หน้าเว็บ

9/04/2558

นักบวชสตรี ๓๕. สารนาถ : ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน : พระรัตนตรัยอยู่ในใจเรา เหนือสิ่งอื่นใดไม่มี มีแต่พระรัตนตรัยในใจเรา


        วันพฤหัสบดีที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ วันที่แปดของการจาริกแสวงบุญ วันนี้เป็นวันสำคัญมากที่สุดวันหนึ่งในชีวิตผู้เขียน ที่ตราตรึงในจิตในใจ ด้วยว่าเราจะไปจาริกแสวงบุญยังสังเวชนียสถานแห่งที่ ๓ ได้แก่สถานที่ที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
          คำว่า "สารนาถ" หมายถึงสวนกวาง สถานที่อภัยทานแก่ เก้ง กวาง และสัตว์ป่านานาชนิด ตรงกับคำว่า "มฤคทายวัน" ซึ่งแปลว่า "สถานที่อภัยแก่เนื้อ" ส่วนคำว่า "อิสิปตน" นั้นแปลว่า "เป็นที่ตกไปแห่งฤาษี" หมายความว่า พวกฤาษีชีไพรมักพากันมาจาริกพำนักที่นี่เสมอ
          สวนกวางแห่งนี้ตั้งอยู่ชายเมืองพาราณสี เมื่อกว่าสองพันหกร้อยปีมาแล้ว  "ปัญจวัคคีย์"  คือ นักบวชที่เป็นพวกกัน ๕ ท่าน ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ เป็นนักบวชที่ออกบวชติดตามปรนนิบัติพระพุทธเจ้าตั้งแต่เสด็จออกผนวชใหม่ๆ ภายหลังเมื่อพระพุทธองค์ทรงเลิกการบำเพ็ญทุกขกิริยาทรมานพระวรกาย จึงได้พากันหนีพระพุทธองค์ไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันแห่งนี้ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว ทรงพิจารณาหาผู้มีอุปนิสัยเพียงพอจะรู้ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้  เมื่อพิจารณาไปก็เห็นว่า ท่านอาฬารดาบส และอุทกดาบส ได้สิ้นไปเมื่อ ๗ วันที่ผ่านมา  เมื่อดำริถึง    ปัญจวัคคีย์ก็เห็นว่ามีอินทรีย์แก่กล้าพอที่จะตรัสรู้ธรรมได้   จึงทรงเสด็จ   พุทธดำเนินด้วยพระบาทจากพุทธคยา เดินได้วันละ ๒๐ กม.  ถึงสารนาถชายเมืองพาราณสีในเย็นวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๘ พบกับพระปัญจวัคคีย์ที่เจาคานธีสถูป ซึ่งห่างจากป่าอิสิปตนมฤคทายวันประมาณ ๑ กม. ปัญจวัคคีย์แสดงอาการกระด้างกระเดื่อง พระพุทธองค์จึงทรงตรัสเตือนจนพวกเขาได้สติ
          รุ่งขึ้น เป็นวัน ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกที่ชื่อว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" โปรดปัญจวัคคีย์เมื่อเทศนาจบโกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมจึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ประทานอุปสมบทให้ ด้วยวิธีที่เรียกว่าเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยกล่าวคำว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเกิด" พระโกณฑัญญะ จึงเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรก
          โกณฑัญญะได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ให้เป็น "เอตทัคคะในด้านรัตตัญญู" เรียกว่า มีราตรีนาน คือเป็นผู้รู้ธรรมก่อนใคร และได้บวชก่อนผู้อื่นในพระพุทธศาสนา จากนั้นพระพุทธองค์ทรงประทาน ปกิณณกเทศนา สั่งสอนที่เหลืออีก ๔ ท่าน ให้บรรลุโสดาบันแล้วประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ ผู้อ่านคงจำได้ว่าวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ ตรงกับ "วันอาสาฬหบูชา" นั่นเอง
