หน้าเว็บ

9/02/2558

นักบวชสตรี ๓๔. มุ่งสู่เมืองพาราณสี : เมืองแห่งลัทธิศาสนา : แม่น้ำคงคา : สถานที่เผาศพ ที่ไฟไม่เคยมอดมากว่าหกพันปี


         เช้าวันพุธที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๗ วันที่เจ็ดของการเดินทางแสวงบุญของกองทัพธรรม วันนี้เราตื่นแต่เช้ามืดและออกเดินทางมุ่งสู่พาราณสี  แม่ใหม่ต่างก็หยิบหนังสือคู่มือโครงการบรรพชาฯ มาเปิดอ่านทบทวนถึงสถานที่ๆ จะไปจาริก เพื่อเตรียมตัวให้มีความเข้าใจในสถานที่ๆ จะไปถึง
          เสียงหลวงตายังคงเล่าเรื่องราวให้แม่ๆ ฟังบนรถบัสอย่างน่าสนใจ ผู้เขียนจำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เมื่อกลับมาอ่านมาค้นข้อมูลเขียนบทความนี้ ความทรงจำก็ค่อยๆคืนกลับมา บวกกับเรื่องราวการจาริกของเพื่อนแม่ใหม่ที่เป็นคุณครูบันทึกไว้เล่าให้นักเรียนฟัง ทำให้บทความนี้สมบูรณ์ขึ้นมาได้  ขออนุโมทนาสาธุ...
          เมืองพาราณสีนี้มีความเจริญกว่าเมืองอื่นๆที่ผ่านมา เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าขาย ก่อนที่จะมาถึงเมืองนี้ เพื่อนแม่ใหม่บอกว่า
          "แม่แก้ว ไปเมืองพาราณสี ต้องซื้อผ้ากาสีไปฝากคนทางบ้านเรานะ เป็นผ้าที่ดี มีชื่อเสียงมาก"
          ผู้เขียนและเพื่อนแม่ใหม่จึงเจียดสตางค์ไว้จำนวนหนึ่งเพื่อซื้อผ้ากาสีไปฝากคุณแม่ ครูบาอาจารย์ และกัลยาณมิตร เวลามอบให้ก็จะบอกเขาด้วยความภาคภูมิใจว่า
          "นี่คือ ผ้ากาสีแห่งเมืองพาราณสี"
          จึงดูเป็นของฝากที่มีคุณค่ามาก ที่เมืองนี้ คุณแม่ได้เลือกผ้ากาสี แล้วมอบให้โยมอุปัฎฐาก และแม่ๆ ด้วยมือของท่านเองทุกผืน ตอนที่ท่านเรียกเข้าไปรับผ้าที่ท่านห่มให้ทุกคนด้วยมือของท่านเองนี้ ผู้เขียนแอบมองกลุ่มผืนผ้าที่ยังไม่แจก รู้สึกชอบใจผ้าสีฟ้า จึงแอบลุ้นในใจ เมื่อถึงคิวเข้าไปรับผ้า  ก็ได้ผ้าสีฟ้าสวยที่มีลายตารางละเอียดไล่สีฟ้าม่วงทองเขียวสวยงาม ผ้ากาสีนี้ ยามนำมาคลุมห่มตัวทีไรจะรู้สึกอุ่นใจ เหมือนมีครูบาอาจารย์อยู่ใกล้ๆ ท่านอยู่ในใจเราเสมอ พอมีท่านอยู่ในใจ ใจเราก็จะรวมตั้งมั่นอยู่ภายในโดยอัตโนมัติ
          ขอย้อนกลับมาเล่าเรื่องของเมืองพาราณสีสักเล็กน้อย หลวงตาเล่าว่าเมืองพาราณสีเป็นเมืองหลวงของแคว้นกาสี เป็นแคว้นเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในอินเดีย คำว่า "พาราณสี" มาจากชื่อแม่น้ำสองสาย คือ "แม่น้ำพรณา" หรือ "วรุณา" กับแม่น้ำ "อสิ" รวมกันเป็น "พาราณสี" หรือ "วาราณสี"
          เมืองพาราณสีน่าจะเป็นศูนย์กลางหรือตลาดแห่งลัทธิศาสนามากกว่าเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ แม้เคยทำสงครามกับแคว้นโกศลของพระเจ้า ปเสนทิ จนพ่ายแพ้ตกอยู่ในอำนาจของแคว้นโกศล แต่ความที่เป็นเมืองแห่งลัทธิศาสนาจึงไม่ถูกทำลายเหมือนราชคฤห์ และสาวัตถี ซึ่งเข้าทำนอง "ไม้แข็งนักมักแพ้ลมบน"  ปัจจุบันเมืองนี้เป็นศูนย์การค้าขาย ทำธุรกิจ เป็นศูนย์กลางของนักแสวงบุญ ทุกลัทธิศาสนา
