หน้าเว็บ

9/08/2558

นักบวชสตรี : การสละที่นอนให้แม่พี่เลี้ยง การถวายห้องน้ำหญิงให้กับพระสงฆ์ใช้ปลดทุกข์ และการเพ่งโทษผู้อื่น


การสละที่นอนให้แม่พี่เลี้ยง
          มีอยู่คราวหนึ่งห้องพักในโรงแรมที่พักเต็ม การเข้าพักอาศัยเราจะพักกันห้องละประมาณ ๖ คน นอนบนที่นอน และ ฐานเตียงที่แข็งๆ (ทางโรงแรมใช้วิธี ยกที่นอนลงวางบนพื้นห้อง ส่วนฐานเตียงก็นำมาปูผ้าเป็นที่นอนอีกชิ้นหนึ่ง)  ผู้เขียนและเพื่อนแม่ใหม่ได้ห้องพักเรียบร้อย ตัวผู้เขียนเองได้ให้บริกรยกฟูกที่นอนมาเปลี่ยนกับฐานเตียงที่มีความแข็งเรียบร้อย กะว่าคืนนี้โชคดีแน่แล้วไม่ต้องนอนบนฐานเตียงแข็งๆให้ปวดหลัง ต่อมาภายหลังโยมอุปัฏฐาก มาแจ้งให้ทราบว่าแม่พี่เลี้ยงยังไม่มีห้องพักเนื่องจากห้องพักเต็มหมด  ผู้เขียนจึงชักชวนเพื่อนแม่ใหม่ที่พักในห้องเดียวกันส่วนหนึ่งย้ายออกไปนอนแทรกตามห้องต่างๆ เพื่อให้แม่พี่เลี้ยงเข้าพัก 
            การเสียสละครั้งนี้ ทำให้เพื่อนแม่ใหม่ต้องย้ายไปนอนแทรกในห้องต่างๆ มีที่นอนบ้างไม่มีที่นอนบ้าง แต่เราก็อิ่มใจที่ได้เสียสละที่พักอาศัยให้แม่พี่เลี้ยง ซึ่งนับว่าเป็นครูบาอาจารย์ที่ดูแลเรามาตลอดการจาริก
            ตรงนี้ ใจมันต่างจากเมื่อก่อนที่เคยไปวัดในช่วงเทศกาล คนมาปฏิบัติธรรมมาก ผู้เขียนเห็นจิตตัวเองมันดิ้นรน ด้วยมันรักตัวเอง ห่วงตัวเอง ว่าจะได้มีที่นอนไหม คอยพะวงว่าจะจับจองนอนตรงไหน พอมาคราวนี้ทราบได้เลยว่า เราปล่อยวางในเรื่องการยึดติดในความสะดวกสบาย ใจมันบอกว่า นอนไหนก็ได้ เดี๋ยวก็เช้าแล้ว ขอให้แม่พี่เลี้ยงผู้มีพระคุณ ได้มีที่นอนเถอะ
          การถวายห้องน้ำหญิงให้กับพระสงฆ์ใช้ปลดทุกข์
          ในการจาริกแสวงบุญของกองทัพธรรม ส่วนใหญ่พระสงฆ์สองร้อยกว่ารูป จะจำวัดที่วัดไทยในเมืองต่างๆ มากกว่าการพักในโรงแรม ด้วยจำนวนที่มาก และการเดินทางจาริกฯที่ต่างๆ ทำให้ท่านไม่สะดวกในการเข้าห้องน้ำ และห้องน้ำไม่เพียงพอ แม่ๆจึงถวายห้องน้ำหญิงและห้องน้ำในห้องพักให้ท่านเข้าใช้ปลดทุกข์ ซึ่งนับว่าเราได้ถวายให้ท่านได้รับความสะดวกสบาย การถวายนี้ตอนแรกๆใจมันยังหวงยังตระหนี่เป็นเครื่องกั้น เมื่อเราเห็นความตระหนี่การยึดนี้แล้ว แต่เราไม่ยอมตามมัน มันก็คลายความยึดมั่นถือมั่นปราศจากการยึดมั่นถือมันว่านี่คือห้องน้ำหญิง ห้องน้ำของเรา กลับมาถวายให้ท่านใช้ด้วยความอิ่มใจ
          การเพ่งโทษผู้อื่น
          การถือตน หรือมานะนี้ น่ากลัวมาก ด้วยว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติมาได้สักระยะหนึ่ง มักเผลอส่งจิตออกนอกไปเพ่งโทษ ไปวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น  อย่างสำรวมก็ปรุงเป็นความรู้สึกนึกคิด  ถ้าเผลอหรือสติไม่พอก็อาจพูดออกมาเป็นคำพูด สิ่งนี้นับว่าอันตรายมาก ดังได้กล่าวแล้วว่า สภาวธรรมหรือภูมิธรรมของแต่ละคนนี้จะดูกันที่ภายนอกไม่ได้ และการส่งจิตออกนอกไปยุ่งกับเรื่องภายนอกต่างๆเหล่านี้ ล้วนแต่ทำให้เราเนิ่นช้า