เช้าวันนั้นผู้เขียนไม่ได้นึกอะไรมากเกี่ยวกับสถานที่ที่จะไปว่าสำคัญอย่างไร ด้วยว่าใจให้ความสำคัญกับสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานมากกว่า การไปจาริกแสวงบุญ ณ สถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระปฐมเทศนาจึงไปตามกำหนดการที่เขาพาไปเท่านั้น
          เมื่อกองทัพธรรมเดินทางถึงป่าอิสิปฯ ซึ่งในปัจจุบันมีรั้วล้อมรอบ มีการจัดสวนภายในสะอาดเรียบร้อย กองทัพธรรมไปนั่งรวมตัวกันปฏิบัติบูชา ที่บริเวณ "พระธัมเมกขสถูป" (พระสถูปที่เห็นธรรม-ตรัสรู้ธรรม) ซึ่งเป็น  พระสถูปอิฐก่อทรงกลมขนาดสูงใหญ่มาก
          คุณแม่ได้เมตตาให้กองทัพธรรมร่วมทำบุญถวายปัจจัยซื้อข้าวสารถวายวัด และเป็นปัจจัยเป็นทุนการศึกษาให้พระสงฆ์ที่มาศึกษาพระธรรมที่เมืองนี้ เรียกว่า ได้ทั้งทานในเรื่องอาหารและปัญญา กองทัพธรรมร่วมกันทำบุญอย่างเต็มอกเต็มใจ  จากนั้น หลวงตา คณะพระสงฆ์พี่เลี้ยง คุณแม่ กองทัพธรรม และทีมงาน ได้ร่วมสวดมนต์ และปฏิบัติบูชาเช่นเคย  บทสวดมนต์ในวันนี้มีความพิเศษกว่าทุกครั้ง เพราะ นอกจากบทสวดบูชาพระรัตนตรัยตามปกติแล้ว กองทัพธรรมยังได้สวดบทสวด "ธัมมจักรกัปปวัตตนะสูตร" ซึ่งเป็นบทสวดที่ใช้เวลากว่าสิบนาที ที่ผ่านมา ผู้เขียนเคยสวดบทนี้มาบ้าง แต่นับครั้งได้ เนื่องจากเป็นบทที่ยาวและสวดยาก ต้องใช้สมาธิในการสะกดคำในบทสวดไม่ให้สวดผิด    
          ธัมมจักรกัปปวัตตนะสูตร แปลว่า "สูตรว่าด้วยการผลักวงล้อธรรมให้หมุนไป" "ธัมมจักร" แปลว่า "วงล้อแห่งธรรม คือ ความดีงาม ความเมตตา รักใคร่ปรารถนาดีต่อกัน ความสงบร่มเย็น และอิสรภาพจากกิเลส ความใฝ่ต่ำ ทั้งหลาย"
          เนื้อหาแห่งพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร กล่าวถึงการปฏิบัติตามทางสายกลาง ได้แก่ อริยมรรค มีองค์แปดที่เราต้องปฏิบัติตามจนบรรลุธรรม คือ ปัญญาอันเห็นชอบดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ และตั้งใจชอบ อริยสัจสี่ คือความจริงอันประเสริฐที่พระองค์ค้นพบ มี ๔ ประการได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
          ปัญญาอันรู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริงในอริยสัจ ๔ มีการเดิน ๓ รอบ ๑๒ อาการและพระองค์ได้กระทำตามนั้นสำเร็จเสร็จแล้ว
          เรื่องการเดินอริยสัจ ๔  ๓ รอบ ๑๒ อาการนี้ หลวงพ่อเคยสอนให้ฟังเมื่อประมาณสองสามปีที่แล้ว ตอนนั้นผู้เขียนยังมีสติปัญญาไม่พอที่จะเข้าใจ  การเรียบเรียงบทความในวันนี้จึงติดขัดต้องเรียนถามครูถึงความหมายแห่งการเดินอริยสัจ ๔ ๓ รอบ ๑๒ อาการ พอครูอธิบายให้ฟังจึงเข้าใจ ตามสติ ปัญญาในระดับต้นๆ ขอนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบ ดังนี้
          การเดินอริยสัจ ๔ มี ๓ รอบ ได้แก่