          กองทัพธรรมเข้าสู่พาราณสี และเดินทางไปลงเรือที่ท่าเรือริมฝั่งแม่น้ำคงคา เพื่อลงเรือชมแม่น้ำและลอยกระทงดอกไม้บูชาพระแม่คงคา ระหว่างทางที่เดินไปลงเรือนั้นผ่านตลาด ร้านค้า พ่อค้าเร่ แผงขายสินค้าต่างๆดูจอแจมาก เมื่อลงเรือแล้ว เรือก็แล่นพาชมแม่น้ำในยามเย็นใกล้ค่ำ 
          แม่น้ำคงคา เป็นแม่น้ำสายสำคัญของอินเดีย เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู มีต้นกำเนิดทางภาคเหนือของอินเดีย บริเวณเทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียไปทางตะวันออก และรวมกับแม่น้ำพรหมบุตรที่ประเทศบังคลาเทศก่อนจะไหลออกที่อ่าวเบงกอล แม่น้ำคงคามีความยาวประมาณ ๒,๕๑๐ กิโลเมตร
          ชื่อของแม่น้ำเป็นนามของ "พระแม่คงคา" พระชายาของพระศิวะ ชาวฮินดูเชื่อว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่น้ำไหลมาจากมวยผมของพระศิวะ  จึงมาอาบน้ำล้างบาปในแม่น้ำแห่งนี้ เพราะความเชื่อว่าจะทำให้จิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ทุกวันชาวอินเดียจะมาที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาเพื่อทำการอาบน้ำ และดื่มกินน้ำจากในแม่น้ำคงคา รวมถึงการเผาศพที่ริมฝั่งน้ำและโปรยขี้เถ้าลงในน้ำ      
          ทิวทัศน์ยามเย็นในการล่องเรือเย็นสบาย บนฝั่งเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างเรียงรายแน่นอยู่ริมฝั่ง มีห้องเล็กๆเป็นสถานที่รอเผาศพ บางทีคนแก่คนป่วยก็มานอนรอความตายที่นี่  มีท่าน้ำเป็นระยะๆ มีสถานที่เผาศพริมน้ำที่จะเผากันด้วยฟืนง่ายๆ   แล้วโปรยเถ้ากระดูกลงแม่น้ำไป   ว่ากันว่าไฟเผาศพมีการเผาอย่างต่อเนื่องไม่เคยมอดดับมากว่าหกพันปีมาแล้ว เศรษฐีหรือผู้ที่มีอันจะกินจะใช้ไม้ราคาแพง เช่น ไม้จันทน์ในการเผาศพ ส่วนคนจนก็ใช้ไม้ที่มีราคาถูกรองลงมา เช่น ไม้สะเดา ไม้มะม่วง เป็นต้น ไม่ว่ายากดีมีจนอย่างไรก็ไม่พ้นตาย สถานที่แห่งนี้จึงเป็นสถานที่ที่ผู้เขียนเจริญมรณานุสติระลึกถึงความตาย ความไม่เที่ยง นึกถึงคำสอนของหลวงพ่อที่พร่ำสอนเตือนลูกศิษย์ที่ยังหลงโลกอย่างเราว่า
          "ไม่อยากป่วยตอนนี้ก็ป่วยบ่อยแล้ว  ไม่อยากแก่ตอนนี้ก็แก่กันทุกคนแล้ว เหลือแต่ความตาย แม้ไม่อยากตาย ก็หนีความตายไม่พ้น ฉะนั้นพึงไม่ประมาท ขณะที่ร่างกายเรายังมีกำลังวังชาอยู่นี้ ควรหมั่นบำเพ็ญเพียรสร้างความดีและกุศลให้เกิดขึ้นในจิต อกุศลในจิต อาทิ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความห่วง หวง เยื่อใย อาลัยอาวรณ์ คือความยึดมั่นถือมั่น ไม่รู้จักวาง ไม่รู้จักพอ ควรเริ่มหัดละ หัดปล่อย หัดวางได้แล้ว ไม่ต้องรอจนถึงมัจจุราชมาอยู่ตรงหน้า แม้ไม่อยากวางก็ต้องวาง ไม่อยากพลัดพราก ก็ต้องพลัดพราก ด้วยความห่วง หวง เยื่อใยอาลัยอาวรณ์ที่ทำให้ละไม่ได้วางไม่ได้นี้เอง ก็จะเป็นเหตุให้เมื่อวาระสุดท้ายมาถึงต้องตายด้วยจิตที่เศร้าหมอง"
