปั้นแล้วเสวยจนหมด ซึ่งถือเป็นอาหารทิพย์อันจะคุ้มได้ถึง ๔๙ วัน ในการเสวยวิมุตติสุขภายหลังการตรัสรู้
         เมื่อมาดูวิธีการปรุงข้าวมธุปายาสนับว่าเป็นทานที่มีความปราณีตอย่างยิ่ง กล่าวคือข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาได้ทำนั้น นางได้จัดเตรียมด้วยความปราณีตพิถีพิถัน ด้วยการเลี้ยงแม่โคไว้รีดนมจำนวน ๖๐ ตัว และนำน้ำนมของแม่โคทั้ง ๖๐ ตัวนั้น ใช้เลี้ยงแม่โคอื่นอีก ๕๐ ตัว และน้ำนมแห่งโคทั้ง ๕๐ ตัวนี้ เลี้ยงแม่โคตัวอื่นอีก ๒๕ ตัว แล้วนำน้ำนมแม่โค ๒๕ ตัวนี้เลี้ยงแม่โคอื่นอีก ๑๒ ตัว ในที่สุดนำน้ำนมแห่งแม่โค ๑๒ ตัวนี้ใช้เลี้ยงแม่โค ๖ ตัว แล้วคัดสรรแม่โคว่างามยิ่ง ๑ ตัว แล้วนำน้ำนมแม่โค ๑ ตัวนี้ ไปผสมกับแก่นจันทร์และเครื่องเทศอันละเอียด แล้วเติมข้าวที่ได้จากการเก็บเกี่ยวคัดเลือกเมล็ดที่งดงามที่สุดในนาทุกแปลงนำมาผสมเป็นข้าวมธุปายาส ข้าวยาคู หรือ ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมโค
          ครอบครัวของนางสุชาดานี้ ภายหลังพระพุทธองค์ได้โปรดบุตรชายของนางที่ชื่อ "ยสะ" จนบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และโปรดสามีและยสะบุตรของนางในคราวเดียวกัน จนสามีของนางได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันนับเป็น “อุบาสกคนแรก ที่ถึงพระรัตนตรัย ส่วนยสะได้บรรลุอรหัตผลก่อนที่พระพุทธองค์จะประทานบวชให้ ตัวนางสุชาดาและอดีตภรรยาของยสะ  ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ และได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบันในพระพุทธศาสนาแสดงตนเป็นอุบาสิกา ขอถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต เธอทั้งสองได้ชื่อว่า เป็นอุบาสิกาคนแรกหรือรุ่นแรกที่ถึงพระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องนางสุชาดา ในตำแหน่งเอตทัคคะ ว่าเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้ถึงพระรัตนตรัยก่อนอุบาสิกาทั้งปวง   
         ความประทับใจในการจาริกยังบ้านนางสุชาดา ได้แก่ ความประณีตของทาน คือ ข้าวมธุปายาส ที่ถวายพระพุทธองค์ ทานนี้ปราณีตมาก ตั้งแต่มีความตั้งใจจัดทำ มีความตั้งใจถวาย และเมื่อถวายแล้วก็มีจิตที่ปีติเบิกบาน และที่สำคัญเป็นอาหารมื้อแรกก่อนที่พระบรมโพธิสัตว์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงนับว่าเป็นทานที่มีความสมบูรณ์หมดจดยิ่งนัก
           เช้าวันนี้กองทัพธรรมได้มาจาริกยังบ้านนางสุชาดาซึ่งมีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างด้วยอิฐแดงก่อขนาดใหญ่ คุณแม่ได้นำคณะแม่ๆและทีมงานเลี้ยงพระสงฆ์กองทัพธรรม ณ ลานบ้านของนางสุชาดา คุณแม่ตักอาหารถวายพระสงฆ์สองร้อยกว่ารูปด้วยตนเอง ผู้เขียนและเพื่อนแม่ใหม่สังเกตเห็นว่าหม้อข้าวและหม้อกับข้าวมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ข้าวและกับข้าวที่ตักแจกนี้ คุณแม่ตักแจกได้ทั่วถึงทุกคน รวมทั้งแม่พรหมจาริณี และทีมงาน ได้รับอาหารเพียงพอแก่การรับประทานทุกคน     
 
             หลังจากเลี้ยงพระและทุกคนรับประทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว คุณแม่ได้เป็นผู้นำบุญ ให้นำกองทัพธรรมและทีมงานร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อซื้อผักสด  ถั่วฝักยาว มะเขือ ผักกาด ฯลฯ จากชาวบ้านที่นำมาเร่ขาย แล้วนำมา
แจกมหาทานแก่ชาวบ้าน ที่อาศัยในบริเวณใกล้บ้านนางสุชาดาอีกครั้ง การทำทานในวันนี้นับว่าเป็นทานที่มีความประณีตอีกครั้งของผู้เขียน ด้วยว่าได้มีใจอยากจะร่วมทำตั้งแต่ก่อนทำ ขณะถวายเงินก็ถวายด้วยความเต็มใจ ระหว่างแจกทานก็แจก
ด้วยความตั้งใจสงเคราะห์เขา หลังทำจึงมีความปีติเบิกบานใจอย่างยิ่ง