          รอบที่ ๑ เรียกว่าสัจจญาณคือ ปัญญาที่รู้ความจริงในอริยสัจ ๔ ครูอธิบายว่า คือ ความยอมรับและเข้าใจก่อนว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี้เป็นหนทางดับทุกข์ที่แท้จริง รู้และเข้าใจว่าทุกข์ คือ สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ที่เกิดขึ้นและดับไป  เข้าใจว่า สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ คือ การที่เราส่งจิตออกนอก นิโรธ ความดับทุกข์ คือ การไม่ส่งจิตออกนอก สิ่งปรุงแต่งไม่เกิด ทุกข์ก็ดับไป เข้าใจ มรรค คือ ทางแห่งการดับทุกข์ ต้องใช้การเดินมรรคมีองค์ ๘ กล่าวโดยสรุป รอบแรก คือ ต้องมีปัญญายอมรับและเข้าใจก่อน การยอมรับและเข้าใจรอบแรกนี้ เป็นการยอมรับระดับใจ ไม่ใช่ความคิด
          รอบที่ ๒ เรียกว่ากิจญาณคือ เมื่อมีปัญญายอมรับและเข้าใจแล้ว ก็ต้องเดินอริยสัจ ๔ รอบที่สอง คือปฏิบัติอย่างจริงจัง ปราศจากความลังเลสงสัย นั่นคือ หยั่งรู้หน้าที่ต่ออริยสัจ พิจารณา ทุกข์ควรรู้เหตุแห่งทุกข์ควรละความดับทุกข์ควรทำให้ประจักษ์แจ้ง และทางแห่งความดับทุกข์ควรฝึกหัดให้เจริญขึ้น
          รอบที่ ๓ เรียกว่ากตญาณคือ หยั่งรู้ว่าได้ทำกิจที่ควรทำได้เสร็จสิ้นแล้ว รอบสุดท้ายนี้เป็นผลของการปฏิบัติแล้ว คือ ทุกข์ได้กำหนดรู้แล้วเหตุแห่งทุกข์ได้ละแล้วความดับทุกข์ได้ประจักษ์แจ้งแล้วทางแห่งความดับทุกข์ได้ปฏิบัติแล้ว
          กล่าวง่ายๆ คือ เดินอริยสัจ ๔  ๓ รอบ รอบละ ๔ ข้อ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค  ๓ รอบคูณ ๔ รวมเป็น ๑๒ อาการ  เดินรอบแรก คือ ปัญญา รู้ เข้าใจ ยอมรับ  รอบสอง คือ ลงมือปฏิบัติอย่างไม่ลังเลสงสัย รอบที่สาม เป็นผลแล้ว คือ รู้แล้ว ละได้แล้ว ดับได้แล้ว เมื่อเดินจนสมบูรณ์แล้ว คือ ดับทุกข์ได้แล้ว นั่นเอง 
          เรื่องธรรมนี้เป็นสติปัญญาเฉพาะตนจริงๆ การฟังธรรมของคนสมัยพุทธกาล ท่านได้บรรลุธรรมมากมาย ว่ากันว่า เป็นเพราะยุคนั้น ผู้ที่รอมาเกิดในพระพุทธศาสนามีสติปัญญาที่เขาสั่งสมมาหลายภพหลายชาติ พอพระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเพียงครั้งเดียวก็บรรลุธรรม  พอมาพิจารณาถึงตัวเรานี้ มาเกิดช่วงกึ่งพุทธกาล ปัญญาน้อย ฟังธรรมไปสองสามปีแล้ว เพิ่งจะมาเข้าใจ ที่ว่าเข้าใจนี้ ก็เข้าใจระดับต้นๆ เข้าใจด้วยความคิดปนๆไปก่อน อาศัยว่ามีความซื่อตรง ศรัทธา ครูบาอาจารย์สอนก็ปฏิบัติไปค่อยๆเรียนรู้ไป หลวงพ่อเทศน์เมื่อสองสามปีที่แล้ว เพิ่งจะเข้าใจ เข้าใจตามหลังเป็นปีๆ เออหนอ ยังดีที่เข้าใจในชาตินี้ สติปัญญาน้อยก็อาศัย ศรัทธา ความเพียร เดินอิทธิบาทภาวนาไปอย่าได้ท้อถอย อย่างน้อยคงไม่เสียชาติเกิด ที่เกิดเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาในชาตินี้
          ย้อนกลับมาที่เหตุการณ์การจาริกธรรมในวันนั้น  หลวงตา พระธรรมฑูต พระพี่เลี้ยง คุณแม่ กองทัพธรรม และทีมงานรวมตัวกันนั่งภาวนาหน้าพระธัม-เมกขสถูป  บรรยากาศการนั่งภาวนาในวันนี้ แสงแดดยามสิบโมงกว่าแผดเผาร้อนแรงมาก เงาของพระสถูปค่อยๆร่นเข้าไป ทำให้กองทัพธรรมที่อยู่แถวหลังๆต้องนั่งกลางแดด คุณแม่ให้พวกเรากระเถิบเข้าไปใกล้ๆพระสถูปเพื่อจะได้ไม่โดนแดด แต่ความพยายามนี้ไม่ประสบผล ด้วยว่าใกล้เที่ยงแล้วร่มเงาจึงน้อยลงไปเรื่อยๆ  ไม่สามารถให้ทุกคนอยู่ในร่มเงาพระสถูปได้ คุณแม่จึงบอกด้วยเสียงที่เด็ดเดี่ยวว่า