           ผู้เขียนเห็นจริงตามคำของหลวงพ่อทุกประการ และรู้ว่าการละวางนี้ต้องใช้เวลา ด้วยว่าเราสะสมมาหลายภพหลายชาติ จึงต้องมีกำลังใจที่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยว เพื่อที่ตัดเยื่อใยเหล่านี้ การวางที่หลวงพ่อสอนนี้เป็นการวางที่ใจ การดำเนินชีวิตภายนอกยังคงใช้ชีวิตทำการทำงาน ครอบครัว อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่การหนีโลก การมีสติระลึกรู้ มีความรู้ตัวเป็นเครื่องมือให้เห็นถึงสิ่งต่างๆรอบตัวเรา สิ่งที่เกิดขึ้นกับกาย และจิตของเรา ที่เป็นธรรม คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นการเห็นและเรียนรู้ของใจ ที่จะค่อยๆเรียนรู้จนเกิดปัญญาตามบุญบารมีของแต่ละคนสะสมมา และมาทำความเพียรต่อในชาตินี้
          แม่น้ำคงคานี้จะศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่ ผู้เขียนไม่อาจทราบได้ แต่จากความเชื่อของชาวฮินดูแล้ว ศรัทธาหรือความเชื่อที่ว่าอาบน้ำชำระบาป หรือเมื่อจะตายและเผาร่างเป็นเถ้าสู่แม่น้ำคงคา ใจที่มีศรัทธา จะรวมใจให้เป็นหนึ่ง บวกกับความเชื่อมั่นว่าทำเช่นนี้แล้วจะได้ไปสู่สุคติ พลังศรัทธานี้รวมกัน ณ แม่น้ำคงคา อย่างน้อยจิตใจของเขาก่อนตายน่าจะดีกว่าใจที่เต็มไปด้วย  ไฟสามกอง คือ โลภ โกรธ และหลง    
          ความพิเศษของแม่น้ำคงคาอีกประการหนึ่ง คือ  แม้ว่าจากที่ตาเห็นสภาพน้ำที่ขุ่น และมีเศษวัสดุ เช่น เศษดอกไม้ และกระทงลอยบนผิวน้ำ รวมถึงเถ้าจากการเผาศพที่ทิ้งลงน้ำ น่าจะทำให้คุณภาพน้ำไม่ดี  แต่ปรากฏว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า น้ำในแม่น้ำคงคามีลักษณะพิเศษกว่าแม่น้ำอื่นใด คือ มีปริมาณของออกซิเจนละลายในน้ำสูง และยังมีจุลินทรีย์ที่สามารถกินไวรัสรวมถึงเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย ยิ่งมีปริมาณของเสียปล่อยลงน้ำเท่าใด ก็ยิ่งเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์เท่านั้น และทำให้น้ำในแม่น้ำคงคามีความสามารถที่จะปรับตัวไปสู่สภาพปกติมากกว่าแม่น้ำทั่วไปถึง ๒๕ เท่า นี่คงเป็นความมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งที่พิสูจน์ได้ด้วยการทดลองทางวิทยาศาสตร์
          ธรรมที่ได้จากการจาริกยังแม่น้ำคงคา ได้แก่ การเจริญมรณานุสติ และการไม่ประมาท ด้วยว่า เราจะตายเมื่อใดนั้นไม่อาจรู้ได้ ดังคำพระพุทธองค์ท่านตรัสถามพระอานนท์ว่า
        "ดูก่อนอานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง"
         พระอานนท์กราบทูล ตอบว่า
        "นึกถึงความตายวันละเจ็ดครั้งพระเจ้าข้า"
         พระองค์ตรัสว่า
        "ยังห่างมากอานนท์ ตถาคตนึกถึง ความตายทุกลมหายใจเข้าออก"
                   ..........
          ภาชนะที่ช่างหม้อทำแล้ว
ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งสุกและดิบ
ล้วนมีความแตกทำลายเป็นที่สุด ฉันใด
ชีวิตสัตว์ทั้งหลาย ก็มีความตายเป็นที่สุด ฉันนั้น
                   .........
          ค่ำวันนั้นพระภิกษุกองทัพธรรมได้รับเมตตาจากพระอาจารย์ ดร.วิเชียรให้เข้าพักที่วัดจีน ซึ่งเป็นวัดร้างที่ท่านมาช่วยดูแล  ส่วนแม่ๆและทีมงานก็เข้าพักที่โรงแรมใกล้ๆนั้นเช่นเคย
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น