          กิเลส แปลว่า เครื่องทำใจให้เศร้าหมอง การที่เรามีสติมาระลึกรู้กาย จะทำให้เราเห็นกายขยับเคลื่อนไหว เห็นเป็นความรู้ตัว เมื่อรู้กายนี้ได้ มันก็จะเห็นสิ่งต่างๆที่เกิดกับกาย เห็นบ่อยๆ ลืมก็เอาใหม่ กันทั้งวัน เมื่อเห็นกาย เราก็จะเห็นลมหายใจโดยอัตโนมัติ ลมหายใจเข้าออก นี้มีอาการต่างๆ เวลาโกรธ ลมก็จะแน่น หนัก หยาบ เวลามีกุศลในจิต มีปีติ มีความสุข ลมเขาจะละเอียดควรแก่การงานเข้าสู่ภายในได้  เมื่อน้อมเข้ามาระลึกรู้ลมหายใจได้แล้ว ลมหายใจเขาจะค่อยๆเคลียร์ ค่อยๆชำระกิเลสไปเรื่อยๆ จนภายในผ่องใสไม่มีเครื่องกั้น
          จิต กับ ใจนี้เป็นตัวเดียวกัน แต่ต่างกันที่ จิต ยังมีการปรุงแต่ง ใจปราศจากการปรุงแต่ง มันจะพลิกกลับไปมา อยู่ที่ว่าเราจะเอากับการปรุงแต่ง จนเกิดเวทนาหรือไม่ ถ้าเราอยู่ที่ฟากของใจ อยู่ที่ความรู้ตัวทั้งภายนอกและภายใน มันจะเชื่อมเข้าหากันจนเป็นสติระลึกรู้กายและใจในคราวเดียวกัน ตรงนี้มันต้องใช้กำลังที่จะให้อยู่กับใจ ไม่ไปอยู่กับจิต หรืออยู่กับสิ่งที่เคลื่อน กำลังที่ว่านี้ คือ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ รวมถึงเครื่องมืออื่นๆได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ พรหมวิหาร ๔ ฯลฯ รวมถึงการสร้างบารมี เพราะทาน หรือการทำบุญอย่างเดียว ไม่มีกำลังพอที่เราจะตัด บารมี ๑๐ ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมีและ อุเบกขาบารมี
          การสร้างบารมีนี้จะช่วยให้พื้นที่ในใจของเราปราศจากเครื่องกั้น คือ กิเลส ใจของเราจึงเป็นปกติ ปราศจากสิ่งเศร้าหมองและเครื่องกั้น  มันจึงผ่องใสขึ้นตามลำดับ จะเห็นว่า การบวชในครั้งนี้ ภายนอกคือสมมุติ ได้แก่ บวชกาย ภายใน คือ บวชใจ  เป็นการบำเพ็ญบารมีของเราอย่างหนึ่ง ตามสติปัญญาและกำลังของแต่ละท่าน สำหรับผู้เขียนแล้วยังเห็นว่าเรายังไม่ปลอดภัย เรายังประมาทไม่ได้แม้แต่นิดเดียว ด้วยว่าของเราเองยังมีสิ่งที่ต้องชำระอีกมาก และกำลังของเราก็ยังไม่พอ ยังต้องเพียรต่อไปตามแนวทางที่พระพุทธองค์ได้วางไว้ ตามพระธรรมคำสั่งสอนของท่าน และตามที่ครูบาอาจารย์เมตตาแนะนำสั่งสอน ไม่ให้หลงทาง ไม่ให้อวิชชาครอบงำได้ ดังนั้นการยอมรับความจริง ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความกตัญญู จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ป้องกันเราจากความหลงนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น