         "ให้ปฏิบัติบูชาถวายพระพุทธเจ้า นั่งตัวตรงๆ ยืดอกผายไหล่ผึ่งเข้าไว้ เรากำลังเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ให้อดทน อดทนต่อแสงแดด อดทนต่อความร้อน หายใจเข้า "พุท" หายใจออก "โธ" เข้าไว้ อย่าได้วอกแวก"
          เพื่อนแม่ๆหลายคน โยมอุปัฏฐาก และผู้เขียนจึงนั่งภาวนากลางแดด ใจผู้เขียนนั้นยอมรับสภาพความร้อนและแสงแดดโดยไม่รู้สึกทุกข์ใจแต่อย่างใด  จึงเข้าสภาวะความรู้ตัวตามที่ครูบาอาจารย์สอนมาเช่นเคย ระลึกรู้รูปกายที่นั่ง ระลึกรู้ลมหายใจเข้า-ออก พร้อมทั้งบริกรรม "พุทโธ" วางความรู้สึกแนบไปกับลมหายใจ รู้ลมหายใจ เข้าพุท-ออกโธ  มองตัวเอง ระลึกรู้รูป คือ กายและลมหายใจ  ระลึกรู้นาม คือ ความรู้สึกนึกคิด และความรู้สึกของลมหายใจ ด้วยคำสอนของครูบาอาจารย์ที่ว่า
          "รู้มั้ย...รู้สึกมั้ยว่าหายใจอย่างไร"
          มองตัวเองนั่งหายใจเข้า "พุท" ไปสุดที่ฐานใจ ลมหายใจเขาพักนิดหนึ่ง แล้วจึงหายใจออก "โธ" ความเด่นชัดที่เห็น คือ เห็นกายตัวเองนั่งตากแดด รู้สึกถึงเหงื่อที่ค่อยๆผุดออกมาจากผิวหนังจนเป็นหยดหยาดออกจากรูขุมขนตามส่วนต่างๆของร่างกาย มันจะหยดก็หยดไป แต่ใจมันไม่ได้สนใจเพราะมันไปอยู่กับพุทโธ...พุทโธที่เข้าไปตั้งมั่นอยู่ภายใน
          ใจภายในมันเข้าใจของมันเองว่า อ๋อ...นี่เองคือการแยกกายกับจิต  คนละส่วนกัน กายก็ส่วนกายมันจะร้อนมันจะตากแดดมันจะเมื่อยมันจะปวดเพราะพื้นที่นั่งมันแข็งก็ช่างมัน จิตไม่ไปเอากับเวทนาทางกาย มันไม่เอากับความร้อน ร้อนแต่ไม่เอา ร้อนก็ช่างมัน เมื่อยก็ช่างมัน ฉันจะอยู่กับพุทโธ อยู่กับความรู้ตัว อยู่กับลมหายใจ
          ลมหายใจเข้าไปรวมที่ฐานใจ เป็นความตั้งมั่นภายในชัดเจน ด้วยความศรัทธาที่มีต่อพระรัตนตรัย สถานที่แห่งนี้เป็นที่ๆพระรัตนตรัยถึงพร้อม ไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่าจะมีพลังมากขนาดนี้  ตอนนี้เราอยู่  ณ สถานที่ที่  พระรัตนตรัยเกิดขึ้นครั้งแรกในพระพุทธศาสนา พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ถึงพร้อมครั้งแรกที่นี่ ศรัทธาที่ค่อยๆเติมมาตลอดการจาริก จึงมาเต็มเปี่ยมที่นี่เอง ตอนนี้ในใจมันบอกว่า
          "พระรัตนตรัยอยู่ในใจเรา เหนืออื่นใดไม่มี มีแต่พระรัตนตรัยในใจเรา"
          ลูกเข้าใจแล้ว ที่หลวงพ่อบอกว่าให้ศรัทธาในพระรัตนตรัย ศรัทธาจะเป็นตัวนำ เมื่อศรัทธาแล้ว ใจที่เต็มไปด้วยพระรัตนตรัยนี้ มันจะเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย  พระรัตนตรัยอยู่ในใจเราแล้ว ใจมันจึงไม่ยอมให้กิเลส ความหลง สิ่งภายนอก สิ่งที่เคลื่อนทั้งหลาย เข้ามาครอบงำจิตใจ หรือหากครอบงำได้ เราก็จะเรียนรู้และคัดแยกมันออกไปจากใจ เหมือนคัดแยกขยะ ต้องค่อยๆเรียนรู้ ความตั้งมั่นภายในนี้ทำให้เราไม่ไหลไปกับสิ่งภายนอก มันจะวกกลับมาที่บ้านของเรา คือ ใจ และมันจะรู้หน้าที่ว่า อะไรๆภายนอก ไม่สำคัญ ที่สำคัญคือเราต้องรักษาใจของเรา อะไรๆภายนอกไม่สำคัญ สำคัญที่ใจของเราเท่านั้น ใจน้อมระลึกถึงเสียงบทสวดบูชาพระธรรมที่ไหลเข้ามาในใจ
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
สันทิฏฺฐิโก เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล
เอหิปัสสิโก เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด
โอปะนะยิโก เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพวิญญูหิ เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะกาล   
          เมื่อกลับจากการจาริกฯ  ได้มีโอกาสพบหลวงพ่อคราวที่ผ่านมา จึงได้เรียนหลวงพ่อว่า
          "โยมเพิ่งเข้าใจที่หลวงพ่อสอน"
          ท่านหัวเราะอย่างมีเมตตา
          "เข้าใจแล้วใช่ไหมล่ะโยม"
          คำว่า "เข้าใจ" คำว่า "ตั้งใจ-ตั้งใจมั่นชอบ" คำว่า "ศรัทธา" นี่มันลึกซึ้งจริงๆ มันลึกมันซึ้งในใจ ไม่ใช่คำพูดที่จะมาพูดกัน อธิบายกันให้เข้าใจได้ง่ายๆ มันต้องใช้ใจเรียนรู้ไปทีละเล็กทีละน้อย ที่ว่าตั้งใจน่ะ ตั้งใจจริงๆหรือเปล่า ที่จะออกจากกาม ที่จะข้ามสังสารวัฏ ที่ว่าศรัทธาน่ะ ศรัทธาในพระรัตนตรัยจริงหรือเปล่าที่จะทวนกระแสโลก ที่จะวางให้หมดให้สิ้น ที่ว่าวางน่ะวางที่ใจ ไม่ใช่วางที่คำพูด หรือการกระทำ สำคัญที่ว่าเราเอาจริงหรือเปล่า ที่ว่าจริง ถามตัวเองจริงๆ ใจเรายังไม่จริงร้อยเปอร์เซนต์ ที่ว่าลังเลสงสัย อ๋อ มันไม่เด็ดขาดอย่างนี้นี่เอง ต้องตั้งใจจริง ต้องเด็ดขาด ต้องมีบารมี มีบุญอย่างเดียวมันไม่พอจริงๆที่จะตัด
          บารมีที่ว่า มีพอหรือยัง ความเสียสละ ขันติ วิริยะ สัจจะ ฯลฯ ทำได้ไหม จะทำบุญยังตระหนี่เสียดายเงิน จะไปวัดยังมีคำว่าขี้เกียจ มีข้ออ้างต่างๆนานา อ้างว่าไม่ต้องไปฟังธรรมก็ได้ ปฏิบัติที่บ้านก็ได้ สารพัดจะอ้างหาข้ออ้างให้กับตัวเอง แล้วอย่างนี้ ยังมีหน้ามาบอกว่า อยากพ้นทุกข์ มันไม่อยากจริง ถ้าอยากจริงต้องทำได้อย่างแน่วแน่ที่จะทำ ทำอย่างปราศจากความลังเลสงสัย
          ธรรมที่ได้จากการจาริกยังป่าอิสิปตนมฤคทายวันนี้ กลับเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมาย ศรัทธาที่มีต่อพระรัตนตรัย เชื่อมั่นว่า พระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ปฏิบัติแล้วทำให้พ้นทุกข์ได้จริง และพระสงฆ์สาวกเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ในการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้มีอายุยืนยาวถึงห้าพันปี  ความเชื่อมั่นนี้เติมเต็มในจิตในใจ จนมันบอกกับตัวเองว่า "พระรัตนตรัยอยู่ในใจเรา เหนืออื่นใดไม่มี มีแต่พระรัตนตรัยในใจเรา" ดังได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง
          กราบ กราบ กราบ ในพระคุณครูบาอาจารย์ กราบคุณแม่ที่เมตตานำเข้าสภาวะ สาธุ สาธุ สาธุ... 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น